มะหวด

(Ma huat)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepisanthes rubiginosa (Roxb.) Leenh.
ชื่อวงศ์ SAPINDACEAE
ชื่ออื่น กำชำ กำซำ หมากหวด
ถิ่นกำเนิด จีนตอนใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-10 ม. ขนาด ทรงพุ่ม 5-10 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม หรือรูปไข่ เปลือกต้นสีน้ำตาล เข้ม หรือสีน้ำตาลแดง แตกสะเก็ดและหลุดล่อนเป็นแผ่นบาง


ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียนสลับ แกนกลางใบ ประกอบยาว 10-30 ซม. ใบย่อย 3-6 คู่ เรียงแบบตรงกันข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 3-5 ซม. ยาว 7-12 ซม. ปลายใบติ่งแหลม โคนใบสอบและเบี้ยว แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว และย่นเป็นลอน สีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่า มีขนนุ่มปกคลุม ใบอ่อนสีนํ้าตาลอมเขียว
ดอก สีขาว ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง และปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 30-50 ซม. ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปครึ่งวงกลม กลีบนอก 2 กลีบ เล็กกว่ากลีบใน กลีบดอก 5 กลีบ โคนแคบมีขนและมีเกล็ดเล็กๆ เกสรเพศผู้ 8 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.8-1 ซม. ออกดอกเดือน ก.พ.-มี.ค.


ผล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ทรงกลมค่อนข้างยาว ปลายมน กว้าง 0.5-1 ซม. ยาว 1.5-2 ซม. สีเขียว เมื่อสุกสีส้มแดงและม่วงอมดำ ผิวเกลี้ยงเปลือกและเนื้อบาง เมล็ดกลมรี สีน้ำตาลอ่อนเป็นมัน ติดผลเดือน เม.ย.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและใช้เมล็ดสด
นิเวศวิทยา พบตามที่ราบชายป่าดิบและพื้นที่โล่งแจ้ง
การใช้ประโยชน์ ผลสุก มีรสจืดฝาดถึงหวาน รับประทานเป็นผลไม้ แก้ท้องร่วง
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ราก ต้มน้ำดื่ม แก้เมาเบื่อ แก้พิษร้อน วัณโรค เมล็ด รสฝาดต้มดื่มแก้ไข้ซาง แก้ไอกรน
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย