สารยับยั้งการเจริญเติบโตของพืช

สารยับยั้งการเจริญเติบโตของพืช (Plant Growth Inhibitors)
สารกลุ่มนี้มีผลยับยั้งการแบ่งเซลล์ ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนชนิดอื่นบางชนิด และยับยั้งการเจริญเติบโตโดยทั่วๆ ไป สารยับยั้งการเจริญเติบโตที่พบในพืชมีกว่า 200 ชนิด แต่สารที่สำคัญและรู้จักกันดีคือ ABA(abscisic acid) ซึ่งมีผลควบคุมการหลุดร่วงของใบ ดอก ผล การพักตัวของพืช และการคายน้ำ สาร ABA ที่สกัดได้จากพืชมีปริมาณน้อยมาก แต่สามารถแสดงผลต่อพืชได้สูง อย่างไรก็ตามไม่มีการนำสารนี้มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ปัจจุบันมีสารสังเคราะห์หลายชนิดที่มีผลในเชิงยับยั้งการเจริญเติบโตของพืช แต่มีผลทางอ้อมบางประการ ที่ส่งเสริมให้พืชมีผลผลิตมากขึ้นหรือแสดงลักษณะที่เราต้องการออกมา จึงได้มีการใช้ประโยชน์จากสารเหล่านี้เพื่อการผลิตพืชบางชนิด ตัวอย่างสารสังเคราะห์ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ maleic hydrazide หรือ MH, chlorflurenol หรือ morphactin, dikegulac-sodium ประโยชน์ของสารสังเคราะห์ดังกล่าวมีดังนี้

1. เพิ่มการแตกตาข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชยืนต้น เช่น ไม้พุ่มประดับ ไม้ผล การใช้สาร dikegulac sodium ช่วยเพิ่มการแตกตาข้างของพืชหลายชนิด ซึ่งเป็นพืชต่างประเทศทั้งสิ้น ยังไม่มีการทดลองใช้สารนี้ในประเทศไทย สาร chlorflurenol ช่วยเพิ่มการแตกหน่อของสับปะรดและสับปะรดประดับ ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับการขยายพันธุ์

2. ยับยั้งการงอกของหัวพืช พืชหัวบางชนิดเมื่อเก็บเกี่ยวมาแล้ว ถ้าเก็บไว้ระยะหนึ่ง จะงอกเป็นต้นใหม่ (sprouting) ทำให้เสียคุณภาพและใช้บริโภคไม่ได้ เช่น มันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ การใช้สาร maleic hydrazide กับพืชพวกนี้ก่อนการเก็บเกี่ยว จะมีผลยับยั้งการงอกดังกล่าวได้

นอกจากนี้ยังอาจใช้ประโยชน์อื่นอีกเช่น ลดความสูงของไม้พุ่มโดยใช้ dikegulac sodium การใช้ maleic hydrazide ป้องกันการแตกหน่อของยาสูบ เคยมีการทดลองใช้ maleic hydrazide เพิ่มการออกดอกของมะม่วงในประเทศอินเดีย และไทย ซึ่งได้ผลพอสมควร

คุณสมบัติและการใช้สารสังเคราะห์บางชนิด
1. maleic hydrazide (6-hydroxy-3-(2H)-pyridazinone) เป็นสารยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ ใช้ชะลอการเติบโตของหญ้าในสนาม ควบคุมความสูงของไม้พุ่ม ไม้ทำรั้ว ป้องกันการงอกของหัวมันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ และป้องกันการเกิดหน่อของยาสูบ อาจใช้ผสมกับ 2,4 -D เพื่อกำจัดวัชพืชใบกว้างได้ สารบริสุทธิ์ของ maleic hydrazide มีลักษณะเป็นผงสีขาว ละลายนํ้าได้ยาก แต่ถ้าอยู่ในรูปเกลือจะละลายนํ้าได้ดี สารนี้มีจำหน่ายในประเทศไทยโดยมีชื่อการค้าว่า โอโซ-เอ็มเอช (OZO-MH) ซึ่งใช้กันมากในแปลงยาสูบ

maleic hydrazide เคลื่อนที่ได้ดีมากภายในต้นพืช วิธีการให้สารชนิดนี้ทำได้โดยพ่นสารให้ทั่วทั้งต้น และควรระวังไม่ให้สารปลิวไปถูกพืชอื่น ความเป็นพิษของสารนี้ต่อคนและสัตว์จัดอยู่ในระดับเกือบไม่มีพิษ

2. chlorflurenol(methyl-2-chloro-9-hydroxyfluorene-9-carboxylate) เป็นสารใช้ลดความสูงของพืชบางชนิด ใช้กำจัดวัชพืช ลดการเติบโตของหญ้าในสนาม เพิ่มจำนวนหน่อสับปะรด สารบริสุทธิ์เป็นผลึกไม่มีสีละลายนํ้าน้อยมาก จึงมีการผลิตสารนี้ออกมาจำหน่ายในรูปของสารผสมน้ำมัน (emulsifiable concentrate) เมื่อจะใช้จึงนำมาผสมน้ำ สารนี้จำหน่ายในต่างประเทศภายใต้ชื่อการค้า Maintain  CF 125 แต่ขณะนี้ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย

3. dikegulac-sodium (เกลือโซเดียมของ 2,3: 4,6 bis-O-(1-methylethylidane) alpha-L-xylo-2-hexulofuranosonic acid) เป็นสารค่อนข้างใหม่กว่าชนิดอื่น ใช้กระตุ้นการแตกตาข้างของไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น และใช้ควบคุมความสูงของพืชดังกล่าว สารบริสุทธิ์เป็นผงไม่มีสี ละลายน้ำได้ดี มีชื่อการค้าในต่างประเทศว่า Atrinal  แต่ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย การให้สารนี้แก่พืชทำได้ทั้งโดยการพ่นทั่วทั้งต้น และการฉีดเข้าลำต้นโดยตรง

สารอื่นๆ
สารหลายชนิดไม่สามารถจัดเข้าอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้นได้อย่างเหมาะสม แต่มีคุณสมบัติเป็น PGRC เช่นกันและมีผลต่อพืชค่อนข้างจำเพาะเจาะจง ซึ่งได้นำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรอย่างกว้างขวางเช่นกัน ประโยชน์ของสารเหล่านี้คือ ใช้เร่งการเติบโต ของต้น เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต กระตุ้นการร่วงของใบ คุณสมบัติและการใช้ประโยชน์จากสารเหล่านี้บางชนิดมีดังต่อไปนี้

1. folcisteine (3-acetylthiazolidine-4-carboxylic acid) เป็นสารสังเคราะห์ที่มีผลในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีและสรีรวิทยาของพืช ใช้ประโยชน์ในการกระตุ้นการงอกของเมล็ด เร่งการเติบโตโดยทั่วไปของต้นพืช เพิ่มการติดผล และเพิ่มผลผลิตพืชได้หลายชนิด เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว มันฝรั่ง องุ่น ส้ม สตรอเบอรี่ ชื่อการค้าของสารนี้ ในประเทศไทยและต่างประเทศคือ เออร์โกสติม (Ergostim) ถ้าเป็นสารบริสุทธิ์จะมีลักษณะเป็นผลึกสีขาวละลายได้ดีในนํ้าร้อน แต่ไม่ละลายในแอลกอฮอล์ ความเป็นพิษของสารนี้อยู่ในระดับเป็นพิษน้อย จึงค่อนข้างปลอดภัยแก่การใช้กับผลิตผลเพื่อการบริโภค

2. glyphosine (N,N-bis(phosphonomethyl)glycine) เป็นสารสังเคราะห์ที่ใช้เร่งการแก่ของอ้อยและเพิ่มปริมาณนํ้าตาลซูโครสภายในต้นได้มากขึ้นประมาณ 10% สารนี้เป็น 1 ใน 6 ชนิดของ PGRC ที่ใช้กันมากที่สุดในโลก โดยมีชื่อการค้าว่า Polaris  เป็นสารที่มีพิษน้อยแต่มีผลทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้ และมีพิษต่อนัยน์ตาอย่างมาก ประโยชน์ของสารนี้ในด้านอื่นๆ ยังไม่มีผู้ใดศึกษาไว้

3. glyphosate (N-(phosphonomethyl)glycine) เป็นสารที่คล้ายคลึงกับ glyphosine ใช้เป็นยากำจัดวัชพืชประเภทยาดูดซึม และยังใช้เร่งการแก่และเพิ่มปริมาณนํ้าตาลในอ้อยได้ เป็นสารที่จำหน่ายมากชนิดหนึ่งเช่นกันทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้ชื่อ ราวด์อัพ (Roundup) สารนี้มีจำหน่ายในประเทศไทยโดยใช้ในรูปของสารกำจัดวัชพืช และจัดเป็นสารที่มีพิษน้อย

4. marine algal extracts หรือสารสกัดจากสาหร่ายทะเล สารนี้แสดงผลของ PGRC เช่นกันและพบว่ามีสารในกลุ่มไซโตไคนินผสมอยู่ด้วย จึงมีผลกระตุ้นการแบ่งเซลล์ ชะลอการแก่ของพืช ใช้เพิ่มผลผลิตส้มและมะเขือเทศได้ เพิ่มปริมาณนํ้าตาลในพืชหัวบางชนิดเช่น บท (sugar beet) และมีแนวโน้มที่จะใช้เพิ่มผลผลิตมันฝรั่ง ฝ้าย และข้าวโพดได้ สารในกลุ่มนี้ มีจำหน่ายใต้ชื่อการค้าต่างๆ กัน สำหรับในประเทศไทยมีสารนี้จำหน่ายโดยมีชื่อการค้าว่า ซี-บอร์น (Sea born) ความเป็นพิษของสารนี้มีน้อยมาก จัดอยู่ในระดับปลอดภัย

5. Tria (1-triacontanol) เป็นสารที่สกัดได้จากถั่วอัลฟาฟา(alfafa) มีผลอย่างมากในการเร่งการเติบโตของพืชหลายชนิด โดยมีผลเพิ่มการแบ่งเซลล์ พืชที่ตอบสนองต่อการใช้สารนี้ได้ดีคือ ข้าว ข้าวโพด มะเขือเทศ ยาสูบ ส้ม และพืชอื่นๆ รวมทั้งไม้ประดับอีกหลายชนิด คุณสมบัติของสารนี้แปลกกว่าสารชนิดอื่นคือใช้ในความเข้มข้นที่ตํ่ามากๆ (ประมาณ 1 มก/ ล) แต่พืชสามารถตอบสนองและแสดงผลออกมาให้เห็นได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาระดับนาทีหรือชั่วโมงเท่านั้น สารบริสุทธิ์ของ Tria เป็นผลึกขาวใส ละลายได้ยากมาก คือไม่ละลายทั้งในนํ้า แอลกอฮอล์หรือสารอินทรีย์อื่นๆ จึงต้องใช้วิธีการพิเศษในการผสมสาร ซึ่งมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของสารด้วยการใช้สารนี้กับพืชต่างๆ มักพบว่าได้ผลไม่คงที่ บางครั้งได้ผลแต่บางครั้งอาจไม่ได้ผลทั้งๆ ที่เป็นพืชชนิดเดียวกัน พืชที่จะใช้สารนี้ได้ต้องมีความสมบูรณ์สูงจึง จะตอบสนองได้ดี ภาชนะที่ใช้พ่นสารก็มีความสำคัญมาก นั่นคือถ้าเป็นพวกพลาสติกจะสามารถทำปฏิกิริยากับ Tria ได้ แม้กระทั่งส่วนประกอบของถังพ่นยาที่เป็นพลาสติกเช่นสายยาง ก็มีผล ลดประสิทธิภาพของ Tria เช่นกัน การใช้ Tria เราใช้ในความเข้มข้นตํ่ามากๆ ดังนั้น ถ้าสารบางส่วนหมดประสิทธิภาพไปก็จะทำให้ความเข้มข้นตํ่าลงกว่าปกติ จนกระทั่งพืชไม่อาจตอบสนองได้ การค้นคว้าเกี่ยวกับผลของสารนี้ที่มีต่อพืชได้ทำกันอย่างกว้างขวางในประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนี้แต่ยังไม่ได้นำผลดังกล่าวมาใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ใช้สารนี้เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว ฝ้าย อ้อย ถั่วต่างๆ และใช้ขยายขนาดผลส้ม ส่วนในประเทศไทยกำลัง อยู่ในขั้นทดลองเพื่อหาความเหมาะสมสำหรับการใช้สารนี้กับพืชต่างๆ และขณะนี้ยังไม่มีจำหน่าย

6. paraquat(1,1’- dimethyl-4,4’-bipyridyldiyliuni ion) เป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดหนึ่งมีผลทำลายส่วนที่เป็นสีเขียวของพืช ใช้ประโยชน์เป็น PGRC เช่นกัน โดยมีผลกระตุ้นให้ใบร่วง เพื่อความสะดวกในการเก็บเกี่ยว ใช้ได้ผลดีกับฝ้าย สารนี้ผลิตใต้ชื่อการค้าว่า กรัมม็อกโซน (Gramoxone) เป็นสารที่มีพิษต่อคนและสัตว์อย่างมาก ซึมเข้าทางผิวหนังได้ดี เป็นอันตรายต่อนัยน์ตา และถ้าสูดดมเข้าไปจะทำให้เลือดออกในโพรงจมูก

สารที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายชนิดที่แสดงคุณสมบัติของ PGRC ได้โดยส่วนใหญ่ใช้กับพืชเขตหนาว ซึ่งมีประโยชน์ค่อนข้างจำกัดในประเทศไทย

ที่มา:พีรเดช  ทองอำไพ