ยางพารา

(Para Rubber)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hevea brasiliensis ( Willd. ex A.Juss.) Muell.Arg.
ชื่อวงศ์ EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น ยาง
ถิ่นกำเนิด ลุ่มน้ำอเมซอน
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 25-30 ม. ขนาดทรงพุ่ม 8-10 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ แน่นทึบ เปลือกต้น สีน้ำตาลอ่อนหรือเทา มีรอยด่างสีขาวทั่วไปและแตกหลุดล่อนเป็นสะเก็ด


ใบ ใบประกอบรูปนิ้วมือ เรียงเวียนสลับเป็นชั้นๆ แกนกลางใบ ประกอบยาว 10-20 ซม. มีใบย่อย 3 ใบ รูปไข่กลับ กว้าง 3-8 ซม. ยาว 8-20 ซม. ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวเข้มเป็นมันใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้มอมแดง
ดอก สีเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ซอกใบใกล้ ปลายกิ่งพร้อมกับผลิใบใหม่ช่อดอกตั้งยาว 10-15 ซม.ดอกย่อยรูประฆัง กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกัน เป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกแยกเพศร่วมต้น ดอกเพศผู้มีขนาดเล็ก แต่มีจำนวนมากและจะบานแคบๆ เฉพาะช่วงปลายกลีบ เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.5-0.8 ซม. ออกดอกปีละสองครั้งคือเดือน ก.พ.-มิ.ย. และ ส.ค.-ต.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือติดตา


ผล ผลแห้งแตกกลางพู ผลทรงกลม ลักษณะเป็นพู 3 พู เส้นผ่าน ศูนย์กลาง 5-7 ซม. ผิวเรียบสีเขียว เมื่อสุกมีสีน้ำตาลและแข็ง เมล็ดกลม หรือรูปไข่มนรี สีน้ำตาลลายขาว 3 เมล็ดต่อผล ติดผลปีละสองครั้ง เดือน เม.ย.-ส.ค. และ ต.ค.-ธ.ค.
นิเวศวิทยา พบปลูกเลี้ยงอยู่ทั่วไป
การใช้ประโยชน์ ยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยชนิดหนึ่ง ยางจากลำต้น นำมาเติมกรดทำให้เป็นแผ่น อบให้แห้งใช้เตรียมยางรถยนต์ เครื่องมือแพทย์บางชนิด ไม้ใช้ทำฟืน ประดิษฐ์ประเภทลังสินค้า เฟอร์นิเจอร์ ทำเสาเข็ม
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย