ลักษณะและวิธีการป้องกันโรคราแป้งในกุหลาบ

โรค


1.  โรคราแป้ง (powdering mildew) โรคนี้เป็นโรคที่สำคัญโรคหนึ่งสำหรับกุหลาบ ที่ได้ชื่อว่า โรคราแป้ง  เนื่องจากเชื้อที่ทำให้เกิดโรคนี้มีลักษณะเป็นผงสีขาว ๆ คล้ายผงแป้งเคลือบอยู่บนผิวใบ  ทั้งด้านบนและด้านท้องใบ  เกิดขึ้นกับใบอ่อนของกุหลาบ เนื้อเยื่อส่วนที่ราเกาะอยู่จะพองออก (ชาวบ้านเรียกโรคใบพอง) ทำให้ใบบิดงอ  ถ้าเป็นมาก ๆ จะมองเป็นบริเวณที่เป็นโรคมีสีม่วงถึงดำ และร่วงหล่นไปในที่สุด  ทำให้ต้นแคระแกร็น  ถ้าเป็นกับดอกตูม ดอกจะไม่บาน  หากรานี้เกิดกับใบแก่  อันตรายไม่มากนัก  แต่ควรจะกำจัดโดยการตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคออก

ราที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ได้แก่ “เพฟโรธีค่า แพนโนซ่า ”(Sphaerotheca pannosa)  ระบาดมากในท้องที่ ๆ มีอากาศหนาวเย็นและมีน้ำค้างจัด แพร่เชื้อโดยสปอร์ปลิวไปตามลม  ป้องกันด้วยการฉีดพ่นด้วยกำมะถันผง  หรือกำมะถันผงชนิดละลายน้ำ  ซึ่งการใช้กำมะถันผงนี้  ถ้าใช้ในวันที่มีอากาศร้อนจะทำให้ใบไหม้  ดังนั้นควรฉีดพ่นในตอนเช้าหรือตอนเย็น หรืออาจจะใช้ยาอื่น ๆ ที่มีขายในท้องตลาด เช่น เบนเลท คาราเทน ก็ได้ผล