ยิบซั่ม:สารเคมีที่ไม่เป็นพิษต่อสัตว์และพืช

วิศิษฐ์  โชลิตกุล

ยิบซั่ม เป็นสารเคมีที่มีส่วนประกอบของธาตุแคลเซียม(Ca)และกำมะถัน หรือมีชื่อทางเคมีว่าแคลเซียมซัลเฟต มีสูตรโครงสร้างคือ มีน้ำผลึกเป็นองค์ประกอบมีสูตรว่า CaSO4 2H2 O ลักษณะเป็นผลึกใสมีความถ่วงจำเพาะ 2.32 และเมื่อเผาที่ความร้อนที่ 163°c จะกลายเป็นปูนพลาสเตอร์หรือแอนไฮดรัส ยิบซั่ม (anhydrous gypsum (CaSO4) ยิบซั่มเป็นสารที่ไม่ไหม้ไฟ (Noncombusible) ไม่เป็นพิษต่อสัตว์หรือพืช (Nontoxic)

ทั้งยิบซั่ม (Hydrated Calcium sulfate; CaSO4 2H2O) และปูนพลาสเตอร์ (Anhydrous Calcium sulfate; CaSO4) ละลายในน้ำได้น้อย พบได้ในธรรมชาติคือ เป็นสินแร่และเป็นผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) โดยใช้ปูนขาว (CaO) เป็นตัวจับก๊าซเพื่อไม่ให้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าสู่บรรยากาศ

ประโยชน์ของยิบซั่มในเชิงอุตสาหกรรมเป็นส่วนผสมของซิเมนต์ปอตแลน เป็นแหล่งของกำมะถันในการทำกรดกำมะถัน (H2 SO4) ใช้เป็นสารขัด (polishing powder) ใช้ผสมสีโดยเฉพาะเป็นปิกเมนต์ของสีขาว, อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างใช้เป็นวัสดุกันความร้อน เช่น ยิบซั่มบอร์ด ฯลฯ ยิบซั่มยังใช้เป็นสารตัวเติมของอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีในการทำปุ๋ยปั้นเม็ดสูตรต่าง ๆ ประโยชน์ทางการแพทย์ใช้ในการเข้าเฝือก

ประโยชน์ในด้านการเกษตรใช้เป็นสารปรับปรุงบำรุงดิน  โดยเฉพาะเป็นสารแก้ดินเค็ม นอกจากนี้ยิบซั่มยังเป็นสารที่ให้ธาตุอาหารรอง 2 ธาตุ คือ แคลเซียม (Ca) และกำมะถัน (S) ซึ่งทั้งแคลเซียมและกำมะถันเป็นธาตุอาหารรองตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 เพราะแคลเซียมและกำมะถันเป็นธาตุอาหารที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของผลิตผล

หน้าที่ของแคลเซียมในพืช

พืชต้องการแคลเซียมเพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตของราก  โดยเฉพาะในส่วนของปลายราก (root tip) ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการดูดน้ำและอาหาร  นอกจากนี้แคลเซียมยังทำหน้าที่ส่งเสริมการเกิดปมของพืชตระกูลถั่ว  ตลอดจนควบคุมการงอกของเมล็ดรวมทั้งการเจริญเติบโตของอับละอองเกสรตัวผู้  พืชดูดซึมแคลเซียมจากดินในรูปแคลเซียมอิสระ(Ca²⁺) และเมื่อเข้าสู่ภายในลำต้นแล้ว ส่วนหนึ่งยังคงอยู่ในรูป Ca²⁺อิสระทำหน้าที่สำคัญยิ่ง  อนึ่งคือคอยควบคุมการเคลื่อนย้ายของสารชนิดต่าง ๆ ผ่านเซลเมมเบรน (membrane permeability) แคลเซียมส่วนที่เหลือจะรวมตัวกับโมเลกุลของอินทรีย์สาร เช่น เพ็คติน (pectin) เกิดเป็นแคลเซียมเพ็คเตท ทำหน้าที่สำคัญในการแบ่งเซลล์ การยืดขยายตัวของเซลล์และเป็นที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ แคลเซียมจากแคลเซียมเพ็คเตท จะแยกตัวออกมาอยู่ในรูปแคลเซียมอิสระ (Ca²⁺) ได้อีกเพื่อทำหน้าที่ควบคุมการสุกของพืชผักและผลไม้รวมทั้งการผลัดใบในระยะเวลาที่เหมาะสม

หน้าที่ของกำมะถันในพืช

กำมะถันเป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโน (amino acid) ที่สำคัญ 3 ชนิดได้แก่ ซีสตีน (cystine), เม็ธทิโอนีน (methionine) และซีสเตอีน (cysteine) ซึ่งเป็นหน่วยหลักเพื่อใช้สังเคราะห์โปรตีน  นอกจากนี้ยังพบว่าไวตามินหลายชนิดมีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ เช่น ไบโอติน (biotin) และไทอามีน (thiamine) อนึ่งสารประกอบที่ทำให้เกิดกลิ่นในหอมและกระเทียมที่มีชื่อเรียกว่า ซัลโฟไซด์ (sulphosides) และกลูโคไซด์ซึ่งพบสูงในมัสตาร์ด มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบเช่นกัน เม็ดสีคลอโรพลาสท์ ซึ่งภายในประกอบด้วยคลอโรฟิลเป็นแหล่งที่พบกำมะถันสะสมอยู่มาก  ดังนั้นเมื่อพืชขาดกำมะถันปริมาณคลอโรฟิลจึงลดลงทำให้มีใบสีเหลืองซีด

โดยสรุปถึงความสำคัญในอนาคตทางด้านการเกษตรของยิบซั่มแล้วจะเห็นว่ายิบซั่มเป็นสารปรับปรุงดินช่วยแก้ดินเค็ม ปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดิน ยิบซั่มยังเป็นแหล่งที่ให้ธาตุอาหารรองคือ แคลเซียม และกำมะถัน แม้ว่าจะเป็นสารธรรมชาติหรือผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี โรงกำจัดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ยิบซั่มคงจะเพิ่มบทบาทของการเกษตรต่อไปในรูปของสารปรับปรุงดินและแหล่งของธาตุอาหารรอง คือ แคลเซียม (Ca) และกำมะถัน (S)

เอกสารอ้างอิง

ปรีดา  พากเพียร  และพิชิต  พงษ์สกุล 2535 บทบาทของธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมที่มีต่อผลผลิตและคุณภาพของพืชสวน เอกสารวิชาการ 001 กองปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษตร