ลองกอง:การควบคุมหนอนกินใต้ผิวเปลือกลองกองด้วยไส้เดือนฝอย

วัชรี  สมสุข  และสุทธิชัย  สมสุข

“กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการค้นคว้าวิจัยหาแนวทางป้องกันกำจัดหนอนชอนเปลือกลองกองทดแทนการใช้สารเคมี โดยมีการนำไส้เดือนฝอย “Steinernema carpocapsae” มาใช้สามารถควบคุมหนอนได้ผลดี”

ผู้ที่ได้ลิ้มรสลองกองมักจะติดใจในความหอมหวานและรสชาติที่แปลกไปกว่าผลไม้ชนิดอื่น ทำให้ลองกองเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างไม่จำกัดปริมาณ ปัจจุบันลองกองจัดเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่ทำรายได้ดีแก่เกษตรกรผู้ปลูก พื้นที่ปลูกมีแนวโน้มขยายเพิ่มขึ้นตามลำดับ ปัญหาหลักอย่างหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับเจ้าของสวนลองกองคือ การป้องกันกำจัดหนอนกินใต้ผิวเปลือกหรือหนอนชอนเปลือกซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดคือ

ชนิดแรก มีขนาดใหญ่ ลำตัวหนอนเมื่อโตที่สุดยาวประมาณ 4 ซม. มีสีแดงอมชมพูหรือน้ำตาลแดง หนอนเข้าดักแด้อยู่ใต้เปลือกของกิ่งและลำต้น ดักแด้ยาวประมาณ 1-6 ซม. สีน้ำตาล อายุดักแด้ 11 วัน ผีเสื้อมีสีน้ำตาลเทา วัดความกว้างของปีกเมื่อกางออกประมาณ 4 ซม. ตัวเมียวางไข่ได้ถึง 800-1,000 ฟอง

ชนิดที่สอง  มีขนาดเล็กกว่าชนิดแรก ลำตัวหนอนยาวเพียง 1.5 ซม. มีสีขาวครีม หัวสีน้ำตาล หนอนเคลื่อนที่ว่องไว เมื่อถูกรบกวนจะสร้างใยและทิ้งตัวลงดิน เข้าดักแด้ใต้ผิวเปลือก มีใยสีขาวหุ้มยาวประมาณ 1 ซม. เข้าดักแด้ 8 วัน จึงจะออกเป็นตัวผีเสื้อ ปีกทั้ง 2 คู่จะมีสีเขียวอ่อน ปีกเมื่อกางออกทั้งสองข้างวัดได้กว้างราว 2 ซม. วงจรชีวิต 1 เดือน

หนอนทั้ง 2 ชนิดนี้จะกัดกินในเนื้อไม้ลึกประมาณ 2-8 มม. จากใต้ผิวเปลือก นอกจากลองกอง ลางสาดแล้วมันยังทำลาย ลิ้นจี่ สะตอ แต่ผลกระทบต่อการติดผลของลองกองและลางสาดจะเห็นชัดกว่า เพราะโดยธรรมชาติตาดอกจะแทงออกตามลำต้นและกิ่งใหญ่ ฉะนั้นเกษตรกรต้องหมั่นดูแลมิให้เกิดการทำลายของหนอนรุนแรงถึงระดับก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต

แนวทางในการป้องกันกำจัด

หนอนกินใต้ผิวเปลือกทั้งสองชนิดนี้ถูกพบว่ามันอยู่คู่กับสวนลองกองมาเป็นเวลาช้านาน แต่มีปริมาณที่ไม่สูงจนกระทบกระเทือนต่อผลผลิต มีเกษตรกรบางท่านยังเข้าใจว่าหนอนเหล่านี้มีส่วนกระตุ้นในการติดดอกด้วยซ้ำ ศัตรูธรรมชาติก็มีส่วนช่วยควบคุมประชากรหนอนได้ในระดับหนึ่ง เช่น นก กระถิก กระแต ซึ่งจะมาเก็บหนอนกินเป็นอาหาร ต่อมาเมื่อมีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น และการควบคุมโดยสภาพธรรมชาติมีไม่เพียงพอ เกิดมีการระบาดของหนอนกินใต้ผิวเปลือกจนกระทั่งต้องทำการป้องกันกำจัด สารกำจัดแมลงที่ใช้ส่วนมากเป็นประเภทดูดซึม เช่น โมโนโครโตฟอส เมธามิโดฟอส ส่วนการใช้สารเคมีชนิดถูกตัวตายนั้นไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากหนอนซ่อนอยู่ใต้ผิวเปลือก การพ่นสารกำจัดแมลงควรจะระมัดระวังและป้องกันไม่ให้ละอองสารเคมีตกลงมาถูกตัว และควรคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจได้รับพิษจากสารเคมีที่พ่นด้วย

จากปัญหาเหล่านี้ กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตรทำการค้นคว้าวิจัยหาแนวทางเพื่อนำมาทดแทนการใช้สารเคมี ในปี 2528-29 ได้มีการทดลองนำไส้เดือนฝอยซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า

Steinernema carpocapsae ซึ่งทำลายเฉพาะแมลงไม่มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มาควบคุมหนอนกินใต้ผิวเปลือก ผลการวิจัยพบว่า ใช้ไส้เดือนฝอยอัตรา 40 ล้านตัวต่อน้ำ 1 ปี๊บ พ่นตามส่วนของลำต้นและกิ่งใหญ่ที่ถูกหนอนทำลายในตอนเย็น สามารถควบคุมหนอนได้ผลดี จึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้และไม่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมต่อมาเทคโนโลยีการใช้ไส้เดือนฝอยควบคุมแมลงศัตรูพืชรวมทั้งการผลิตขยายไส้เดือนฝอยให้ได้ปริมาณมากเพื่อใช้กำจัดแมลงในพื้นที่กว้างใหญ่ได้ถ่ายทอดให้เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อนำไปเผยแพร่สู่เกษตรกร ขณะเดียวกันมีภาคเอกชนได้ขอรับเทคโนโลยีผลิตไส้เดือนฝอยเป็นการค้าเพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไป

ปัญหาการนำไส้เดือนฝอยควบคุมหนอนกินใต้ผิวเปลือก

หลังจากได้มีการเผยแพร่เทคโนโลยีการนำไส้เดือนฝอยไปใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูลองกอง ลางสาด ผู้เขียนพยายามติดตามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงที่เกิดขึ้น ซึ่งพอจะกล่าวได้ดังนี้

1.  ปัญหาเกี่ยวกับเทคนิคการใช้ เกษตรกรได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการใช้ไส้เดือนฝอยปราบแมลงมากขึ้น แต่ความรู้ความเข้าใจถึงเทคนิคการใช้นั้นยังไม่เพียงพอ ผู้เขียนเลยถือโอกาสเปรียบเทียบวิธีการใช้สารเคมี ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่รู้จักดีกับวิธีการใช้ไส้เดือนฝอย ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมองภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

สารเคมี ไส้เดือนฝอย
1.1  สารเคมีที่มีประสิทธิภาพจะออกฤทธิ์เร็วทันใจทำให้แมลงตายภายใน 3 ชม. เนื่องจากเป็นสิ่งมีชีวิต หลังจากพ่นแล้วหนอนจะต้องกินเข้าไปและใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด 1 วัน จึงจะทำให้หนอนอ่อนแอและตายในที่สุด
1.2  วิธีการใช้ง่าย สะดวก เพียงแต่ผสมสารเคมีกับน้ำในถังฉีดตามอัตราที่บอกไว้ในฉลาก เมื่อฉีกปากซองออก จะเห็นก้อนฟองน้ำชิ้นเล็กๆ ภายในมีไส้เดือนฝอยอาศัยอยู่มากมาย ฉะนั้นต้องขยำฟองน้ำในน้ำเพื่อให้ไส้เดือนฝอยออกมาอยู่ในน้ำเสียก่อนจึงจะนำไปพ่นกำจัดแมลง
1.3  การพ่นนั้นจะต้องให้สารเคมีฟุ้งกระจายครอบคลุมทั้งต้นกลิ่นและฤทธิ์ของมันจะทำให้หนอนออกมานอกเปลือกและตายให้เห็น การพ่นนั้นควรปรับหัวฉีดให้มีมุมการพ่นแคบและจี้หัวฉีดไปยังจุดบนต้นและกิ่งที่ถูกหนอนทำลาย นอกจากประหยัดแล้วแต่ละจุดมีปริมาณไส้เดือนฝอยมากพอที่จะไชชอนเข้าไปหาหนอนซึ่งอยู่ใต้ผิวเปลือกและจะต้องแกะเปลือกไม้ออกมา จึงจะเห็นหนอนตาย
1.4  การพ่นสารเคมีเพียงครั้งเดียว อาจลดประชากรหนอนไม่เพียงพอต้องมีการพ่นซ้ำอีก การพ่นไส้เดือนฝอยก็เช่นเดียวกัน ควรพ่นซ้ำ 2-3 ครั้ง
1.5  สารกำจัดแมลงสามารถเก็บได้นานในอุณหภูมิห้องธรรมดา โดยมีประสิทธิภาพคงเดิม ไส้เดือนฝอยจะต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น มีอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 7-10°C(ห้ามแช่แข็ง) และไม่ควรเก็บนานเกินกว่า 3 เดือน

