สรรพคุณของสมุนไพรหูปลาช่อน


หางปลาช่อน

ชื่อ
จีนเรียก   เฮียะแอ่อั๊ง  จีป้วยเช่า  Emilia sonchifolia (L.) DC.

ลักษณะ
ชอบขึ้นตามริมทาง ในสวนและในทุ่งหญ้าเป็นพืชล้มลุก ลำต้นสีเขียว แกมม่วง สูงประมาณ 2-3 นิ้ว หรือ 1 ฟุต แยกสาขาเป็นพุ่ม โดยมากใบจะขึ้นจากรากโดยตรง รูปใบไม่แน่นอนโดยมากสีเขียว ใบเกิดจากลำต้นเกือบไม่มีก้าน ออกดอกตลอดปี ออกดอกกิ่งละหนึ่งดอก ยาวประมาณครึ่งนิ้ว กระเปาะดอกสีแดงแกมม่วง มักแตกเป็น 5 แฉก เมล็ดพันธุ์เล็ก

รส
รสเฝื่อนเผ็ดนิดๆ ธาตุเย็นมาก ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
รับประทานประสะเลือดเย็น แก้พิษ ใช้ภายนอกดับพิษแก้บวม ฤทธิ์เข้าถึงตับและปอด

รักษา
ใช้ภายนอกแก้ผิวหนังเป็นฝีเจ็บบวม เป็นผื่นพิษเพราะธาตุนํ้ามากเกินไป หญิงเจ็บนม ทรวงอกเจ็บเนื่องจากถูกตีหรือกระแทก ตาแดงเจ็บบวม ปวดร้อน บ้วนเลือด เลือดกำเดา

ตำราชาวบ้าน
1. ทรวงอกเจ็บปวดเนื่องจากถูกของแข็ง – หูปลาช่อน 1 ตำลึง ตำแหลกชงเหล้ารับประทาน  หรือหูปลาช่อน 1 ตำลึง ตำกับกระต่ายจันทร์ ครึ่งตำลึง ตำแหลก ชงเหล้ารับประทาน
2. ตาเจ็บแดง – หูปลาช่อน 1 ตำลึง ต้มกับนํ้าตาลแดงรับประทาน หรือเด็ดเอายอดใบ ครึ่งตำลึงต้มกับถั่วเขียว หรือหูปลาช่อน 2 ตำลึง ต้มกับไข่ไก่ ใส่เกลือรับประทาน
3. ปอดร้อนบ้วนเลือด – หูปลาช่อน ปีกแมลงวัน  อย่างละ 1 ตำลึง ต้มนํ้ารับประทาน
4. เลือดกำเดา – หูปลาช่อน รากหญ้าคาอย่างละ 1 ตำลึง ต้มกับนํ้าตาลแดง รับประทาน
5. ผิวหนังเป็นฝีเจ็บบวม – หูปลาช่อน ตำกับนํ้าตาลแดง พอก หรือเด็ดยอดใบครึ่งตำลึงต้มเนื้อหมู แก้เลือดร้อน แก้อักเสบ หรือหูปลาช่อนตำ เอานํ้าทา
6. เป็นผื่นพิษ – หูปลาชอน มะแว้งนก ตำกับนํ้าตาลแดง พอกทา
7. หญิงนมเจ็บ – หูปลาช่อน 1 ตำลึง ตำเอานํ้าตุ๋นเหล้า รับประทานส่วนกากใช้พอกหรือหูปลาช่อน ตำกับหญ้าไก่นกคุ่ม  ใส่น้ำตาลนิด หน่อยแล้วพอก

ปริมาณที่ใช้
สดไม่เกิน 2 ตำลึง แห้งไม่เกินครึ่งตำลึง ใช้ภายนอกกะพอสมควร

ข้อควรรู้
คนธาตุไฟอ่อนไม่ควรใช้ หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช