ยางนา

(Gurjan, Keruing, Yang Naa)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don
ชื่อวงศ์ DIPTEROCARPACEAE
ชื่ออื่น ยาง ยางขาว ยางแม่น้ำ ยางหยวก
ถิ่นกำเนิด เอเชียเขตร้อน
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง 40 ม. ขนาดทรงพุ่ม 10-20 ม. ผลัดใบระยะสั้น ทรงพุ่มรูปกรวยเมื่อต้นเล็ก ต้นใหญ่ ทรงกลม ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีเทาอ่อน เกลี้ยงหรือแตกหลุดล่อน เป็นชิ้นกลม


ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 8-15 ซม. ยาว 20-35 ซม. ปลายใบสอบทู่ โคนใบมนกว้าง ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบหนาและเหนียว ย่นเป็นลอนใบสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างมีขน ประปราย ใบอ่อนสีเขียวอมเหลืองมีขนสีเทา ก้านใบยาว 2.5-4 ซม.
ดอก สีชมพู ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกห้อยยาว 8-12 ซม. ดอกย่อย 4-5 ดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยมีครีบตามยาว 5 ครีบ ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีแฉกยาว 2 แฉกและสั้น 3 แฉก มีขนสั้นๆ สีนํ้าตาลปกคลุม กลืบดอกมี 5 กลีบ รูปขอบขนาน โคนกลีบชิดกัน ปลายกลีบมนและบิดเวียน เกสรเพศผู้ มากกว่า 25 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2-3 ซม. ออกดอกเดือน มี.ค.-เม.ย.


ผล ผลแห้ง รูปกระสวย มีครีบตามยาว 5 ครีบ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.8 ซม. มีปีกที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยง ปีกยาว 2 ปีก สีแดงอมชมพู กว้าง 2-2.5 ซม. ยาว 10-15 ซม. เมื่อสุกสีนํ้าตาล 1 เมล็ดต่อผล ติดผลเดือน พ.ค.-ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือปักชำเหง้า
นิเวศวิทยา พบตามที่ราบใกล้ลำธารในป่าดิบทั่วไป ที่ความสูง 200-600 ม. จากระดับน้ำทะเล
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ต้น มีน้ำมันยาง ใช้ทาแผล ใส่แผล โรคเรื้อน น้ำต้มเปลือก กินแก้ตับอักเสบ บำรุงร่างกาย ฟอกเลือด และใช้ทาถูนวด (ขณะร้อนๆ) แก้ปวดตามข้อ
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดอุบลราชธานี
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย