มะเขือพวง:ลำต้นกินแก้เมาหรือทำให้เหล้ามีรสจืดลง

มะเขือพวง(Common Asiatic Weed)

พืชผักที่เป็นอาหารมานานของไทยและมีคุณสมบัติพิเศษที่เมื่อกินไปแล้วเวลากินน้ำหรือกินเหล้าจะทำให้น้ำเหล้าที่มีรสขมจะกลับเปลี่ยนเป็นรสหวาน หรือจืดจางลง นั่นคือ มะเขือพวง ส่วนที่นำไปใช้เป็นอาหารคือส่วนที่เป็นผล ใช้กินสด ลวกน้ำร้อนจิ้มกับน้ำพริกก็อร่ย หรือเป็นส่วนประกอบของอาหารมากมาย เช่น แกงเขียวหวาน แกงเผ็ดต่าง ๆ อื่น ๆ อีกมากมาย

มะเขือพวงจัดอยู่ในตระกูล SOLANACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Solanum lorvum Sw.  เป็นพืชผักที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถวบ้านเรานี่เอง เช่น ไทย พม่า อินเดียและอีกหลาย ๆ ประเทศ และมีชื่อเรียกกันตามภาคต่าง ๆ ดังนี้ มะเขือพวง (ภาคกลาง) มะเขือละคร หมากแค้ว (ภาคอีสาน) มะแคว้งกูอา (ภาคเหนือ) มะแว้ง มะแว้งช้าง (ภาคใต้) จะเคาะค่ะ (มาลายู) ลักษณะโดยทั่วไป

มะเขือพวงปลูกได้ในดินแทบทุกชนิดดินที่มีความเป็นกรดเล็กน้อย pH ประมาณ 5.5-6.8 ปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ต้องการแสงแดดเต็มที่ แต่บางครั้งก็ขึ้นได้ดีในที่ร่มรำไร พื้นที่ไม่แห้งไม่แฉะจนเกินไป ปลูกได้ตลอดปี เป็นไม้พุ่มเล็ก สูงประมาณ 2 เมตร มีหนามสั้น  ๆ ตามลำต้น กิ่ง การแตกกิ่งทรงพุ่มกระจายออกทุกทิศ ลักษณะใบ ปลายใบแหลม ริมขอบใบเป็นหยัก กว้าง ตื้น ใบยาวประมาณ 4-5 นิ้ว ใบมีขนสั้นปกคลุม ดอก มีสีขาวออกเป็นพวงตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผล เป็นผลเล็ก ๆ เป็นพวงมีสีเขียวผลแก่จะเป็นสีเหลือง เมล็ดมีขนาดเล็กมีลักษณะกลมแบนมีมากมายในหนึ่งผล

พันธุ์ที่ใช้ปลูกโดยทั่วไปใช้พันธุ์พื้นเมืองในแต่ละพื่นที่ใช้เมล็ดในการขยายพันธุ์หรือจะขยายพันธุ์โดยการขุดเอาต้นอ่อนที่แตกออกมาจากรากบริเวณโคนต้นแล้วนำมาปลูกขยายพันธุ์ก็ได้ สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี

การเตรียมแปลงปลูก

ให้ขุดหรือไถดินให้ลึกประมาณ 15-20 ซม. แล้วตากดินไว้ 5-7 วัน ให้ใส่ปุ๋ยคอกแห้งหรือปุ๋ยหมักชีวภาพที่เป็นแล้วผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดีหรือถ้าจะยกเป็นแปลง ๆ ก็ได้แล้วแต่สะดวก พูดถึงการปลูกมะเขือพวงโดยทั่วไป นิยมเพาะกล้าก่อนแล้วจึงถอนแยกปลูกเป็นหลุม แต่ถ้าจะให้สะดวกเราก็สามารถปลูกแบบหยอดหลุม ๆ ละ 2-3 เมล็ด ระยะห่างระหว่างต้นระหว่างแถวประมาณ 2-3×3 เมตร กลบด้วยหน้าดินบาง ๆ คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งพอประมาณ รดน้ำตามให้ชุ่มเมื่อต้นมะเขือพวงงอกและมีอายุ 25-30 วัน หรือมีความสูงประมาณ 10-15 ซม. ก็สามารถถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ออกให้เหลือเพียงต้นที่สมบูรณ์เพียงต้นเดียวได้

การดูแลรักษา

ข้อสำคัญ คือ ต้นมะเขือพวงมีทรงพุ่มที่กว้างพอสมควรจึงจำเป็นต้องให้ระยะห่างระหว่างแถวห่างไว้เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาและการเก็บผลผลิต ต้นมะเขือพวงเมื่อได้รับแสงแดดสม่ำเสมอเต็มที่ โรคแมลงก็จะรบกวนน้อย โดยส่วนมากแมลงที่มักจะรบกวนก็จะเป็นพวกเพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ที่ชอบมาเกาะดูดกินน้ำเลี้ยงต้นมะเขือพวง เวลาติดดอกออกผลการป้องกันแก้ปัญหาก็ไม่ยาก เพียงแต่เราทำให้บริเวณโคนต้นหรือทรงพุ่มของมะเขือพวงสะอาด ปราศจากวัชพืชขึ้นรกและไม่มีพวกมดไฟ ซึ่งเป็นพาหะพาเพลี้ยมาทำลายต้นมะเขือพวงก็ลดการรบกวนได้แล้ว

ควรให้น้ำอย่างพอเพียงและสม่ำเสมอ การใส่ปุ๋ยบำรุงการเจริญเติบโตของมะเขือพวง ให้ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ที่มีส่วนประกอบของขี้เถ้าขาวด้วยจะดีมากเพราะมะเขือพวงต้องการธาตุโปรแตสเซียมมากกว่าธาตุอื่น โดยระยะแรกของการใส่ในอัตรา 100 กก./ไร่ โดยใส่ครั้งแรกช่วงการเตรียมดินเตรียมหลุมปลูก ใส่ 50 กก. และใส่ครั้งที่ 2 ช่วงอายุหลังการถอนแยกแล้ว 45 วัน ของการเจริญเติบโตของมะเขือพวง การใส่ให้โรยข้างลำต้นแล้วจึงพรวนดินกลบ หมั่นดูดแลกำจัดวัชพืชและพรวนดินเพื่อให้เกิดดินร่วนซุย และทางที่ดีควรคลุมด้วยหญ้าแห้งหรือฟางแห้ง จะดีมากจะช่วยให้วัชพืชไม่ค่อยมี เกิดน้อย ดินมีความชุ่มชื้นไม่ร้อนจัดการเจริญเติบโตจะดีมาก ถ้าพรวนดินกำจัดวัชพืชบ่อย ๆก็จะทำให้ความกระทบกระเทือนต่อระบบรากของมะเขือพวงจะทำให้เกิดการชงักการเจริญเติบโตได้

การเก็บเกี่ยว

เมื่อผลมะเขือพวงออกและโตเต็มที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปก็สามารถเก็บรับประทานได้ตลอด เพราะมะเขือพวงจะค่อย ๆ ทยอยออกเราก็ทยอยเก็บมารับประทานได้นานเป็นปี ๆ ทีเดียว

คุณสมบัติของมะเขือพวงที่ได้ทางยา

ลำต้นกินแก้เมาหรือทำให้เหล้ามีรสจืดลง กินประจำจะทำให้ช่วยแก้โรคเบาหวานได้ ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปวดฟกช้ำ ทำให้เลือดหมุนเวียนดี ใบสด ตำพอกแผลห้ามเลือด เมล็ดนำมาเผาไฟเอาควันสูดดมแก้ปวดฟัน รากสดตำพอกเท้าที่แตกเป็นแผลยิ่งช่วงหน้าหนาวหรือช่วงหน้าทำนา ตีน(เท้า)สาว ๆ ชอบแตก รากมะเขือพวงช่วยได้ดีนักแล