รากสะสมอาหารของปทุมมา

ผลของจำนวนและความยาวของรากสะสมอาหารของปทุมมาต่อการเกิดหัวใหม่

ปทุมมาเป็นพืชหัวที่กำลังได้รับความนิยมโดยเฉพาะจากตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น  โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นไม้ตัดดอกและไม้กระถาง  ผู้ส่งออกหัวปทุมมาไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ได้รับการร้องขอจากผู้นำเข้าว่าต้องการเฉพาะหัวปทุมมาที่มีรากสะสมอาหารสั้น และมีจำนวนรากไม่ต่ำกว่า 5 ราก  โดยเหตุผลที่สำคัญของความต้องการเฉพาะหัวปทุมมาที่มีรากสะสมอาหารที่มีขนาดสั้นก็เนื่องจากว่าทำให้การปลูกลงในกระถางเป็นไปได้ง่ายขึ้นเมื่อปลูกลงในกระถางนั่นก็คือที่มาของงานวิจัยในครั้งนี้

ทดลองปลูกหัวปทุมมาที่มีขนาดหัวเฉลี่ย 2-12 ซม. มีความยาวเฉลี่ยของรากสะสมอาหาร 2 กลุ่มคือ กลุ่มสั้นยาว 6.2 ซม. และกลุ่มยาวยาว 10.1 ซม. โดยแต่ละกลุ่มย่อยมีจำนวนรากสะสมอาหารต่าง ๆ กันคือ 0,1,3,5,7 และ 9 ราก พบว่า

1.  หัวที่มีรากสะสมอาหารที่สั้นและมีจำนวนตั้งแต่ 3 รากขึ้นไป อัตราการงอกจะเร็วตามจำนวนรากที่เพิ่มขึ้น

2.  ปทุมมาที่ไม่มีรากสะสมอาหารหรือมีเพียง 1 ราก จะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้ากว่ากลุ่มที่มีรากสะสมอาหารตั้งแต่ 3 รากขึ้นไป  เมื่อตั้งตัวได้แล้วการพัฒนาจะไม่แตกต่างกันมากนัก  กลุ่มที่ไม่มีรากสะสมอาหารเลยในกลุ่มรากสะสมอาหารสั้นสามารถพัฒนาได้ทันกลุ่มที่ไม่มีรากสะสมอาหารจำนวนต่าง ๆ ได้ แต่ในกลุ่มรากสะสมอาหารยาวอัตราการเจริญของกลุ่มที่ไม่มีรากสะสมอาหารเจริญเติบโตได้ดีกว่ากลุ่มที่มีรากสะสมอาหารอย่างเห็นได้ชัด

3.  หัวที่มีรากสะสมอาหารสั้นจะให้หัวใหม่ที่มากกว่าและให้ดอกได้เร็วกว่าหัวที่มีรากสะสมอาหารที่ยาว แต่จำนวนหัวใหม่ที่ได้นั้นไม่ขึ้นกับจำนวนรากสะสมอาหารแต่อย่างใด

อดิศร  กระแสชัย

ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่