มะเขือเทศ:สภาพที่เหมาะสมในการปลูก

มะเขือเทศจัดเป็นพืชตระกูลพริก มะเขือที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ พืชหนึ่ง มีผู้นิยมบริโภคกันแพร่หลายทั้งในรูปผลสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ เช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ เป็นต้น

นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่ามะเขือเทศมีแหล่งกำเนิดอยู่บริเวณอเมริกาใต้ ส่วนจะเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อไหร่นั้นไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด ในปัจจุบันมะเขือเทศ มีมากกว่า 1,000 ชนิด มีตั้งแต่ผลขนาดใหญ่จนถึงผลเล็กจิ๋ว ส่วนสีก็ตั้งแต่สีส้มไปจนถึงสีแดงเข้มจัด

มะเขือเทศส่วนใหญ่จะได้รับการปรับปรุงพันธุ์ในประเทศอบอุ่น เพราะฉะนั้นเมื่อนำพันธุ์มะเขือเทศเข้ามาปลูกในบ้านเราจึงปลูกได้ดี ให้ผลผลิตสูงเฉพาะในฤดูหนาว ส่วนฤดูหนาวและฤดูฝน มะเขือเทศจะไม่ค่อยเจริญเติบโต ให้ผลผลิตต่ำ และมักมีโรคและแมลงรบกวนมาก

สภาพที่เหมาะสม

มะเขือเทศปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมที่สุดคือดินร่วน ที่มีอินทรีย์วัตถุสูงและระบายน้ำได้ดี มี pH ประมาณ 6-6.8 มีความชื้นในดินพอเหมาะ น้ำไม่ขังแฉะ และต้องการแสงแดดเต็มที่ตลอดวัน อุณหภูมิที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วง

18-24 °C ซึ่งตรงกับฤดูหนาวในประเทศไทย

ชนิดและพันธุ์

มะเขือเทศที่ปลูกในบ้านเราจำแนกตามการใช้ประโยชน์ได้ 2 ลักษณะคือ

1.พวกที่ใช้รับประทานสด มะเขือเทศชนิดนี้มีทั้งแบบผลเล็กและผลโต แบบผลเล็กนิยมที่มีสีชมพูมากกว่าสีแดง แบบผลโตมักมีผลทรงกลมคล้ายแอปเปิ้ล ผลสีเขียว มีไหล่เขียว เมื่อสุกจะสีแดงจัด เนื้อหนาแข็ง เปลือกไม่เหนียว มีจำนวนช่องในผลมากและไม่กลวง พันธุ์ที่ใช้รับประทานสดมีหลายพันธุ์ด้วยกัน เช่น พันธุ์สีดา, ฟลอราเดล, มาสเตอร์เบอร์ 3,วอลเตอร์,มาโกลบ,คาลิปโซ,สีดาห้างฉัตร,สีดามก, แอล 22,วีเอฟ-134-1-2 ฯลฯ

-พันธุ์สีดา พันธุ์นี้มีอายุเก็บเกี่ยว 74 วัน ลักษณะผลกลมและรูปพลัม ผลมีสีแดงส้ม ทรงต้นค่อนข้างสูง แตกกิ่งก้านมาก ผลดก

-พันธุ์สีดา มก. (Porter KU.) อายุเก็บเกี่ยว 74 วัน พันธุ์นี้มีลักษณะ ผลเล็ก รูปพลัม ผิวของผลแข็งเนื้อมาก สีผลออกชมพู ทรงต้นค่อนข้างสูง กิ่งก้านใหญ่ และใยมาก มีการเจริญเติบโตค่อนข้างดีในสภาพภูมิอากาศและดินต่าง ๆ ทนทานต่ออุณหภูมิสูง และต้านทานโรคทางใบได้ดี แต่ไม่ต้านทานโรคใบเหี่ยวเฉา

-พันธุ์สีดาห้างฉัตร พันธุ์นี้มีอายุเก็บเกี่ยว 75 วัน ลักษณะผลเป็นรูปไข่ ผลอ่อนมีสีขาว และจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูจนถึงสีแดงเมื่อแก่จัด มีการเจริญเติบโต และแตกกิ่งแขนงเป็นทรงพุ่มใหญ่

-พันธุ์เอสวีอาร์ดีซี-4 (SVRDC-4) พันธุ์นี้มีอายุเก็บเกี่ยว 76 วัน ลักษณะผลเล็กนิ่มเป็นรูปพลัม ผิวเปลือกบาง ติดผลดก ให้ผลผลิตสูง ทรงต้นเป็นพุ่มกว้าง มีกิ่งก้านแข็งแรง เหมาะที่จะปลูกได้ในทุกสภาพแวดล้อมและเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างทนร้อนทนฝน ต้านทานโรคโคนเน่าและโรคเหี่ยวเฉาได้ดี

-พันธุ์เเอล 22 (L 22) อายุเก็บเกี่ยว 74 วัน ลักษณะผลเป็นรูปพลัม ผิวเปลือกบาง แตกง่าย ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกสีแดงปนส้ม ผลดก ทรงต้นเป็นพุ่ม มีการเจริญเติบโตสม่ำเสมอดี ต้านทานโรคเหี่ยวเฉา โรคเน่า และโรคทางใบได้ดี ปลูกได้ในทุกสภาพแวดล้อม ให้ผลผลิตสูง และค่อนข้างทนร้อนกว่าพันธุ์อื่น ๆ

2.พวกที่ส่งโรงงาน มะเขือเทศชนิดนี้จะมีคุณสมบัติคล้าย ๆ กันคือ เป็นพันธุ์ที่สุกพร้อมกันเป็นส่วนใหญ่ ขั้วผลสุกมีสีแดงจัดตลอดผล ไส้กลางผลสั้นเล็ก และไม่แข็ง ผลควรจะแน่น แข็ง เปลือกหนาและเหนียว เพื่อจะได้ขนส่งได้ในระยะทางไกล ๆ และเก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย มีหลายพันธุ์ด้วยกัน เช่น พันธุ์วีเอฟ 134-1 -2, โรมาวีเอฟ, ซานมาซาโน, มข.0-2,ซานมาซาโนคาล เจ,คิงคอง

-พันธุ์ มข. 0-2 อายุเก็บเกี่ยว 76 วัน ลักษณะผลรูปกลมสาลี่ ผิวแข็ง สีแดง เนื้อมากและแน่นติดผลดก ทรงต้นเป็นพุ่มกว้าง มีการเจริญเติบโตดี มีกิ่งก้านใบ มากและแข็งแรง ค่อนข้างต้านทานโรคเหี่ยวเฉาได้ดี

-พันธุ์คิงคอง (King Kong) อายุเก็บเกี่ยว 77 วัน พันธุ์นี้มีผลโต ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาว สีแดง ผิวของผลแข็ง ติดผลค่อนข้างดก ทรงต้นเป็นพุ่ม มีใบมาก ไม่ต้านทานโรคเหี่ยวเฉาและไม่ต้านทางโรคใบหด

-พันธุ์ซานมาซาโน X คาลเจ (Zanmazano X Cal-J) พันธุ์นี้มีอายุเก็บเกี่ยว 77 วัน ลักษณะผลค่อนข้างใหญ่รูปสี่เหลี่ยม ผิวเปลือกแข็งเนื้อมาก ผลสีแดงเข้ม ทรงต้นเป็นพุ่ม ปลูกได้ดีเกือบทุกสภาพแวดล้อม ค่อนข้างต้านทานโรคทางใบได้ดี แต่ไม่ต้านทานโรคเหี่ยวเฉา พันธุ์นี้นิยมทั้งบริโภคสดและส่งโรงงาน

การเตรียมดิน

ในการปลูกมะเขือเทศนั้นการเตรียมดินต้องพิถีพิถันมาก ดินควรต้องระบายน้ำได้ดี และกำจัดวัชพืชให้หมด เพราะมะเขือเทศต้องการดินที่มีการระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศได้ดี ส่วนวัชพืชนั้นนอกจากจะแย่งน้ำ อาหารและแสงแดดแล้ว ยังเป็นที่อยู่อาศัยของโรคและแมลงอีกด้วย

การเพาะกล้า

การเพาะกล้ามะเขือเทศสามารถเพาะได้ทั้งในกระบะและแปลงเพาะ ในกะบะเพาะนิยมใช้ในกรณีที่ต้องการต้นกล้าจำนวนน้อย วิธีนี้จะเพาะเมล็ดได้ผลมากเพราะสามารถอบฆ่าเชื้อในดินก่อนทำการเพาะได้ โดยใช้สารเคมีจำพวกเมธีลโบรไมด์คลอโรฟิคริน หรีอ เบอร์คิวริ คลอไรด์ อัตราส่วน 1 ส่วน ต่อน้ำ 2,000 ส่วน รดไปบนดินที่จะเพาะแล้วทิ้งไว้สัก 2 สัปดาห์ก็ทำการเพาะได้

กระบะที่ใช้เพาะเมล็ดควรมีความลึกประมาณ 10 เซนติเมตร มีรูสำหรับระบายน้ำ นำดินที่ร่อนแล้ว 3 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน ทรายหรือแกลบ 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วปรับผิวหน้าดินให้เรียบ ใช้ไม้ทาบดินให้เป็นร่องเล็ก ๆ ห่างกันประมาณร่องละ 5-7 เซนติเมตร แล้วโรยเมล็ดลงในร่อง กลบด้วยแกลบหรือทรายบาง ๆ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม เมื่อเมล็ดเริ่มงอกใช้ยากันรา เช่น แคปแทนหรือแมนเซทดี อัตรา 4 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปีบ รดให้ครั้งหนึ่ง เมื่อกล้าอายุได้ 15 วัน หรือมีใบจริง 2 ใบ ก็ย้ายลงใส่ถุงพลาสติก ขนาด 4×6 นิ้ว ที่บรรจุดินผสม เมื่อกล้าอายุประมาณ 30 วัน ก็ย้ายลงแปลงปลูกโดยกรีดถุงยางให้ขาดเพื่อไม่ให้รากกระทบกระเทือน

สำหรับการเพาะในแปลงเพาะกล้า ควรขุดไถดินให้ลึก 15-20 เซนติเมตร แล้วตากดินไว้ 5-7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคในดิน หรือจะใช้สารเคมีก็ได้ (ถ้าใช้สารเคมี ต้องทิ้งไว้นาน 2 สัปดาห์) หลังจากนั้นก็นำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วให้มากประมาณ 5-7 กก./ตารางเมตร แล้วพรวนย่อยชั้นหน้าดินให้ละเอียด โรยเมล็ดเป็นแถวลงในแปลงเพาะให้ห่างกันแถวละ 10 เซนติเมตร ลึกลงไปในดิน 1.2 เซนติเมตร โรยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก หรือดินผสมกลบทับบาง ๆ แล้วใช้ฟางหรือหญ้าที่แห้งที่สะอาด คลุมทับเพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน เมื่อกล้าอายุ 15 วัน ให้ถอนแยกต้นกล้าให้มี ระยะห่างกันต้นละ 8 เซนติเมตร กล้าอายุประมาณ 30 วัน จะโตพอที่จะย้ายไปปลูกในแปลงได้ แต่ก่อนย้าย 2-3 วัน อาจใช้โปแตสเซียมคลอไรด์ (KCL) อัตรา 1 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปีบ รดเพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรง

การย้ายกล้าควรกระทำในช่วงบ่ายหรือเย็น อากาศไม่ร้อนมากนัก ก่อนย้ายกล้า 1-2 ชั่วโมง ควรรดน้ำแปลงกล้าให้ชุ่มและพยายามให้ดินติดรากต้นกล้ามากที่สุด

การปลูก

ในแปลงปลูกควรขุดไถดินให้ลึก 25-30 เขินติเมตร ตากดินไว้ 5-7 วัน แล้วใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วประมาณ 4-5 ตัน/ไร่ คลุกเคล้าลงไปในดิน เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดินแล้วพรวนย่อยบนผิวหน้าดินให้มีขนาดเล็กลง ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับปรุงดินด้วย

