ลักษณะสมุนไพรตะขาบบิน


ชื่อ
จีนเรียก      ปวยเทียงแง่กังเช่า  แง่กังเช่า  Homaloclaium platycladum (F.Muell) Bailey

ลักษณะ
อยู่ในประเภทไผ่ เป็นพืชที่ชาวบ้านมักปลูกในบ้าน เพื่อทำเป็นยา เป็นพืชยืนต้นสูงประมาณ 4-5 ฟุต โคนต้นที่แก่มีลักษณะกลมสีโกโก้ ไฟเบอร์เหนียว ต้นที่ยังอ่อนอยู่สีเขียวลักษณะแบน กว้าง 3-4 หุน มีเส้นนูนขึ้นตามยาวของต้น เมื่อต้นโตสูงขึ้น ลำข้อก็สั้นลงทำให้ดูคล้ายตัวของตะขาบ ใบคู่ลักษณะยาวแคบ บางใบก็เป็นรูปขนมเปียกปูน ยาว ประมาณ 1 นิ้ว บางทีก็มีแต่ต้นไม่มีใบ ออกดอกจากลำข้อเป็นดอกเล็กๆ สีเขียวบ้างแดงบ้าง ก้านดอกสั้นมาก และออกดอกรูปสามเหลี่ยม เล็กๆ สีแดงคล้ำ เมล็ดลูกเนื้อหนาและมีรสหวาน

รส
รสหวาน ธาตุไม่ร้อนไม่เย็น ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
แก้ร้อนใน ประสะเลือด ดับพิษ ฟอกปอด ใช้ภายนอกระงับปวด ฤทธิ์ เข้าถึงหัวใจและม้าม

รักษา
แก้ไอเนื่องจากปอดร้อน เจ็บคอ ฝีในปอด คัดทรวงอก ใช้ภายนอก
แก้โรคผิวหนังผื่นเจ็บคัน เนื่องจากธาตุนํ้ามาก งูสวัด ฝีตะมอย เด็กมี ผื่นร้อนพิษขึ้นตามตัว

ตำราชาวบ้าน
1. ไอเพราะปอดร้อน – ตะขาบบิน 1 ตำลึง ต้มกับนํ้าตาลแดง
2. ปอดร้อนเจ็บคอ – ตะขาบบิน 1 ตำลึง ต้มกับน้ำตาลแดงหรือต้มกับยาเย็น 1ตำลึง หรือต้มกับหญ้าลิ้นเป็ด ครึ่งตำลึง
3. ฝีในปอดระยะแรก – ตะขาบบิน 1 ตำลึง ตำไห้แหลกเอานํ้าผสม ชาด 1 เฉียน ชงน้ำผึ้ง รับประทาน
4. คัดทรวงอก – ตะขาบบิน 1 ตำลึง ตำแหลก ตุ๋นใส่เหล้ารับประทาน
5. ผิวหนังตุ่มพิษ ตะขาบบิน กับดอกแก้วเมืองจีน  ตำด้วยกันเอาน้ำทา
6. งูสวัด – ตะขาบบิน ตำแหลกผสมเหล้าทา
7. ฝีตะมอย -ตะขาบบิน ตำกับเหล้าพอก
8. ตุ่มพิษฝีขึ้นตามตัวและหน้าตาเด็ก – ตะขาบบิน 1 ตำลึง ต้มน้ำใส่ น้ำตาลแดงรับประทาน หรือต้มกับสายน้ำผึ้ง ครึ่งตำลึง รับประทานก็ได้

ปริมาณใช้
สดไม่เกิน 2 ตำลึง แห้งไม่เกินครึ่งตำลึง ใช้ภายนอกกะพอประมาณ

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช