มะเขือม่วง(Purple Eggplant)


ลักษณะทั่วไป
ปลูกง่ายมาก ใช้เวลาค่อนข้างนานก่อนจะเก็บเกี่ยว การดูแลรักษาไม่ยุ่งยากและถ้าปฏิบัติสม่ำเสมอ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เป็นระยะเวลานาน เหมาะสำหรับปลูกเป็นพืชแซมพืชผักอื่น มีปัญหาศัตรูพืชและโรคพืชน้อย ปลูกได้ตลอดปี ทนแล้งได้ และเหมาะที่จะส่งเสริมในบริเวณขาดแคลนน้ำ
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ Black King
ฤดูปลูก ตลอดปี
ระดับความสูง 500-800 เมตร
ความเป็นกรดด่างของดิน 5.5-6.5
ชนิดของดิน ร่วนปนทราย
ระยะปลูก(ต้นxแถว)    70×80 ซม. (2 แถว/ร่องแปลง)
จำนวนต้น 142 ต้น/100 ตร.ม.
ความกว้างของแปลง 1.20 เมตร
ระยะห่างของแปลง 50 ซม.
การเตรียมกล้า
ระยะปลูก(ต้นxแถว)    2×10 ซม.
จำนวนต้น 50 ต้น/ตร.ม.(กล้าเสีย 50%) เพียงพอสำหรับการย้ายปลูกในพื้นที่ 35 ตร.ม.
ความกว้างของแปลงกล้า 1 เมตร
ระยะเวลาเจริญเติบโตเต็มที่ เก็บเกี่ยวได้หลังอายุ 80-90 วัน
ข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


หมายเหตุ ข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทนและราคา เป็นข้อมูลในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นทุนผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)
การผลิต
คล้ายคลึงกับการปลูกมะเขือเทศ มันฝรั่ง และพริกหวาน ผลผลิตในฤดูร้อนต่ำกว่าฤดูอื่น เนื่องจากปัญหาแมลงและอาจเกิดจากปัญหาการขาดน้ำ แม้ว่าจะเป็นพืชทนแล้งก็ตาม
ผลผลิต
ระหว่าง 400-450 กก. ทั้งฤดูหนาวและฤดูฝน เป็นเกรด A ประมาณ 70-80%
ราคาขายของเกษตรกร
ราคาค่อนข้างคงที่ ถ้าปริมาณออกสู่ตลาดไม่มากหรือน้อยเกินไป ประมาณ 4-5 บาท/กก.
ต้นทุนปัจจัยการผลิต
การใช้สารเคมีค่อนข้างต่ำ แม้อายุพืชจะยาว ส่วนใหญ่เป็นค่าปุ๋ย ต้นทุนต่ำเทียบกับรายได้
ผลตอบแทน ไม่ควรมีการขาดทุน
สำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม
เนื่องจากอายุพืชยาวนาน ต้องการความเอาใจใส่ดูแลบ้างเล็กน้อย จึงเหมาะแก่เกษตรกรที่ปลูกพืชอื่นที่ต้องการความเอาใจใส่ดูแลมากในช่วงระยะเวลาเดียวกัน สิ่งสำคัญ ได้แก่ การปลิดดอกแรกทิ้ง เพื่อให้คุณภาพผลผลิตสูง หลังการเก็บเกี่ยวรุ่นแรกแล้วไม่มีความต้องการดูแลรักษาพืชเป็นพิเศษ
การตลาด
ในปัจจุบันตลาดยังค่อนข้างจำกัด ต้องแข่งขันอย่างมากกับมะเขือพันธุ์ดั้งเดิม ราคาขึ้นอยู่กับปริมาณออกสู่ตลาด เฉลี่ย 4-7 บาท/กก. และราคาที่ตลาดกรุงเทพฯ จะสูงกว่านี้
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค
ศัตรูพืช
มด ขนย้ายเมล็ดพันธุ์ ป้องกันโดยใช้ คูมิฟอส (Kumiphos), เซฟวิน 85 (Sevin 85) หรือ ลอร์สแบน (Lorsban)
เพลี้ยไฟ เข้าทำลายตลอดช่วงการปลูกในฤดูร้อน ป้องกันโดยใช้ เมซูโรล(Mesurol) พอส์ส (Posse) หรือ ออร์ธีน (Orthene)
หนอนเจาะ(American Boll Worm) เจาะผลเป็นรูและเป็นพาหะแพร่เชื้อโรค ทำลายตั้งแต่ช่วงติดดอกถึงเก็บเกี่ยว วิธีป้องกันแก้ไข ใช้สารเคมีฆ่าแมลงประเภทสารสังเคราะห์เช่น แอมบุช(Ambush) คาราเต (Karate) สลับกับประเภทชีวินทรีย์ เช่น ธูรีไซด์(Thuricude) อโกรน่า(Agrona) และแบคโทสปิน (Bactospine)
โรค
โรคเน่าคอดิน (Damping Off) เกิดระยะต้นกล้า ป้องกันแก้ไขโดยใช้คูปราวิท(Cuprvit) แคปแทน (Captan) หรือ โคแมค(Comac)
ราแป้ง (Powdery Mildew) ทำลายตลอดระยะการเจริญเติบโต ใช้เบนเลท(Benlate) หรือ อาฟูกาน (Afugan) สลับกับ คาราเทน (Karathane)
โรครากเน่า หรือ โคนเน่า (Root or Foot Rot) ทำให้ต้นเหี่ยว ทำลายตลอดระยะการเจริญเติบโต ใช้โคแมค ป้องกันแก้ไข
โรคใบจุด (Leaf Spot) พบตั้งแต่ช่วงติดดอกถึงให้ผล ป้องกันแก้ไขโดยใช้ แอนทราโคล (Antracol) หรือ ไดเทน เอ็ม 45 (Dithane M 45) ตามความจำเป็น
ปัจจัยที่ต้องการ(ต่อพื้นที่ปลูก 1 ตร.ม.)


การใช้แรงงาน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


*ข้อมูลแรงงานและระยะเวลาได้จากข้อมูลสนาม
ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงเตรียมกล้า
ขุดพลิกดิน ขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร คลุกปุ่ยคอกและปุ๋ย 15-15-15 ลงในดิน ปรับหน้าแปลงให้เรียบ ขีดร่องขวางแปลงลึก 0.5-1 ซม. ห่างกัน 10 ซม. หยอดเมล็ดตามร่องให้ห่างกัน 2 ซม. กลบดินบางๆ แล้วรดน้ำ ราดยาเทอราคลอร์ ป้องกันโรคเน่าคอดิน (Damping Off) เมื่อมีใบจริง 2-4 ใบ พ่น เซฟวิน 85 ป้องกันแมลงเข้าทำลาย เมื่ออายุกล้า 20 วัน ใช้ปุ๋ย 46-0-0 ผสมน้ำรด ให้น้ำทุกวัน เมื่อย้ายปลูกให้แซะต้นกล้าโดยให้มีดินติดราก
ช่วงการปลูก
ขุดดินตากแดดทิ้งไว้ 7 วัน จึงขึ้นแปลงกว้าง 1.20 เมตร ขุดหลุมปลูกลึก 15 ซม. ระยะ 80 ซม. ระหว่างแถวและ 70 ซม. ระหว่างต้น คลุกปุ๋ย 15-15-15 ขี้ไก่ ยาฟูราดาน (Furadan) และดินผสมกันใส่ให้เต็มหลุม ย้ายปลูกแล้วรดน้ำ
ข้อควรระวัง
ถ้าปลูกถี่เกินไป ทำให้ลำบากในการเข้าไปดูแลรักษาและเก็บเกี่ยว อาจทำให้ต้นล้มเสียหาย (แม้อาจได้ผลผลิตต่อพื้นที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย)
ช่วงดูแลรักษา
หลังปลูก 7-10 วัน ใส่ปุ๋ย 46-0-0 หลังเก็บเกี่ยวเก็บครั้งแรก 1 เดือน ใส่ปุ๋ย 13-13-21 แล้วสลับกับ 46-0-0 ครั้งละเดือน ก่อนใส่ปุ๋ยกำจัดวัชพืชเสีย ขีดร่องห่าง 10 ซม.รอบต้น โรยปุ๋ยกลบดินแล้วรดน้ำ เมื่อพืชเริ่มมีดอกแรกหรือแตกกิ่งออกเป็น 2 กิ่ง ทำค้างสูง 1-1.5 เมตร เพื่อป้องกันต้นล้ม ควรเด็ดดอกแรกทิ้งเพื่อให้ต้นสมบูรณ์ในช่วงต่อไป เพื่อให้ติดดอกมาและเก็บเกี่ยวได้เป็นเวลานาน ตัดแต่งกิ่งแตกออกใหม่จากข้างลำต้น เพื่อป้องกันกิ่งหักเสียหาย ฉีดพ่นสารเคมีตามความจำเป็น ผสมอาหารเสริมพวก โทน่า (Tona) กับยาฆ่าแมลงและโรคพืชทุกครั้งที่ทำการฉีดพ่นยา 1 หรือ 2 สัปดาห์ 1 ครั้ง รดน้ำทุก 3 วัน
ข้อควรระวัง
เกษตรกรไม่นิยมเด็ดดอกแรก หรือทำค้าง ทำให้ผลผลิตต่ำ นอกจากนั้น ยังไม่ตัดแต่งกิ่งแขนงข้างลำต้น ทำให้ต้นหักเสียหายง่าย
ช่วงเก็บเกี่ยว
เก็บเกี่ยวเมื่อผลมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 ซมง และผลมีสีเข้มใช้มีดหรือกรรไกรตัดตรงขั้ว อย่าเหลือขั้วยาว เก็บเกี่ยวและบรรจุลงเข่งในวันเดียวกับที่จะขนส่งไปตลาด ไม่ควรบรรจุแน่นเกินไป ทำให้ผลช้ำเสียหาย
ข้อควรระวัง
1. ถ้าเก็บเกี่ยวโดยใช้มือดึง อาจทำให้ลำต้นฉีกขาดหรือหักล้มได้และการตัดไว้ขั้วยาวเกินไป อาจกระทบผลอื่นเป็นแผลเสียหายได้
2. การปฏิบัติดูแลรักษาที่ดี (ตัดแต่งกิ่ง ฉีดพ่นยาและใส่ปุ๋ย) ช่วยให้สามารถเก็บเกี่ยวได้เป็นระยะเวลา 4-6 เดือน และอาจนานถึง 12 เดือน ตรวจสอบระดับราคาและปริมาณผลผลิตที่จะเก็บเกี่ยวได้ต่อไป เพื่อพิจารณาว่าจะบำรุงรักษาต้นเพื่อเก็บเกี่ยวต่อไปหรือไม่
ที่มา: ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่