มังคุด:เทคนิคการจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพมังคุด

มังคุดเป็นผลไม้ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีรูปทรงสวย สีผลสวย สะดุดตา เนื้อภายในสีขาวสะอาด ฉ่ำน้ำ รสหวานอมเปรี้ยว ตลาดต้องการมังคุดที่ผลมีน้ำหนักมากกว่า 80 กรัม ผิวผลเรียบ เป็นมันไม่มีร่องรอยของการเข้าทำลายของโรคและแมลง ไม่มีหรือมีอาการเนื้อแก้วยางไหลในผลน้อยมาก แต่เกษตรกรไม่สามารถผลิตมังคุดที่มีคุณภาพได้เพียงพอกับความต้องการของตลาด ทำให้ราคาของมังคุดที่มีคุณภาพสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและสถานการณ์การผลิตในปัจจุบันปริมาณการผลิตมังคุดที่มีคุณภาพที่เกษตรกรผลิตได้มีน้อยกว่าร้อยละ 60 ของผลผลิตรวมทั้งหมด ดังนั้นเทคนิคและวิธีการจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพของมังคุดเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด ส่งผลให้ได้ราคาดีตามไปด้วย

เทคนิคการจัดการเพื่อควบคุมปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิตมังคุด

1.  การปลิดดอก การที่ต้องปลิดดอกที่มีปริมาณมากเกินไป ให้เหลือในปริมาณที่พอเหมาะนั้นก็เพื่อช่วยให้ผลมังคุดที่เหลือมีขนาดใหญ่ และพัฒนาการได้เร็ว เนื่องจากภายในต้นมีปริมาณอาหารสะสมที่จำกัด

ระยะเวลาที่ควรปลิดดอกคือ ในระยะดอกตูม ปริมาณดอกที่ควรไว้คือ 20 ดอกต่อกิ่ง

2.  การป้องกันกำจัดโรคแมลง เพื่อให้ผลมังคุดปราศจากการเข้าทำลายของโรคแมลงจึงต้องมีการป้องกันกำจัดแมลงในระยะการพัฒนาการของดอกและผลอ่อน ศัตรูสำคัญของมังคุดในระยะนี้ ได้แก่

–    เพลี้ยไฟ ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ของศัตรูชนิดนี้ จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอกอ่อนและผลอ่อนของมังคุดทำให้ดอกและผลร่วงได้ ผลอ่อนจะเจริญเติบโตช้า ผิวขรุขระ เรียกว่าเป็นขี้กลาก และยางไหล

การป้องกันกำจัด  ในระยะที่มังคุดเริ่มออกดอกพ่นด้วยสารคาร์โบซัลแฟน หรือไดเมทโธเอท

–         ไรแดง  จะระบาดในช่วงผลอ่อนและติดผลจนถึงใกล้เก็บเกี่ยว ดูดกินน้ำเลี้ยงจากผลอ่อน ทำให้ผิวกร้านเป็นขี้ขุย ไม่สวยงาม

–         การป้องกันกำจัด  พ่นด้วยกำมะถันผง หรือสารฟอสซาโลน หรือไดโคโฟล เช่น เคลเทนหรือโปรปาไจท์ เช่น โอไมท์ หรืออะมีทราช เช่น ไมท์แทค เป็นต้น

–         เพลี้ยแป้ง  ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณกลีบเลี้ยงของผลมังคุด และถ่ายมูลออกมาเป็นอาหารของราดำ ทำให้มีราดำบนผล ผลสกปรก

การป้องกันจำกัด ถ้าพบมดซึ่งเป็นตัวพาหะพาเพลี้ยแป้งมาปล่อยไว้บนต้นมังคุด ให้ใช้สารคาร์บาริล เช่น เซฟวิน พ่นป้องกันไว้ก่อน แต่ถ้าพบเพลี้ยแป้งมากควรกำจัดด้วยการใช้สารเคมีในกลุ่มโมโนโครโตฟอส เช่น อโซดริน หรือไดเมทโธเอท ผสมกับไวท์ออย เช่น ไทรโอนา

3.  การจัดการปุ๋ย การจัดการปุ๋ยอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผลมีการพัฒนาการเร็ว มีปริมาณผลที่มีขนาดตามมาตรฐาน (น้ำหนักมากกว่า 80 กรัมขึ้นไป) จำนวนมาก ผลมังคุดจะมีการพัฒนาการอย่างมากในช่วงอายุ 7-12 สัปดาห์หลังดอกบาน ช่วงนี้จึงต้องมีการจัดการปุ๋ย ดังนี้

–  ใส่ปุ๋ยทางดิน สูตร 12-12-17-2 อัตรา 1-3 กก./ต้น เมื่อผลมังคุดมีอายุ 1 เดือน หลังดอกบาน

–  พ่นสารอาหารกึ่งสำเร็จรูปเพื่อเร่งการพัฒนาการของผล ใช้ปุ๋ยสูตร 10-20-30 (ที่มีธาตุรอง) 60 กรัม ผสมกับฮิวมิค แอซิด 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้ครอปไจแอนท์®อัตรา 20 ซีซี ผสมกับฟลอริเจน®30 ซีซี พ่นทุก 10-14 วัน จำนวน 1-2 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ผลมังคุดมีอายุประมาณ 1 เดือนหลังดอกบาน

4.  การให้น้ำ น้ำมีความสำคัญมากในช่วงพัฒนาการของผล จึงต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่เพียงพอ การที่มังคุดได้รับน้ำน้อยเกินไป จะเกิดอาการก้นผลเหี่ยวเป็นร่องและผลมีการพัฒนาการช้า ถ้ามังคุดได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ และประสบกับปัญหาฝนตกหนักอย่างกะทันหันในช่วงพัฒนาการของผลจะทำให้มีการขยายตัวของเซลล์อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผนังเซลล์อาจจะไม่ยืดหยุ่นพอที่จะรับการเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดปัญหาผลแตก หรืออาการเนื้อแก้ว หรืออาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความดันภายในท่อน้ำยางได้อย่างรวดเร็ว เกิดอาการยางไหลในผลได้

5.  การเก็บเกี่ยว หลังจากที่มังคุดมีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว การเก็บเกี่ยวที่ดีจะช่วยให้ได้มังคุดที่มีคุณภาพดีด้วย

วิธีการจัดการเรื่องการเก็บเกี่ยว มีดังนี้คือ

–         เก็บเกี่ยวในอายุการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม อายุการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของมังคุดเพื่อการส่งออกควรเป็นระยะที่ผลมังคุดเริ่มมีจุดประสีชมพูตลอดทั้งผล(หรือที่เรียกว่า ระยะสายเลือด) จะทำให้มังคุดมีรสชาติดี อายุการเก็บรักษานานกว่าเมื่อเก็บเกี่ยวผลมังคุดขณะที่มีสีม่วงแดงหรือม่วงเข้ม

งานวิจัยของทางศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีได้ทดลองผลของการใช้สารเอทธีลีนที่มีต่อการสุกของมังคุด โดยการพ่นสารอีเทรลความเข้มข้น 400-800 ppm ในระยะมังคุดแก่จัดพบว่าจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงสีผลของมังคุดเข้าสู่ระยะสายเลือด ตั้งแต่วันที่ 2 ของการพ่น ผลมังคุดที่ได้รับการพ่นสารอีเทรลจะมีคุณภาพและรสชาติไม่ต่างจากผลมังคุดที่สุกตามธรรมชาติ

การทดลองปรับปรุงคุณภาพของผลผลิตพบว่า การใช้สารเคลือบผิว เกาชิโมะ พ่นแก่ต้นมังคุด 2 ครั้ง ในอัตรา 400 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือน ทำให้มังคุดมีอายุการวางจำหน่ายนานกว่าผลมังคุดที่ไม่ได้รับการพ่น

–         การใช้เครื่องมือเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพ เช่น ใช้ตะกร้อ หรือถุงผ้าแทนการเขย่าหรือการใช้ไม้ตีให้ผลมังคุดร่วงลงพื้นดิน ปัจจุบันทางกองเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตรได้ประดิษฐ์เครื่องมือ กวศ.4 เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเก็บมังคุดโดยอาศัยแรงบิดขั้วผลมังคุดให้หลุดร่วงลงถุงผ้าที่รองรับอยู่และมีกลไกสำหรับปลดล็อคเพื่อเทผลมังคุดลงในภาชนะผลมังคุดที่เก็บเกี่ยวด้วยเครื่องมือนี้จะไม่มีรอยขีดข่วนที่ผิวเปลือก กลีบเลี้ยงไม่แตกหัก ผลผลิตไม่ชอกช้ำ ทำให้ราคาผลผลิตสูงขึ้น

(เรียบเรียงจาก เอกสารวิชาการ เทคโนโลยีการผลิตไม้ผลในภาคตะวันออก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6, ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี)