มังคุด:การผลิตมังคุดให้มีคุณภาพดีเพื่อการส่งออก


เกียรติ  ลีละเศรษฐกุล  ดารา  พวงสุวรรณ

กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร

บางเขน กรุงเทพฯ

ผลผลิตมังคุดของไทยมีประมาณ ๕-๖ หมื่นตันต่อปี จากพื้นที่ปลูกประมาณ ๕๐,๐๐๐ ไร่ อาจจะกล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีผลผลิตและพื้นที่ปลูกมากเป็นที่หนึ่งของโลก รวมทั้งช่วงระยะฤดูกาลที่มังคุดออกผลิตผลก็มีช่วงนานกว่าประเทศอื่น ๆ มังคุดมีรสอร่อยชวนรับประทานจนได้รับขนานนามว่า ราชินีแห่งผลไม้

ประเทศไทยส่งออกมังคุดและฝรั่ง เป็นยอดรวมกันในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ มูลค่า ๑๕,๕๗๖,๑๑๒ บาท ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ปริมาณการสั่งซื้อมังคุดก็สูงมากขึ้นถึงประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ ๒๐ ล้านบาท โดยมีความต้องการของตลาดในทวีปยุโรปและญี่ปุ่นสูงมาก

ปัญหาที่พบในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ก็คือ คุณภาพของมังคุดไม่ดีพอ ทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ตามความต้องการของตลาด จึงควรที่จะเผยแพร่วิธีการผลิตให้มีคุณภาพให้แก่ผู้ปลูกมังคุด เพื่อเพิ่มปริมาณมังคุดที่มีคุณภาพให้มากขึ้นเพียงพอกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ

การปลูกและการบำรุงรักษา

ความสมบูรณ์ของต้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผลมังคุดมีขนาดใหญ่ตามความต้องการ มังคุดเป็นพืชที่ชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง และขึ้นได้ดีในแหล่งที่มีความชุ่มชื้นสูง ปัจจุบันการเลือกพื้นที่ปลูกให้เหมาะสมกระทำได้ยาก และในกรณีที่ดินที่ทำการเพาะปลูกนาน ๆ ธาตุอาหารในดินก็ย่อมจะลดน้อยลงไป การให้ธาตุอาหารโดยการให้ปุ๋ยจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ระยะปลูกที่เหมาะสมของมังคุดคือ ๑๐x๑๐ เมตร แต่เนื่องจากมังคุดเป็นไม้ที่เจริญเติบโตช้าและต้องการร่มเงาบ้าง บางสวนก็ปลูกระยะ ๖x๖ เมตร รอไว้เมื่อต้นใหญ่อายุราว ๒๐-๓๐ ปี จึงค่อยตัดออก การปลูกในระหว่างแถวเงาะหรือทุเรียนก็มีแนวโน้มว่ามังคุดก็เจริญเติบโตได้ดี

การปลูก  เลือกมังคุดที่เพาะไว้ในถุงอายุ ๒-๓ ปี ลงปลูกในหลุมที่มีขนาด ๕๐x๕๐ ซม. ลึก ๕๐ ซม. ดินที่ปลูกจะเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทรายก็ได้ ควรผสมเศษซากพืชที่ผุแล้วลงในหลุมปลูกด้วย ในระยะแรกควรทำกำบังแสงแดดให้ต้นที่ปลูกใหม่ และรดน้ำสม่ำเสมอจนกว่าจะตั้งตัวได้ดี

มังคุดเป็นพืชที่เติบโตให้ผลช้า ประมาณ ๘-๑๐ ปี จึงจะเริ่มให้ผล การบำรุงรักษาและให้ปุ๋ยจะทำให้มังคุดสามารถให้ผลเร็วขึ้น ๑-๒ ปี

ปุ๋ยที่ใช้สำหรับมังคุดโดยทั่ว ๆไปในช่วงการเจริญเติบโตได้แก่สูตร ๑๕-๑๕-๑๕ หรือ ๒๐-๒๐-๒๐ โดยใส่ที่บริเวณรอบ ๆ ชายพุ่มของต้น พร้อมกับการกำจัดวัชพืชไปด้วย ก็จะช่วยให้มังคุดใช้ปุ๋ยได้อย่างเต็มที่

ในระหว่างที่มังคุดกำลังเจริญเติบโตก็สามารถจะปลูกพืชแซมเป็นการหารายได้เพิ่มเติมได้ เช่น มะนาว กล้วย น้อยหน่า ข้าวโพดหวาน แตงกวา ฯลฯ

เมื่อมังคุดเริ่มให้ผลและเก็บเกี่ยวแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งที่หักแห้งหรือไม่สมบูรณ์ออก ใส่ปุ๋ยสูตร ๑๕-๑๕-๑๕ ครั้งหนึ่ง และเมื่อปลายฤดูฝนก็ควรใส่ปุ๋ยสูตร ๑๒-๒๔-๒๔ หรือ ๑๒-๒๔-๑๒ อีกครั้งหนึ่ง

หลังจากที่ผ่านช่วงแล้ง มังคุดเริ่มออกดอกและติดผลแล้ว ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อติดลูกแล้วประมาณ ๑ เดือนก็ใส่ปุ๋ยสูตร ๑๒-๑๒-๒๔ อีกครั้งหนึ่งก็พอ

ปริมาณการให้ปุ๋ยนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของต้นและความอุดมสมบูรณ์ของดิน จึงควรนำตัวอย่างดินมาวิเคราะห์เพื่อหาอัตราปุ๋ยที่เหมาะสม

ในช่วงการพัฒนาของผลนั้นควรจะระมัดระวังฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา และแมลงต่าง ๆที่จะเข้ามาทำอันตรายแก่ผลมังคุด หลังจากที่มังคุดติดผลได้ ๑๑-๑๒ สัปดาห์ก็เริ่มสุกเก็บเกี่ยวได้

ศัตรูที่สำคัญของมังคุด

สาเหตุที่ทำให้คุณภาพของมังคุดต่ำไม่ตรงกับความต้องการของตลาดและต้นมังคุดไม่สมบูรณ์ทำให้มีผลผลิตน้อยนั้น โรคและแมลงก็เป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่ง

รายละเอียดของโรคและแมลงต่างๆ และวิธีป้องกันกำจัดมีดังนี้

๑.  หนอนชอนใบ

เป็นหนอนที่เกิดจากการวางไข่ของผีเสื้อที่ใบอ่อนที่เพิ่งเริ่มแตกใบ หนอนจะชอนอยู่ใต้ผิวใบอ่อน ทำให้ใบอ่อนมีรูปทรงบิดเบี้ยวเล็ก ไม่เจริญเติบโต มักจะพบระบาดในระยะมังคุดที่เริ่มเจริญเติบโต และถ้ามีการระบาดมาก ๆต้นมังคุดใหญ่ก็ถูกทำลายได้เช่นกัน สาเหตุที่ต้นไม่เจริญเติบโต เพราะใบถูกทำลาย การปรุงอาหารก็ไม่เต็มที่

การป้องกันกำจัด

ระยะที่มังคุดแตกใบอ่อน ควรหมั่นตรวจดูการทำลายของหนอน ถ้าพบรีบฉีดพ่นยาหรือถ้าเคยมีการระบาดควรจะป้องกันไว้ก่อน

สารกำจัดแมลงที่ใช้ได้แก่ สารโมโนโครโตฟอส เช่น อะโซดริน สารไดเมทโธเอท เช่น เปอร์เฟค ไธออน สารอะซินฟอสเอทธิล เช่น กูซาไธออน เอ โดยฉีดพ่นทุกๆ ๕-๗ วัน ระยะแตกใบอ่อนจนใบเริ่มเพสลาด

๒.  หนอนคืบกินใบอ่อน

ระยะแตกใบอ่อนนอกจากจะมีปัญหาหนอนชอนใบแล้ว ก็ยังพบว่ามีหนอนคืบคอยกัดกินใบอ่อน ทำให้ใบอ่อนเว้า ๆ แหว่ง ๆ บางทีเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ต้นมังคุดขาดความสมบูรณ์ หนอนที่กัดกินในระยะแรกจะตัวเล็กกว่าก้านไม้ขีดไฟมาก เมื่อได้รับการสั่นสะเทือนจะใช้ใยเหนียวทิ้งตัวลงพื้น ชาวสวนบางรายเรียกหนอนพลร่ม ถ้าระบาดมาก ๆ ก็ทำให้ต้นมังคุดทรุดโทรมเพราะสูญเสียไป ๑ รุ่น

การป้องกันกำจัด

ควรหมั่นตรวจดูสวนในระยะแตกใบอ่อน ถ้าพบการทำลายในระยะหนอนตัวเล็ก ๆ ควรรีบพ่นสารกำจัดแมลงในระยะนี้เพราะปราบได้ง่าย อย่าปล่อยให้หนอนกินจนตัวใหญ่จะค่อนข้างทนต่อสารกำจัดแมลงและปริมาณการทำลายจะสูงกว่าตัวเล็ก

สารกำจัดแมลงที่ใช้ได้แก่ คาร์บารีล เช่น เซฟวินหรือโมโนโครโตฟอส เช่น อะโซดริน ถ้าหนอนตัวใหญ่และทนต่อสารกำจัดควรผสมด้วยสารไซเปอร์เมทิน เช่น ลิพคอร์ด

๓.  เพลี้ยไฟ

เป็นแมลงปากดูดลำตัวมีขนาดเล็ก สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยการเคาะสิ่งที่เพลี้ยไฟดูดกินอยู่ลงบนกระดาษ จะพบแมลงตัวเล็ก ๆ ลำตัวยาว สีส้มหรือสีเทาปนชมพู จนกระทั่งดำ ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของมันเพลี้ยไฟจะดูดน้ำเลี้ยง ทำให้เกิดรอยแผลและอาการผิวกร้านเป็นจ้ำรอยแผลเป็น และทำให้ผลอ่อนยางไหลได้ ผลจากการทำลายจะทำให้ผลแคระแกรนหรือเกิดเป็นรอยกร้านเกิดขึ้น ทำให้ผิวของผลมังคุดไม่สวยงาม ควรหมั่นตรวจสอบในสวนของท่านในช่วงระยะดอก ผลอ่อน โดยการนำเอากระดาษขาวรองที่ใต้ดอกและเคาะให้แมลงร่วงบนกระดาษถ้าพบควรฉีดพ่นสารกำจัดแมลง

การป้องกันกำจัด

ถ้าพบการระบาดฉีดพ่นด้วยสารกำจัดแมลงที่มีฤทธิ์ในการกำจัดเพลี้ยไฟ เช่น

–         ฟอสซาโลน                        ชื่อการค้า โซโลน

–         โมโนโครโตฟอส                       “        อะโซดริน ฯลฯ

–         เมทธิโอคาร์บ                           “        เมซูโรล

–         อะซินฟอส เอทธิล                    “        กูซา ไธออนเอ

–         ไดเมทโธเอท                            “        เปอร์เฟค ไธออน ฯลฯ

ชนิดใดชนิดหนึ่งโดยพ่นทุกๆ ๕ วัน จนหยุดการระบาด ถ้าแมลงมีปริมาณมากควรพ่นทุก ๆ ๓ วัน

การให้ความชุ่มชื้นภายในสวนมังคุดสูง ๆ ก็ช่วยลดการระบาดลงได้ และการฉีดพ่นกำจัดเพลี้ยไฟควรกระทำพร้อมกันกับสวนข้างเคียง เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายของแมลง

๔.  ไร

เป็นศัตรูพืชอีกชนิดหนึ่ง เกิดระบาดในช่วงผลอ่อนและติดผลแล้ว ในช่วงการเจริญเติบโตจนถึงใกล้เก็บเกี่ยว ไรหรือไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชโดยเฉพาะที่ผลทำให้เกิดอาการผิวกร้านเป็นขี้ขุย ผลที่ถูกไรทำลายจะหมดความสวยงาม ถ้าระบาดช่วงผลเล็กก็จะทำให้ผลไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร

การป้องกันกำจัด หากตรวจพบว่ามีไรแดงเข้าทำลาย ก็รีบทำการฉีดพ่นกำจัดด้วยกำมะถันผงหรือสารฟอสซาโลนหรือสารไดโคโฟล เช่น เคลแทคหรือ โปรพาไลต์ เช่น โอไมต์ หรือสารอะมีทราช เช่น ไมแทค โดยรีบฉีดพ่นกำจัดไรที่ยังมีอยู่อย่างรวดเร็ว

๕.  เพลี้ยแป้ง

เป็นแมลงปากดูดอีกชนิดหนึ่งเคลื่อนไหวได้ช้า มักเกาะติดอยู่กับที่ มดดำจะเป็นตัวพาหะช่วยเคลื่อนย้ายเอาเพลี้ยแป้งหลบซ่อนและดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ที่กลีบเลี้ยงของมังคุด แล้วถ่ายออกมา ราดำก็จะขึ้นบนสิ่งขับถ่ายที่เพลี้ยแป้งปล่อยออกมาทำให้ผลแลดูสกปรก

การป้องกันกำจัด

ควรป้องกันไม่ให้มดนำเอาเพลี้ยแป้งมาปล่อยไว้บนต้นมังคุด หมั่นตรวจดูว่ามีปริมาณมดและเพลี้ยแป้งในต้นมังคุดหรือไม่ ถ้าพบควรกำจัดมดเสียก่อนด้วยสารคาร์บารีล เช่น เซฟวิน ถ้ามีเพลี้ยแป้งมากก็ควรกำจัดด้วยการใช้สารเคมีในกลุ่มโมโนโครโตฟอส เช่น อะโซดริน หรือไดเมทโธเอท ผสมกับไวท์ออย เช่น ไทรโอนา เพื่อให้น้ำมันเป็นตัวแทรกซึมเข้าไปในไขที่หุ้มเพลี้ยแป้ง และฆ่าเพลี้ยแป้งอย่างได้ผลดี อัตราส่วนของไวท์ออยต่อสารกำจัดแมลงนั้น คือ ๑:๑ โดยผสมสารกำจัดแมลงกับน้ำไวท์ออยก่อนแล้วจึงผสมน้ำ

๖.  เพลี้ยหอย

การทำลายของเพลี้ยหอยก็เหมือนกับเพลี้ยแป้งและมดก็เป็นตัวการสำคัญในการแพร่ระบาดเช่นกัน เพลี้ยหอยเป็นแมลงที่มีส่วนห่อหุ้มตัวเป็นเกล็ดเงาวาว เหมือนเปลือกหอย การป้องกันกำจัดนั้นใช้วิธีเดียวกันกับการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง

๗.  โรคใบจุดหรือใบแห้ง

เป็นโรคที่พบอยู่เสมอในสวนมังคุด อาการจะเป็นจุดสีน้ำตาลแห้ง กลางแผลเป็นสีเทาและมีเขม่าสีดำเป็นจุด ๆประปราย ถ้าอาการติดต่อกันจะเป็นอาการใบแห้ง ดูผิวเผินก็ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ถ้าเป็นมากก็กระทบกระเทือนถึงผลผลิต ดังนั้น ควรจะต้องทำการป้องกันและกำจัดถ้ามีโรคเกิดขึ้น

การป้องกันกำจัด

ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชพวกสารประกอบทองแดง เช่น คูปราวิต หรือสารแคปแทน  เช่น ออโธไซด์ หรือสารบีโนมีล เช่น เบนเลทหรือสารแมนโคเซบ เช่น ไดเทนเอ็ม ๔๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง

๘.  โรคกิ่งแห้งและกิ่งแตก

อาการของโรคคือ กิ่งของมังคุดจะแตกตามความยาวของกิ่งและมีเขม่าราสีดำเกิดขึ้นบางครั้งเป็นสีสนิม สาเหตุเกิดจากการทำลายของสาหร่าย โรคพืชชนิดหนึ่งเกาะอาศัยทำให้กิ่งแตกและเชื้อราใบจุด ก็เข้าทำลายทำให้เกิดเขม่าสีดำที่รอยแตกนั้น

การป้องกันกำจัด

ฉีดพ่นป้องกันด้วยสารประกอบพวกทองแดง เช่น คูปราวิต หรือใช้สารแมนโคเซบผสมกับสารประกอบทองแดง เช่น คูโปรซาน ในกรณีมีราเขม่าสีดำก็ควรผสมบีโนมีล เช่น เบนเลท ด้วย

๙.  โรคผลเน่า

เชื้อราที่ทำให้เกิดอาการที่ใบและกิ่งแตกกิ่งแห้ง สามารถจะเข้าทำลายที่ผลได้ด้วย ทำให้เกิดอาการผลเน่าเสียหาย และอาจต่อเนื่องมาจนถึงหลังเก็บเกี่ยวมาแล้ว ดังนั้นควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดด้วย สารที่ใช้ก็เช่นเดียวกับโรคใบจุด ใบแห้ง แต่ฉีดในช่วงติดผลอ่อนจนถึงเก็บเกี่ยว

๑๐.  โรคผลแตก

อาการจะเกิดบนผิวของเปลือกมังคุดด้านนอก ผิวจะแตกเป็นแนวขวางและแนวนอนดูคล้ายกับผลมังคุดร้าวไปหมดและมียางไหล สาเหตุเกิดจากปริมาณน้ำที่มังคุดได้รับไม่สม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น เกิดภาวะแล้งและไม่มีการให้น้ำ หรือเกิดฝนตกหนักก็ทำให้เกิดอาการเปลือกร้าวหรืออาการผิวของผลแตกได้

วิธีการป้องกัน

การผลิตมังคุดควรจะมีระบบการให้น้ำด้วย เมื่อเกิดภาวะแห้งแล้งควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การเจริญเติบโตไม่หยุดชงัก เมื่อฝนตกลงมาก็จะไม่เกิดปัญหา ในช่วงแล้งถ้าให้น้ำควรมีการให้อาหารเสริมด้วย จะช่วยให้มังคุดสมบูรณ์ดี

๑๑.  อาการยางไหลที่ผิว

ผลมังคุดในช่วงผลอ่อนกำลังเติบโต ปรากฎว่าที่ผิวมีอาการยางไหลเป็นจุดๆ สาเหตุเกิดจากแมลงมาทำลายในระยะผลอ่อนจะเป็นพวกเพลี้ยไฟ ถ้าระยะผลใกล้จะสุก สันนิษฐานว่าเป็นการทำลายของแมลงวันผลไม้

การป้องกันกำจัด

ในระยะผลอ่อนควรใช้สารกำจัดแมลงพวกเพลี้ยไฟ ระยะผลแก่ควรป้องกันมิให้แมลงวันผลไม้เข้าทำลาย หรือลดปริมาณแมลงวันผลไม้ โดยการใช้สารล่อ หรือใช้เหยื่อพิษ

๑๒.  อาการยางไหลภายในผล

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่จากการสังเกตพบว่ามังคุดที่ตกจากต้นโดยการเก็บเกี่ยวที่ไม่ถูกวิธีโดยเก็บระยะผลที่ค่อนข้างอ่อนก็จะมีโอกาสเกิดยางไหลภายในผลมังคุดต้นที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ก็มีอาการยางไหลภายในอีกลักษณะหนึ่ง เพราะท่อน้ำเลี้ยงของผลภายในแตก ยางซึ่งขณะผลกำลังอ่อนก็จะออกมาทำให้เกิดอาการดังกล่าว

การป้องกันกำจัด

เก็บเกี่ยวอย่างระมัดระวังอย่าให้หล่น ดูแลการเจริญเติบโตในช่วงติดผล การให้อาหารเสริมเป็นพวกแร่ธาตุอาหารรองแก่พืชก็จะช่วยให้สมบูรณ์และการเกิดยางไหลในผลในเนื้อก็จะลดน้อยลงไป

๑๓.  ราดำที่ผล

ผลมังคุดถึงแม้ยังไม่แก่แต่ผิวของผลดำตั้งแต่อยู่บนต้น อาการดำเหมือนเขม่าไฟปกคลุมผิวอยู่ สาเหตุเกิดจากแมลงพวกปากดูดคือเพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้งดูดกินน้ำเลี้ยงใต้กลีบแล้วขับถ่ายออกมา เชื้อราดำในอากาศก็ขึ้นบนของเหลวที่ขับถ่ายทำให้เกิดอาการผลดำ

การป้องกันกำจัด

ควรจำกัดมดและฉีดพ่นยากำจัดเพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้ง

ข้อแนะนำในการเก็บเกี่ยว

มังคุดดูผิวเผินก็จะคิดกันว่าทนทานต่อการกระแทรกเพราะเปลือกหนา แต่ตามจริงแล้วมังคุดเป็นผลไม้ที่บอบบางมาก ถ้าถูกกระทบกระแทกก็จะเกิดรอยช้ำและลุกลามต่อไป ผลสุดท้ายคุณภาพก็จะสูญเสียไปเปลือกจะแข็งบิไม่ออก

จากตัวเลขผลผลิตรวมของประเทศที่ประมาณไว้ ๕-๖ หมื่นตันต่อปีนั้น ส่วนใหญ่จะสูญเสียไปเพราะการปฏิบัติต่อมังคุดอย่างไม่ถูกต้อง เช่น การหล่นกระแทก การขนส่งที่มีการบรรจุหีบห่อไม่ดี

จากการศึกษาในด้านความเสียหายจากการขนส่งมังคุดโดยรถบรรทุกจากนครศรีธรรมราชไปกรุงเทพฯ โดยวิธีการต่าง ๆ พบว่า

๑.  การขนส่งโดยบรรจุหีบห่อไม่ดีจากมังคุด ๑๐๐ กก. จะสามารถคัดมังคุดที่มีคุณภาพได้ประมาณ ๒๐ กก. เท่านั้น นอกนั้นเป็นผลแตก ๔๖ กก. ผลลาย ๒๔ กก. และผลเสียเนื่องจากสาเหตุต่างๆอีก ๑๐ กก.

๒.  การขนส่งโดยคัดเลือกแล้วบรรจุลงในตะกร้าพลาสติก พบว่ามีการสูญเสียประมาณ ๘-๑๐ เปอร์เซ็นต์

๓.  การขนส่งโดยการบรรจุกล่องที่เหมาะสม มีการสูญเสียประมาณ ๑-๒ เปอร์เซ็นต์

จะเห็นได้ว่าการสูญเสียส่วนใหญ่มาจากเบื้องต้น คือการเก็บเกี่ยวที่ไม่ถูกวิธีทำให้เกิดลักษณะอาการผลแตกหรือผลช้ำมากทีเดียว รองลงมาเกิดจากศัตรูพืช ดังนั้นถ้าหากเราทำการเก็บเกี่ยวดีจะลดเปอร์เซ็นต์การสูญเสียได้

การเก็บเกี่ยวมังคุดนั้นกระทำได้หลายวิธีการ คือ

๑.  การขึ้นไปบนต้นและเขย่ากิ่งให้ผลมังคุดหล่นลงพื้นดินแล้วเก็บ วิธีการนี้จะเกิดความเสียหายสูง

๒.  การใช้จำปาสอย  จำปาทำจากไม้ไผ่ ควรจะลดเหลี่ยมซี่ของจำปาให้มนก็สามารถที่จะใช้เก็บมังคุดได้ควรระมัดระวังอย่างให้จำปาแคบเกินไป ตรงก้นควรรองด้วยผ้านิ่ม ๆ ก็จะช่วยลดความสูญเสียลงได้ การเก็บด้วยวิธีนี้ก็มักจะมีรอยเกิดขึ้นที่ผิวเปลือกมังคุดได้ และใช้เวลามาก

๓.  การใช้ไม้กระทุ้งหรือตะขอเกี่ยวให้หล่นลงมาบนพื้น ผลจะชอบช้ำเช่นเดียวกับวิธีการที่หนึ่ง เพราะตกกระทบพื้นและกิ่งได้ บางครั้งการใช้อวนเก่า ๆ มาขึงให้ตึงรอบโคนต้นก็จะช่วยลดการกระแทกดินได้ แต่ก็ยังมีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียเนื่องจากลูกหล่นกระทบกันเองหรือหล่นโดนกิ่งได้ จึงไม่ค่อยแนะนำให้ปฏิบัติโดยวิธีนี้

๔.  การใช้แรงงานเด็กปีนต้นขึ้นเก็บใส่ถุงหรือตะกร้า วิธีการนี้ก็จะมีความสูญเสียน้อย แต่จะต้องฝึกการเก็บให้ถูกต้องและมีการจัดการให้ปฏิบัติอย่างรวดเร็ว โดยทำงานกันเป็นชุด คนหนึ่งเก็บคนหนึ่งคอยช่วยบอกและรับส่งตะกร้ามังคุด ก็จะทำให้เก็บเกี่ยวได้รวดเร็วขึ้น ด้านนอกพุ่มก้ใช้บันไดปีนเก็บ

๕.  การใช้ถุงสอยมังคุด  ซึ่งมีการประดิษฐ์โดยคุณนิวัต  พ้นชั่ว  ลักษณะเป็นถุงมีเขี้ยวซึ่งใช้ลวดตัดเป็นขอบและเป็นเขี้ยวงอ ๓ อัน ขนาดของถุงบรรจุมังคุดได้ประมาณ ๕ ผล ถุงทำด้วยมุ้งไนล่อน คล้ายผ้า การสอยควรฝึกให้ชำนาญเพราะการเกี่ยวอย่างไม่ถูกต้องก็ทำให้มังคุดมีคุณภาพลดลงก็ได้

เมื่อเก็บมังคุดมาแล้วควรใส่ในตะกร้าพลาสติกขนาดเล็กและขนส่งมารวบรวมไว้เพื่อบรรจุในภาชนะที่ถูกต้องต่อไป สรุปได้ง่าย ๆ ว่าการเก็บมังคุดจะเป็นวิธีใดก็ตามต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ

๑.  อย่าให้ช้ำ

๒.  แยกชนิดออกเพื่อสะดวกในการขนส่ง

๓.  แยกขนาดเพื่อจำหน่ายตามคุณภาพ

๔.  ผลมังคุดที่แตกเสียหายแยกออกเพื่อใช้ทำประโยชน์อย่างอื่น

ลักษณะการจำหน่ายต่างประเทศ

เมื่อปฏิบัติได้ตามคำแนะนำที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดแล้วนั้นก็จะได้มังคุดที่มีคุณภาพ การจะผลิตมังคุดเพื่อส่งจำหน่ายต่างประเทศนั้น ก็มีลักษณะที่ควรจะต้องทราบดังนี้คือ

๑.  การจำหน่ายผลสด ตลาดของผลมังคุดสดเป็นตลาดทางยุโรป ซึ่งจะขนส่งโดยทางเครื่องบิน ลักษณะของมังคุดต้องมีผิวที่สะอาดสดใสปราศจากร่องรอยการทำลายของแมลง ผลมีขนาดตั้งแต่ ๗๐ กรัม ถึง ๑๐๐ กรัม เปลือกไม่แข็ง ระยะการเก็บเกี่ยวเป็นระยะสายเลือด เมื่อเก็บแล้วถ้าสามารถทำความสะอาดและบรรจุกล่องภายในสวนหรือใกล้สวนก็จะทำให้คุณภาพดีมาก ลดเปอร์เซ็นต์การสูญเสียได้เกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

๒.  การจำหน่ายผลแช่แข็ง ตลาดที่สำคัญคือ ญี่ปุ่น ต้องการผลขนาดใหญ่ ๙๐ กรัมขึ้นไป ถ้าจะทำการแช่แข็งที่กรุงเทพฯ ก็ควรเก็บระยะเริ่มมีสายเลือดซึ่งเมื่อขนส่งถึงกรุงเทพฯ ก็จะสุกพอดี ถ้าโรงแช่อยู่ใกล้สวนก็ควรสะอาดปราศจากร่องรอยการทำลายของแมลงและโรคก็จะทำให้จำหน่ายได้ในราคาสูง

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวมังคุด

๑.  การทำความสะอาด นำมังคุดมาล้างน้ำหรือเช็ดผิวให้สะอาด ในกรณีที่จะส่งจำหน่ายต่างประเทศควรแช่มังคุดในสารละลายของบีโนมีล(เบนเลท) ในอัตรา ๑ กรัมต่อน้ำ ๑ ลิต หรือไธอาเบนดาโซล(พรอนโต ๔๐) อัตรา ๑.๒๕ กรัมต่อน้ำ ๑ ลิต นานประมาร ๑-๒ นาที แล้วผึ่งให้แห้งก็จะช่วยลดการเน่าเสียของมังคุดอันเกิดจากเชื้อราได้

ในกรณีที่จะเก็บรักษาไว้ในสภาพอุณหภูมิต่ำเพื่อรอการจำหน่ายหรือการส่งไปทางเรือในระยะ ๑๕ วัน ก็ควรเก็บที่อุณหภูมิ ๑๐ ถึง ๑๓ องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ ๙๐-๙๕ เปอร์เซ็นต์ สำหรับการขนส่งโดยทางเรือเพื่อไปจำหน่ายไกล ๆ เช่น ทวีปยุโรปนั้น กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา

๒.  การบรรจุ เมื่อทำความสะอาดและคัดเลือกผลมังคุดออกเป็นกลุ่มตามความต้องการของตลาดแล้วก็ทำการบรรจุลงภาชนะที่จะส่งไปจำหน่ายหรือส่งเข้ามากรุงเทพฯ

การบรรจุกลุ่งเพื่อส่งไปตลาดต่างประเทส ควรจะทำในสวนโดยการบรรจุในกล่องกระดาษลูกฟูก ซึ่งมีกระดากั้นระหว่างผล กล่องละ ๒๔ ผล หรือบรรจุลงในถาดและหุ้มด้วยฟิล์มพีวีซี ถาดละ ๔ ผล กล่องละ ๖ ถาด ซึ่งจะมีน้ำหนักบรรจุประมาณ ๒-๒.๕ กก.ต่อกล่อง หรือเรียงเป็น ๒ ชั้นต่อกล่องก็ได้ โดยมีกระดาษคั่นกลาง

การบรรจุกล่องในสวนจะทำให้คุณภาพของมังคุดดีค่าแรงงานการบรรจุก็ตกอยู่ในท้องถิ่นด้วย และทำให้รายได้ของจังหวัดที่ปลูกมังคุดดีขึ้นอีกทางหนึ่ง

มังคุดที่จะส่งมาแช่แข็งที่กรุงเทพฯ หรือโรงงานก็อาจจะบรรจุในตะกร้าพลาสติกที่สามารถซ้อนกันได้ โดยไม่กดทับผลผลิต โดยบรรจุตะกร้าหนึ่งประมาณ ๒๐ กก. ควรมีการรองตะกร้าและแต่ละชั้นด้วยกระดาษก็จะลดการชอกช้ำได้ อย่าใช้วิธีการเทสูง ๆ ในการบรรจุ ควรระมัดระวัง

สำหรับผลเล็กที่ไม่สามารถจำหน่ายต่างประเทศได้นั้น ควรจะเก็บเมื่อมีสีชมพูแล้วคัดให้สม่ำเสมอ บรรจุกล่องกระดาษกล่องละ ๑.๕ กก.ส่งขายในประเทศจะได้ราคาสูงขึ้น ข้อสำคัญที่ควรจะระลึกถึงอยู่ตลอดเวลาของการผลิตมังคุดก็คือการรักษาคุณภาพ