 

สิ่งที่ควรคำนึง  ก็คือการใช้สารเคมีหรือใช้ไส้เดือนฝอยในการควบคุมแมลงศัตรูพืช ไม่สามารถที่จะกำจัดหนอนให้หมดสิ้นไปได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นการใช้วิธีการอื่นๆ มาร่วมกับวิธีการนี้จะเป็นการเสริมให้การควบคุมแมลงศัตรูพืชมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

2.  ปัญหาเกี่ยวกับการผลิตไส้เดือนฝอยเป็นปริมาณมาก

ภาคเอกชนที่ได้รับเทคโนโลยีดังกล่าวไปทำการผลิตไส้เดือนฝอยจำหน่ายให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจประสบปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนซึ่งค่อนข้างจะสูง จึงต้องจำหน่ายในราคาค่อนข้างแพง ฉะนั้นสถานการณ์ใช้ไส้เดือนฝอยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชเฉพาะในพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น ลองกองและไม้ดอก เป็นต้น กรมวิชาการเกษตรได้เล็งเห็นปัญหานี้ ซึ่งขณะนี้ก็ได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาการผลิตไส้เดือนฝอยในเชิงอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนให้ต่ำลง จนสามารถนำไปใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชอื่นๆได้

นอกจากนี้การใช้ไส้เดือนฝอยควบคุมแมลงเป็นสิ่งใหม่ในวงการเกษตรของไทย เอกชนผู้ผลิตไม่มีข้อมูลที่แน่นอนเกี่ยวกับความต้องการของตลาด การผลิตไส้เดือนฝอยเป็นปริมาณมากและเก็บรักษาไว้เพื่อรอจำหน่ายนั้นอาจเสี่ยงต่อการเสื่อมคุณภาพ ถ้าเก็บไว้นายจะทำให้ต้นทุนสูงอีกด้วย ดังนั้นผู้ผลิตจำเป็นต้องผลิตตามรายการที่สั่งซื้อจากลูกค้า ในกรณีที่มีหนอนระบาดมาก ก็มีการสั่งซื้อจำนวนมาก การผลิตก็จะไม่ทันกับความต้องการของเกษตรกร เนื่องจากเทคโนโลยีในการผลิตนั้นยังมีขีดความสามารถจำกัด สำหรับแนวทางแก้ปัญหา ผู้ผลิตควรประสานงานกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเพื่อสำรวจและทำแผนร่วมกับเกษตรกรในการใช้ไส้เดือนฝอยของแต่ละช่วงเวลาในรอบปีล่วงหน้าเพื่อจะได้มีไส้เดือนฝอยเพียงพอในการควบคุมแมลง

3.  ปัญหาคุณภาพของไส้เดือนฝอย

ไส้เดือนฝอยที่จะนำไปใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชให้ได้ผลดีนั้น จะต้องมีคุณภาพตามมาตรฐาน การขนส่งไส้เดือนฝอยจากแหล่งผลิตคือ กรุงเทพฯไปยังชาวสวนลองกอง ซึ่งอยู่ตามจังหวัดห่างไกลออกไป บางครั้งอาจเกิดข้อผิดพลาดเกี่ยวกับอุณหภูมิ การเก็บรักษา ทำให้ไส้เดือนฝอยตาย อ่อนแอ ประสิทธิภาพลดลง เกษตรกรใช้ไม่ได้ผล ดังนั้นบริษัทผู้ผลิตควรจะรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น โดยตรวจประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา และในต่างจังหวัดควรมีตัวแทนจำหน่ายซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพของไส้เดือนฝอยเสียก่อนที่จะจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ในบางกรณีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรอาจช่วยในการตรวจสอบได้

การริเริ่มในการนำเทคโนโลยีแนวใหม่สู่เกษตรกรโดยเฉพาะการใช้ไส้เดือนฝอย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชนั้นย่อมต้องการเวลาระยะหนึ่งในการยอมรับและเข้าใจ ส่วนข้อมูลและปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น จะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิจัยและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทางด้านนี้จะได้นำไปแก้ไข้ ปรับปรุง และพัฒนาให้เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ไม่ว่าทางด้านการปรับต้นทุนในการผลิตและเทคนิคการใช้ในอนาคต โดยมุ่งหวังเพื่อให้การใช้ชีววิธีได้แพร่หลายไปสู่เกษตรกรมากขึ้น ซึ่งตรงกับเป้าหมายหลักในการที่จะช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีที่เป็นพิษทางการเกษตร ให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น และช่วยจรรโลงสิ่งแวดล้อมอันส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของมวลมนุษย์นั่นเอง