มะหาด

(Ma Hat)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus lakoocha Roxb.
ชื่อวงศ์ M0RACEAE
ชื่ออื่น หาด มะหาดใบใหญ่
ถิ่นกำเนิด อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-25 ม. ขนาดทรงพุ่ม 10-12 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นขรุขระ เป็นปุ่มปมสีนํ้าตาลอมดำหลุดล่อนเป็นเกล็ดและยางไหลซึมแห้งติดต้น


ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง 5-12 ซม. ยาว 10-25 ซม. ปลายใบมนเว้า โคนใบเบี้ยว ขอบเป็นจักฟันเลื่อยเล็กๆ และเป็นคลื่น แผ่นใบหนาและเหนียว ย่นเป็นลอน สีเขียวเข้มเป็นมัน ผิวใบด้านล่างสีเขียวอมเทามีขนประปรายใบอ่อนมีขนสีนํ้าตาลแดงหนาแน่น ก้านใบยาว 2-4 ซม.
ดอก สีเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่น ฝังตัวอยู่บนฐาน รองดอกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ ดอกแยกเพศร่วมต้น ดอกเพศผู้กลีบดอกค่อนข้างกลมมน โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ออกเป็นช่อเดี่ยวช่วงล่าง ถัดจากดอกเพศเมีย เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอก 0.8-1.5 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก ช่อดอกเพศเมีย รูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง 0.8-1.2 ซม. ยาว 1.2-2.3 ซม. ปลายกลีบดอกหยัก ออกดอกเดือน ก.พ.-เม.ย.


ผล ผลสดแบบมีเนื้อ เป็นผลรวมทรงกลมแป้น ขนาด 6-8 ซม. เปลือกนอกขรุขระสีเขียวอมเหลือง เมื่อสุกสีน้ำตาลอมเหลือง เนื้อฉ้ำน้ำ เมล็ดรูปขอบขนาน สีน้ำตาลอ่อน 1 เมล็ดต่อผลย่อย ติดผลเดือน มี.ค.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง
นิเวศวิทยา พบตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณทั่วไป
การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้ เนื้อหยาบ แข็ง เหนียว และทนทาน ใช้ทำเสาหมอนรางรถไฟ สะพาน ไม้พื้น เสากระโดงเรือ ด้ามเครื่องมือ การเกษตร ทำหูกทอผ้า รวมทั้งเครื่องดนตรี
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร แก่นไม้สด นำมาหั่นเคี่ยว แล้วนำ มาตากให้แห้ง บดเป็นผงชงกินกับน้ำเย็น เป็นยาขับพยาธิตัวตืด และ พยาธิไส้เดือน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ โรคกษัย เบื่ออาหาร แก้ลม ขับโลหิต และปัสสาวะกะปริบกะปรอย ราก แก้ไข้ ขับพิษร้อนใน เปลือกต้น ใช้เปลือกสด สมานทาขับพยาธิ
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย