ราชพฤกษ์

(Golden Shower Tree)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula L.
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE – CAESALPIN101DEAE
ชื่ออื่น คูน ชัยพฤกษ์ ลมแล้ง
ถิ่นกำเนิด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอเมริกา
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 8-15 ม. ขนาดทรงพุ่ม 4-6 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมหรือรูปไข่ แผ่กว้าง เปลือกต้นเรียบ สีเทาอ่อน ต้นที่โตเต็มที่เปลือกสีนํ้าตาลเข้ม แตกไม่เป็นระเบียบ


ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 30-40 ซม. ใบย่อย 4-10 คู่ เรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง 4-8 ซม. ยาว 7-15 ซม. ปลายใบแหลมโคนใบมนขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบบาง แต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวเรียบ
ดอก สีเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะที่กิ่งแก่และซอกใบ ช่อดอกห้อย ยาว 20-45 ซม. ดอกย่อยรูปดอกหางนกยูง กลีบเลี้ยง 5 กลีบรูปรีแกมรูปไข่ สีเขียวอ่อน ด้านนอกมีขนสั้นๆ กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่หรือรูปไข่กลับ เกสรเพศผู้ 10 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 5-8 ซม. ออกดอกเดือน ก.พ.-พ.ค.


ผล ผลแห้ง เป็นฝักทรงกระบอก กว้าง 1.5-2.5 ซม. ยาว 20-60 ซม. สีเขียวสด เมื่อสุกสีน้ำตาลดำ เมล็ดรูปร่างแบนมน มีกลิ่นเหม็นหืน สีนํ้าตาลเป็นมันจำนวนมาก ติดผลเดือน เม.ย.-ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วทุกภาคของไทย
การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้สีแดงแกมเหลือง เสี้ยนสน ค่อนข้างหยาบ แข็ง ทนทานใช้ในการก่อสร้างต่างๆ เนื้อไม้และเปลือก ใช้ฟอกหนัง
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ฝัก เป็นยาระบาย บรรเทาอาการ แน่นหน้าอก แก้ลม ดอก แก้ไข้ เป็นยาระบาย เปลือกและใบบดผสม ทาฝี และเม็ดตามร่างกาย ใบ ต้มรับประทานเป็นยาระบาย ราก ฝนทารักษา ขี้กลากและเป็นยาระบาย
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำประเทศไทย
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย