มะเกี๋ยง

(Makiang)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium paniala Roxb.
ชื่อวงศ์ MYRTACEAE
ชื่ออื่น หว้า
ถิ่นกำเนิด อินเดียและบังกลาเทศ
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 8-12 ม. ผลัดใบระยะสั้น ทรงพุ่มค่อนข้างกลมหรือ ทรงกระบอก กิ่งเป็นสันโค้งรูปทรงกระบอก เปลือกต้นสีเทาหรือสีน้ำตาล อมเทา ค่อนข้างเรียบ แตกหลุดล่อนเป็นแผ่นบาง


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกหรือรูปมนรี กว้าง 8-12 ซม. ยาว 20-30 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบเกลี้ยง ค่อนข้างหนาและเหนียว สีเขียวเรียบเกลี้ยง ใบอ่อนสีน้ำตาลแดงอมเขียว ก้านใบยาว 1.5-3 ซม.
ดอก สีเหลืองนวล ออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนงที่ด้านข้างของกิ่ง ช่อดอกยาว 10-14 ซม. ดอกย่อย 30-40 ดอก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียวอ่อนเชื่อมติดกับฐานรองดอกรูปกรวย กลีบดอก 4 กลีบ รูปซ้อน เกสรเพศผู้สีเหลืองนวลจำนวนมากเส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1.4-2 ซม. ออกดอกเดือน ก.พ.-พ.ค.


ผล ผลสดแบบมีเนื้อนุ่มเมล็ดเดียว รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 0.9-1.2 ซม. ยาว 1.5-1.8 ซม. สีเขียว เมื่อสุกสีแดงถึงม่วงแดง หรือ ม่วงดำ รสเปรี้ยวอมฝาด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เมล็ดมีเนื้อนุ่มห่อหุ้ม เมล็ดรูปรี สีน้ำตาลอ่อน ติดผลเดือน เม.ย.-ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่งหรือปกชำกิ่ง
นิเวศวิทยา ปลูกเลี้ยงในเขตภาคเหนือตอนบน
การใช้ประโยชน์ ในท้องถิ่นนิยมบริโภคทั้งรูปผลสด และผลดอง ผลมะเกี๋ยงสุกทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้หลายชนิดเช่น ไวน์ น้ำผลไม้ แยม และเนคต้า มีรสชาติดี สีแดงสวย
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย