มะไฟจีนสรรพคุณในการรักษาโรค


ชื่อ
จีนเรียก      อึ๊งพ่วยฉิ่ว  อึ้งต๋า  อึ้งต่อย Clausena Lansium (Lour) Skeels.

ลักษณะ
เป็นพืชไม้ผลที่ปลูกขึ้นเพื่อกินลูก ต้นสูงประมาณสิบฟุตถึงยี่สิบฟุต เปลือกต้นผิวหยาบ ใบรูปกลมรียาว 3-4 นิ้ว ปลายแหลม เนื้อละเอียด เอ็นใบนูน ขอบใบรูปคลื่น ขยี้ดมมีกลิ่นหอม แตกดอกออกลูกในฤดูร้อน ดอกสีเหลือง ลูกสีเหลืองรสเปรี้ยว มีขนสั้นที่ผล

รส
รสเปรี้ยวฝาดนิดๆ กลิ่นหอม ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
รับประทานแก้ลม ใช้ภายนอกไล่ลม ฤทธิ์เข้าถึงตับและลำไส้

รักษา
ใช้ใบต้มรับประทานแก้หวัด กันหวัด ใช้จับสั่น แก้บวม ขับเสมหะ
รากใช้แก้ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ เจ็บกระเพาะ เมล็ดใช้แก้โรคไส้เลื่อน

ตำราชาวบ้าน
1. โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ – ใช้ใบครึ่งถึง 1 ตำลึง ต้มนํ้าใส่นํ้าตาลแดง รับประทาน ถ้าใช้กันโรคหวัดใช้ครึ่งขนาน
2. จับสั่น – ใช้ใบ 10 ใบ ต้มน้ำใส่น้ำตาลแดงรับประทาน
3. บวม -ใช้ใบ 1 ตำลึง ต้มน้ำ ล้างภายนอก
4. ไอและหอบ -ใช้ใบ 1 ตำลึง ต้มน้ำ
5. ข้อปวดอักเสบ – ใช้ใบ 1 ตำลึง ต้มกับข้อขาหมูรับประทาน
6. ปวดน่องเมื่อยเจ็บ – ใช้ราก 1 ตำลึง ต้มน้ำ ใส่เหล้านิดหน่อย รับประทาน
7. กระเพาะเจ็บเนื่องด้วยความเย็นภายใน -ใช้ราก 1 ตำลึง ต้มน้ำกิน หรือใช้ใบ 12 ใบ ต้มกิน
8. ไส้เลื่อน – ใช้ราก 1 ตำลึง ต้มน้ำกิน หรือต้มพร้อมหญ้าโทงเทง 1 ตำลึง หรือใช้เมล็ดต้มรับประทาน

ปริมาณใช้
ราก ใบ และเมล็ดในสดใช้ไม่เกิน 1 ตำลึง ตากแห้งแล้วใช้ไม่เกิน 3-5 เฉียน ใช้ภายนอกกะพอประมาณ

ข้อควรรู้

หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช