ลักษณะทั่วไปของดอกหน้าวัว

หน้าวัวเป็นไม้ดอกที่มีความสำคัญ ตลาดต้องการมาก หน้าวัวออกดอกทั้งปี ซึ่งต่างจากดอกไม้ชนิดอื่นที่ออกดอกเพียงครั้งคราว และคุณสมบัติของดอกดีกว่าชนิดอื่น คือสามารถรอตลาดได้นานวัน ดังนั้นหน้าวัวจึงเป็นไม้ตัด ดอกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีสีสดงดงาม ใช้ดอกเป็นประโยชน์ในการตบแต่ง หรือปลูกเป็นไม้ประดับในร่ม หน้าวัวมีชื่อ วิทยาศาสตร์ว่า Anthurium sp. เป็นไม้พื้นเมืองของอเมริกาใต้ อยู่ในตระกูล Avaceae หรือ Arum family คำว่า Anthurium มาจาก ภาษากรีก 2 คำ คือ anthos แปลว่าดอก และ anra แปลว่า หาง ซึ่งหมายถึงปลีหรือช่อดอกของหน้าวัว

หน้าวัวเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ.2440 ต่อมาปี 2446 พระยาพจนปรีชาได้สั่งมาจากยุโรป ต่อจากนั้นผู้ที่เลี้ยงหน้าวัวได้ผสมพันธุ์เกิดลูกผสมมากมาย มีชื่อพันธุ์ต่าง ๆ ตามผู้ที่ผสมขึ้นและมักบดบังพ่อแม่พันธุ์ ทั้งนี้ เพราะลูกผสมพันธุ์ใหม่มีลักษณะที่ดีมีราคาแพงมาก ดังนั้น ถ้าผู้อื่นทราบพ่อแม่พันธุ์และทำการผสมพันธุ์ขึ้นเอง ทำให้ราคาของลูกผสมที่ตนผสมขึ้นใหม่ราคาตก จากเหตุผลนี้ทำให้การปลูกเลี้ยงหน้าวัวในประเทศไทยมีวงจำกัดไม่แพร่หลายมาก เพราะราคาต้นพันธุ์สูง และเอกสาร ต่าง ๆ ในเรื่องหน้าวัวมีน้อยมาก ทำให้ประชาชนไม่รู้จักหน้าวัว มักเข้าใจกันว่าหน้าวัวเป็นไม้ที่เลี้ยงยาก ซึ่งความจริงแล้วหน้าวัวเป็นทั้งไม้ดอกและไม้ประดับที่เลี้ยงง่ายมาก หากมีความรู้เกี่ยวกับหน้าวัวพอสมควร คงมีผู้ปลูกหน้าวัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำรายได้ให้แก่ผู้ปลูก และถ้ามีมากพอก็จะเป็นไม้เศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ซึ่งจะเป็นไม้ตัดดอกส่งนอกได้ดีชนิดหนึ่งทีเดียว

ลักษณะทั่วไปของหน้าวัว

ต้น หน้าวัวเป็นพืชพวก herbacesus ลำต้นค่อนข้างไปทางไม้เลื้อย เนื้ออ่อน การเจริญมีลักษณะเป็นกอ ต้นจะโตสูงขึ้น ทิ้งใบล่าง ทำให้ลำต้นสูงขึ้นพ้นเครื่องปลูก ถ้าต้นมีลักษณะเช่นนี้จำเป็นต้องเติมเครื่องปลูกให้แก่หน้าวัว หรือหากไม่เติมเครื่องปลูก ผู้ปลูกจำเป็นต้องตัดยอด นำไปปลูกในกระถางใหม่ มิฉะนั้นแล้ว หน้าวัวจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควรและดอกน้อย ลง ต้นหน้าวัวอาจสูงได้ถึง 80-100 เซ็นติเมตร กว้าง 60-90 เซ็นติเมตร แล้วแต่อายุของต้นหน้าวัว

ใบ ลักษณะเป็นรูปร่างต่าง ๆ กัน แต่ส่วนมากมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ใบของหน้าวัวบางชนิดมีใบสวยงามมาก ลักษณะคล้ายกำมะหยี่ ละเอียดเป็นมัน มีเส้นลายสีขาวเห็นเด่นชัด เหมาะใช้เป็นไม้ประดับ พันธุ์พวกนี้มีจานรองดอก เรียวยาวแคบสีเขียวไม่สวย ช่อดอกยาวชี้ พันธุ์พวกนี้ชอบอยู่ในที่มีความชื้นสูงและไม่ต้องการแสงมาก ถ้าได้รับแสงมากไป ขอบใบมักจะไหม้และไม่ค่อยเจริญเติบโต เส้นใบของหน้าวัวเป็นตาข่าย มีเส้นกลางและเส้นติดริมใบเห็น ชัด หน้าวัวต้นหนึ่ง ๆ จะมีใบประมาณ 4-8 ใบ ใบแตกออกจากลำต้นเป็นลักษณะ alternate ก้านใบเป็นก้านเดียว เรียวกลม ยาว มีสีต่างกันไปตามพันธุ์เช่น สีเขียวแก่ เขียวอ่อน เขียวปนแดง โคนก้านใบมีกาบใบ

ดอก เกิดจากตาอยู่เหนือก้านใบ ภาษาสามัญเรียกดอกหนาวัวว่า tail

flower ประกอบด้วยปลี (spadir) และจานรองดอก (spathe) จานรองดอกมีลักษณะคล้ายใบติดที่โคนปลีมีขนาดของส่วนยาวมากกว่าส่วนกว้าง จานรองดอกจะเล็กหรือใหญ่อยู่ที่อายุ สี ของจานมีสีต่าง ๆ เช่น ขาว แดง ชมพู ส้ม พันธุ์ไม้เดิม ช่อดอกมีโคนใหญ่ ขนาดรอบวง 2.5- 3.5 ซม. และเรียวปลายยาวตั้งแต่ 5-10 ซม. ดอกแต่ละดอกเรียงอัดแน่นติดต่อกัน ลักษณะดอกอยู่ในประเภท perfect flower มีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ดอกจะบานหลังจากจานคลี่ประมาณ 2-3 วัน ดอกจะเริ่มบานจากโคนปลีเป็นลำดับจนสุดปลี และเกสรตัวเมียจะแก่ก่อน ดังนั้นโอกาสที่หน้าวัวจะผสมตัวเองมีไม่มาก

ราก เป็น advenitious root เกิดใต้ไบ รากใหม่ในตอนแรกจะอุ้มน้ำได้มากต่อไปจะแข็งเหนียวขึ้นตามอายุ ถ้าไม่หยั่งลงในเครื่องปลูก ก็จะงอแข็งกร้านและไม่ช่วยในการดำรงชีวิตของต้นต่อไป จึงต้องเติมเครื่องปลูกรอบ ๆ ต้น ให้เป็นที่จับของราก รากจะเจริญเติบโตต่อไป หน้าวัวที่ปลูกกันเป็นไม้ตัดดอก ที่นิยมกัน อยู่ 2 ชนิด คือ

1. Anthurium andraeanum ลำต้น ตั้งตรง ใบสีเขียว รูปหัวใจห้อย จานรองดอกเป็นรูปหัวใจ สีแดงเป็นมัน ปลีสีแดง หน้าวัวชนิดนี้มีหลายพันธุ์

Anthurium andraeanum album จานรองดอก สีขาว ปลีไม่ชี้ โคนสีขาว กลางปลีสีม่วงอ่อน ปลายสีแดง ใบเป็นมัน

Anthurium andraeanum gigantum จานรองดอกสีแดงเป็นมัน รอยย่นมาก ปลีสั้นและไม่ชี้ มีสีเหลืองแก่เมื่อดอกแก่จะมีสีขาว

Anthurium andraeanum rhodochlorum จานรองดอกใหญ่ สีชมพู

Anthurium andraearnum ruuum จานรองดอกใหญ่ย่น สีแดงเข้ม ปลีสีขาว ปลายสีเหลือง

2. Anthurium scherzerianum ใบค่อนข้างยาว คล้ายหอก สีเขียว จานรองดอกรูปไข่ สีแดงเข้ม ปลีโค้งงอ หน้าวัวชนิดนี้มีหลายพันธุ์ เช่น

Antherium scherzerianum mutabele จานรองดอกด้านหลังสีส้ม ด้านหน้าขาวจุดส้ม

Antherium scherzerianum mebulosum จานรองดอกสีแดง แต่ขอบขาว

Antherium scherzerianum rothschildca num จานรองดอกสีแดง จุดสีขาว

Antherium scherzerianum rorugucanum จานรองดอกสีส้ม จุดขาว

หน้าวัวปลูกกันในประเทศไทย ที่เป็นไม้ตัดดอกนั้น จานรองดอกที่มีสีแดงมันเป็นสีที่มีมากที่สุด นอกจากนั้นมีสีขาว ชมพู และแสด ซึ่งในแต่ละสีนั้นมีสีที่แตกต่างกันไป เช่น สีแดง สีแดงอ่อน ไปจนกระทั่งสีแดงแก่สีชมพู และสีแสดก็เช่นเดียวกัน มีชื่อพันธุ์ของหน้าวัวต่างๆ มากมาย เช่น

พันธุ์ที่มีจานรองดอกสีแดง มีพันธุ์จักรพรรดิ์ ดวงสมร กรุงธน นครธน กษัตริย์ศึก ธนบุรี นายพล จอมพล กรุงเทพฯ แดงนุกูล ดาราไทย ฯลฯ

พันธุ์ที่มีจานรองดอกสีส้ม ได้แก่พันธุ์ สุหรานากง ดาราทอง ผกาทอง ผกาวลี ผกามาศ โพธิ์ทอง ดาวทอง ประสาททอง ประไหมสุหรี บุษบา วิยะดา ฯลฯ

พันธุ์ที่มีจานรองดอกสีชมพู ได้แก่ พันธุ์ศรีสง่า ศรียาตรา จักรเพ็ชร ฯลฯ

พันธุ์ที่มีจานรองดอกสีขาว ได้แก่ พันธุ์ขาวนายหวาน ขาวพระสังขศาสตร์ ขาวเศวต ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า หน้าวัวในประเทศไทย มีชื่อพันธุ์ไพเราะต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเกิดจากนักเลี้ยงหน้าวัวได้ทำการผสมจนเกิดลูกผสมที่ดี เช่น

พันธุ์ดวงสมร เป็นพันธุ์ที่มีจานรองดอกสีแดงเป็นมันสวยงาม กล่าวคือ จานรองดอกเป็นรูปหัวใจ หูชิดเท่ากันทั้ง 2 ด้าน ร่องน้ำตาลึก (จานรองดอกย่น) ต่างจากของต่างประเทศ ซึ่งจานรองดอกค่อนข้างเรียบ ปลีสีเหลืองเมื่อแก่มีสีขาว ปลีดอกเกือบขนานกับจานรองดอก ตรงข้ามกับของต่างประเทศที่ปลีชี้ ในปัจจุบันต่างประเทศพยายามที่จะผสมให้ปลีขนานกับจานรองดอก เพื่อประโยชน์ในการหีบห่อ (pack­ing) ส่งต่างประเทศ เพราะการที่ปลีชี้ถูกกระทบกระเทอนขีดข่วนง่าย ทำให้ดอกเสียคุณภาพไป พันธุ์นี้พระวรนาทวินิจฉัยเป็นผู้ผสมพันธุ์ แต่นายเจือ บุตรชาย เป็นผู้เลี้ยงต่อมาจนกระทั่งออกดอก พันธุ์นี้เป็นที่นิยมกันทั่วไป เหมาะเป็นไม้ตัดดอกและเป็นไม้ประกวด จำนวนดอก เฉลี่ย 6-8 ดอกต่อต้นต่อปี

พันธุ์จักรพรรดิ์ เป็นพันธุ์ที่มีจานรองดอกสีแดงเช่นกัน แต่ต่างจากสีแดงของพันธุ์ดวงสมร คือดวงสมรสีแดงเข้ม แต่จักรพรรดิ์สีแดงเลือดนก หรือสีแดงแสด พันธุ์นี้ลักษณะของดอกสู้พันธุ์ดวงสมรไม่ได้ คือรูปร่างของจานรองดอกเป็นรูปสามเหลี่ยม หูกางไม่ชิด และยกไม่สูง แต่ได้สมดุลย์ทั้ง 2 ข้าง ร่องน้ำตาไม่ลึก ปลีสีเหลืองเมื่อแก่มีสีขาวค่อนข้างชี้ พันธุ์นี้ได้เปรียบกว่าพันธุ์ดวงสมร คือก้านดอกอวบใหญ่แข็งแรง เลี้ยงง่ายและเจริญเติบโตดี ไม่ค่อยมีโรค แมลงรบกวน ทนแดดดีกว่าดวงสมร ผลผลิตค่อนข้างสูงกว่าเล็กน้อย คือ 6-9 ดอกต่อต้นต่อปี

พันธุ์แดงนุกูล สีแดงเข้ม รูปร่างของจานรองดอกเป็นรูปหัวใจ ร่องน้ำตาลึกหยาบ ปลายกระดก หูชิดปลายโค้งยาว สีเหลือง เมื่อแก่มีสีขาว มีเกสรตัวผู้เหมาะสำหรับใช้เป็นพ่อพันธุ์ การเจริญเติบโตช้ารากน้อย

พันธุ์กษัตริย์ศึก จานรองดอกสีแดงเข้ม มีทรงแบนรูปไข่ยาว ปลายกระดก ร่องน้ำตาลึก หูตั้งปลีชนิดปลีกด สีเหลืองเมื่อแก่จะมีสีขาว ก้านดอกเล็กสีเขียว มีสีแดงปน ใบคล้ายจักรพรรดิ์

พันธุ์กรุงธน จานรองสีแดง มีรูปทรงรูปหัวใจกลม ร่องน้ำตาลึก หูชิด ลักษณะคล้ายดวงสมร แต่ฐานของโคนปลีอยู่ค่อนตรงกลางมากกว่า จานรองดอกมักหยักอยู่ข้างหนึ่ง ปลีมีสีเหลืองเมื่อแก่มีสีขาว ปลายปลีมีสีเหลืองอม เขียว

พันธุ์นครธน จานรองดอกสีแดงเข้ม มีรูปร่างแบบรูปหัวใจ สวยงามมาก ร่องน้ำตาลึกปานกลาง หูตั้งขนานกับจานรองดอก ก้านดอกยาว

พันธุ์หน้าวัวที่มีชื่อเกี่ยวกับธน เป็นลูกผสม ของนายแป๊ะฮั้ว เช่น นครธน ธนบุรี กรุงธน และมีพันธุ์ศรีสง่า ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีจานรองดอกสีชมพู พันธุ์นี้มีรากน้อย ข้อยาว ใบเก้งก้าง การแตกใบ และดอกไม่แน่นอน สีของจานรองดอกซีดง่าย ร่องน้ำตาละเอียด หูชิด ปลีงอ

พันธุ์ผกามาศและพันธุ์ผกาทอง สองพันธุ์นี้ พระวรนาทวินิจฉัยเป็นผู้ผสมพันธุ์ เช่นเดียวกับดวงสมร ลักษณะแตกต่างกันไปมากนัก พันธุ์ผกาทองรูปร่างของจานรองดอกค่อนข้างเป็นรูปไข่ยาวรี ร่องน้ำตาละเอียดเล็ก ส่วนผกามาศรูปร่างค่อนข้างกลมกว่าร่องน้ำตาลึก ทั้ง 2 พันธุ์ หูตั้งเล็กน้อย ผลผลิต 6 ดอกต่อต้นต่อปี พันธุ์ผกามาศแตกเป็นกอมากกว่า รากมีน้อย จึงขยายพันธุ์ได้ช้ากว่าที่ควร

พันธุ์ดาราทอง จานรองดอกสีส้ม รูปร่างรูปไข่ยาว ร่องน้ำตาลึก พันธุ์นี้มีลักษณะจานรอง ดอกมักบิดเบี้ยวง่ายถ้าการเลี้ยงดูไม่ดี พันธุ์นี้ถ้าตัดต้นปลูกขณะต้นไม่โตนัก จะแตกกอได้ง่ายและมาก จึงขยายพันธุ์ได้เร็ว

พันธุ์สุหรานากง จานรองดอกสีส้มสด ร่องน้ำตาลึก หูตั้งชิดแนบกัน ปลีขนานกับจานรองดอก สีเหลืองเมื่อแก่มีสีขาว ก้านดอกแข็ง พันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่คุณอำนวย เสถียรสุดาผสม นับเป็นพันธุ์ที่สวยงามมาก เหมาะเป็นไม้ตัดดอกได้ดี

พันธุ์โพธิ์ทอง จานรองดอกมีสีส้มอมแดง มีรูปทรงรูปไข่ ร่องน้ำตาลึก หูดอกตั้งแนบชิด ก้านดอกยาวแข็งแรง ปลีสีเหลืองชี้ทำมุม ประมาณ 20° เป็นพันธุ์ที่ดีพันธุ์หนึ่ง

พันธุ์ประไหมสุหรี จานรองดอกสีส้ม ร่องน้ำตาลึก หูยกสูงตั้งแต่ 2 ข้างไปชิดแนบกับปลี ขนานกับจานรองดอก พันธุ์นี้เลี้ยงค่อนข้างยาก

พันธุ์ผกาวลี เป็นพันธุ์ที่มีจานรองดอกสีส้ม รูปทรงค่อนข้างเป็นรูปหัวใจ ร่องน้ำตาลึกปานกลาง หูตั้งเล็กน้อย ก้านดอกอ่อน

พันธุ์ศรียาตรา จานรองดอกสีชมพู ร่องน้ำตาลึก หูตั้งแนบชิด รูปทรงของจานรองดอกรูปไข่ ปลีขนานกับจานรองดอก ปลีสีเหลืองแต่มีสีขาว

พันธุ์ขาวนายหวาน จานรองดอกสีขาว มีรูปทรงรูปหัวใจ ร่องน้ำตาตื้น หูของจานรองดอกยกเล็กน้อย ปลีชี้ มีสีเหลือง เมื่อแก่มีสีขาว ก้านดอกแข็งแรง พันธุ์นี้นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอกทั่วไป

การปลูกหน้าวัวอย่างไรจึงจะได้ผลดีนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น การปลูก การดูแลปฎิบัติรักษา ซึ่งรวมไปทั้งแสง อุณหภูมิ ความชื้น ซึ่งจะรวมไปทั้งโรงเรืยน เครื่องปลูก ปุ๋ย ฯลฯ