ระยะปลูกที่เหมาะสมของมะเขือเทศประเภทที่ปลูกโดยไม่ใช้ค้างใช้ระยะห่างระหว่างต้นและระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 50×70 เซนติเมตร ส่วนประเภทที่ปลูกโดยใช้ค้างใช้ระยะประมาณ 30-40×70 เซนติเมตร มะเขือเทศนี้นิยมปลูกทั้งแบบแถบเดี่ยวและแถวคู่

แบบแถวเดี่ยวเหมาะสำหรับปลูกแบบไม่ใช้ค้าง ปลูกแบบในไร่ หรือนาข้าว หลังเก็บเกี่ยว

แบบแถวคู่ เหมาะกับการปลูกแบบใช้ค้าง โดยยกแปลงกว้างขนาด 1 เมตร เมื่อเตรียมกล้าและหลุมปลูกเสร็จแล้วก็ย้ายกล้าลงหลุมปลูกรดน้ำทันที และจะช่วยพรางให้ต้นกล้าด้วยใบตอง ทางมะพร้าว หรือกรวยกระดาษ ในช่วง 2-3 วัน แรก เพื่อช่วยให้ต้นกล้าตั้งตัวได้ดีขึ้น

การให้ปุ๋ย

ก่อนปลูกควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัดตรา 20 กรัม/หลุม ส่วนหลังจากนั้นก็ต้องให้ปุ๋ยเสริมตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน เช่น ถ้าเป็นดินเหนียว ควรให้ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น ปุ๋ย 12-25-12 หรือ 15-30-15 ถ้า เป็นดินร่วนควรให้ปุ๋ยที่มีโปแตสเซียมสูง เช่น 10-20-15 ส่วนดินทรายควรให้ ปุ๋ยสูตร 15-20-20, 13-13-21 หรือ 12-12-17 แต่ถ้าเป็นมะเขือเทศนอกฤดู ควรให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง

ปุ๋ยที่จะให้แก่ต้นมะเขือเทศควรให้ประมาณ 50-100 กก./ไร่ โดยดูจากความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยการแบ่งใส่ 3 ครั้ง ครั้งแรกนอกจากปุ๋ยรองก้นหลุม จะใส่หลังจากย้ายปลูก 7 วัน ครั้งที่สองหลังจากย้ายปลูก 22 วัน และครั้งสุดท้าย ใส่เมื่อย้ายปลูก 40 วัน

การให้น้ำ

มะเขือเทศต้องการน้ำสม่ำเสมอ ตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนถึงผลเริ่มแก่คือ เริ่มเปลี่ยนสี หลังจากนั้นแล้วควรลดการให้น้ำลง มิฉะนั้นจะทำให้ผลแตกได้ โดยทั่วไปนิยมให้น้ำปล่อยตามร่อง การให้น้ำมากเกินไปจะทำให้ดินชื้นและเกิดโรคง่าย

การพรวนดิน

เมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้แล้วควรพรวนดินกลบโคนต้นเพื่อเป็นการเปิดร่อง ระหว่างแถวทำให้ให้น้ำได้สะดวกและช่วยกำจัดวัชพืชไปด้วย หลังจากพรวนดินครั้งแรกไปแล้ว 1 เดือน ก็ทำการพรวนดินกลบโคนต้นอีกครั้งหนึ่ง

การปักค้าง

เมื่อปลูกมะเขือเทศพันธุ์ขึ้นค้างซึ่งเป็นพันธุ์รับประทานสด ควรทำค้างให้เมื่อต้นเริ่มเลื้อย หรืออายุได้ 8-10 วันหลังย้ายปลูก โดยปักค้างไม้ไผ่รอบปากหลุม เอนปลายเข้าหากันแล้วผูกเป็นกระโจมวางไว้พาดประมาณ 2-3 ช่วง หรืออาจจะปักไม้ค้างไว้ที่หัวแถวกับท้ายแถวแล้วใช้ลวดขึงระหว่างหัวท้าย ใช้เชือกผูกต้นมะเขือเทศ ไว้ที่ราวลวดอีกทีหนึ่งก็ได้ การทำค้างก็เพื่อให้สะดวกต่อการดูแลรักษา ฉีดยาป้องกัน แมลงได้ทั่วถึง และผลไม่เปรอะเปื้อนพื้นดิน สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยว

อายุการเก็บเกี่ยวของมะเขือเทศขึ้นอยู่กับพันธุ์โดยทั่วไปจะเก็บผลได้ เมื่อมะเขือเทศมีอายุประมาณ 70-90 วัน อายุนับจากเริ่มปลูกถึงเก็บเกี่ยวหมด ประมาณ 4-5 เดือน

การเก็บผลมะเขือเทศประเภทรับประทานสดเพื่อส่งตลาดต้องเก็บในขณะที่ผลยังไม่แก่จัด ผลเริ่มเปลี่ยนเป็นสีชมพูเรื่อ ๆ เมื่อมะเขือเทศถึงตลาดก็จะเริ่มสุกพอดี ส่วนการเก็บผลเพื่อส่งโรงงานต้องเก็บในขณะที่ผลสุกเป็นสีแดงหรือสีส้มแล้วแต่พันธุ์

และเก็บไม่ให้มีขั้วผลติดมาด้วย

การตัดแต่งกิ่ง

พันธุ์ที่ปลูกแบบขึ้นค้างส่วนมากเป็นพันธุ์ที่รับประทานผลสด ควรตัดแต่งกิ่งให้เหลือเพียง 1-2 กิ่งต่อต้น เพื่อให้ผลมีขนาดใหญ่

การเก็บเมล็ดพันธุ์

มะเขือเทศที่ไม่ใช่พันธุ์ลูกผสม ผู้ปลูกสามารถเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ได้ โดยคัดเลือกจากต้นที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลงรบกวน มีผลดกและได้คุณภาพดี ตรงตามพันธุ์ เมื่อเลือกต้นที่ต้องการได้แล้วควรทำเครื่องหมายไว้เพื่อให้สังเกตได้ง่าย แล้วปล่อยให้ผลสุกคาต้น เมื่อเก็บผลมาแล้วก็ทำการแยกเมล็ดออกจากผลโดยอาจจะใช้มีดผ่าแคะเอาเมล็ดออกมาในกรณีที่มีจำนวนน้อย แต่ถ้าต้องการเก็บเมล็ดพันธุ์ ไว้มาก ๆ ก็นำผลใส่กระสอบปุ๋ยแล้วเหยียบผลในกระสอบให้แตก หลังจากนั้นก็หมักเมล็ดไว้ 1 คืน โดยห้ามถูกน้ำเด็ดขาดมิฉะนั้นเมล็ดจะงอก รุ่งเช้าก็นำเมล็ดที่หมักไว้ไปล้างน้ำจนสะอาดแล้วนำมาผึ่งบนเสื่อหรือกระด้ง อย่าตากเมล็ดบนภาชนะโลหะหรือพื้นปูน เมล็ดอาจตายได้เพราะร้อนเกินไป เมื่อเมล็ดแห้งดีแล้วก็ขจัดสิ่งเจือปน และเศษฝุ่นผงออกให้หมด เก็บเมล็ดใส่กระป๋องหรือถุงพลาสติก แล้วนำไปเก็บไว้ในที่ ๆ มีอุณหภูมิและความชื้นต่ำ หรือเก็บไว้ในตู้เย็น

โรคและแมลงศัตรูสำคัญ

1. โรคใบแห้ง (Late blight) มะเขือเทศจะมีอาการได้ทุกส่วนของลำต้น เช่น ใบฉ่ำน้ำ เนื้อเยื่อรอบ ๆ แผลมีสีเหลือง แผลมักเกิดขึ้นที่จุดหนึ่งบนขอบใบก่อนแล้วขยายกว้างขึ้นจนเกือบหมดใบแผลจะแห้งเป็นสีน้ำตาลอย่างรวดเร็ว ตามก้านใบ ลำต้น ก็มีแผลเช่นเดียวกัน ทำให้ส่วนที่เป็นนั้นเหี่ยวแห้งตายไป ส่วนผลที่เป็นโรคจะมีแผลสีน้ำตาลเช่นกัน และทำให้ผลสุก ผิวแตก มีเชื้อราเกิดขึ้นตรงรอยแยก โรคนี้เกิดจากเชื้อราไฟทอปโธรา อินเฟสตันส์ ป้องกันกำจัดได้โดยใช้ยาไดโฟลาแทน 80 % ฉีดพ่นทุก ๆ 7 วัน และควรฉีดพ่นกันไว้ก่อนเพราะเมื่อโรคระบาดแล้วจะเสียหายรุนแรงมาก อีกวิธีหนึ่งคือ ใช้พันธุ์ที่มีความต้านทานโรคนี้ปลูก

2.โรคใบจุดต่าง ๆ โรคนี้เกิดจากเชื้อราหลายชนิด ใบที่เป็นโรคนี้จะเกิดจุดได้หลายแบบ เช่น จุดดวงกลมสีน้ำตาล และจุดเหลี่ยม ซึ่งทำให้ใบเหลือง และแห้ง มีราขึ้นเป็นผงสีดำบนจุดด้วย การป้องกันกำจัด ควรฉีดพ่นยาป้องกันและกำจัดเชื้อราเสมอ ๆ

3.โรคเหี่ยวเหลืองตาย โรคนี้เกิดจากเชื้อราฟูซาเรียมอ็อกซี่สปอรัม จะเริ่มเกิดกับใบล่าง ๆ ก่อนใบล่างจะเหลืองแล้วลุกลามขึ้นมาบนต้น เวลากลางวัน อากาศร้อนจัดต้นจะเหี่ยว พอกลางคืนก็กลับเป็นปกติ อาการเหี่ยวจะค่อย ๆ มากขึ้น จนถึงยอดเหี่ยวตาย เมื่อถอนต้นขึ้นมาดูจะเห็นโคนต้นและรากผุเปื่อย และมีราอยู่ด้วย

การป้องกันกำจัด ควรใส่อินทรีย์วัตถุให้เพียงพอ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีให้น้อยลง ควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับปรุงดิน และปลูกพืชหมุนเวียนอย่างอื่นสลับ

4.โรคยอดหงิก เกิดจากเชื้อไวรัส อาการที่เป็นคือลำต้นจะแคระแกรน ใบยอดต่าง ๆ และหงิกไม่ออกดอกผล ป้องกันกำจัดโดยถอนต้นที่เป็นโรคนำไปเผาทิ้ง ถ้าสงสัยว่าจะมีวัชพืชอาศัยให้ทำลายให้หมดและก่อนปลูก ควรดูแลบริเวณเพาะกล้าให้สะอาด ปราศจากวัชพืชและฉีดยากำจัดแมลงปากดูด เช่น แมลงหวี่ขาว โดยใช้ยาประเภทดูดซึม

สำหรับแมลงไม่ค่อยเป็นปัญหามากนัก แต่แมลงปากดูดเป็นตัวนำเชื้อโรคไวรัสมาสู่มะเขือเทศทำให้ใบหงิก ยอดหด ปลายยอดแหลมเรียวเล็ก สีใบซีดด่าง เมื่อเกิดอาการขึ้นแล้วจะไม่มีทางแก้ จึงควรป้องกันไว้ก่อน โดยการกำจัดแมลงเหล่านี้ ด้วยยาประเภทดูดซึม เช่น ฟูราดาน รองก้นหลุมก่อนปลูก อัตรา 1 กรัมต่อหลุม แต่ถ้าต้นมะเขือเทศโตแล้วยังมีแมลงรบกวนก็ควรใช้ยาประเภทมาลาไธออน แลนเนท โตกุไธออน หรือซูมิโซดริน