ลำพูทะเล


ชื่อวิทยาศาสตร์ Sonneratia alba J. Smith
ชื่อวงศ์ SONNERATIACEAE
ชื่ออื่น ลำแพน ลำแพนทะเล (กลาง) ปาด (พังงา, ภูเก็ต), รำป๊าด (สตูล)
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ แตกกิ่งระดับตํ่า เปลือกต้นสีนํ้าตาลอมชมพู หรือเทา รากหายใจตั้งตรงรูปกรวยคว่ำ


ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปไข่ถึงรูปไข่กลับ ขนาด กว้าง 3-7 ซม. ยาว 4-11 ซม. ปลายใบกว้าง กลม โคนใบรูปลิ่มแคบ ใบสีเขียวมีนวลเส้นใบกางออกกว้างเห็นไม่ชัด ก้านใบอวบสั้น ยาว 0.3-0.8 ซม.
ดอก ผิวด้านนอกสีเขียวอ่อนโคนกลีบด้านในสีแดง กลีบดอกจะเป็นรูปแถบ ออกดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง วงกลีบเลี้ยง เมื่อยังเป็นตาดอก รูปรีแกมรูปขอบขนาน โคนและปลายแคบ ยาว 2.8-3.5 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงรูปกรวยจากโคนที่เชื่อมติดกัน มีสันชัดเจน แฉกกลีบเลี้ยงหยักลึก 6-8 แฉก รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน หรือ รูปใบหอกแกมรูปไข่แฉก มักสั้นกว่าหลอด ก้านชูอับเรณูสีขาว ออกดอก เดือน มิ.ย.-ธ.ค.


ผล ผลมีเนื้อและมีเมล็ดขนาดเล็กหลายเมล็ด ฝังอยู่ในเนื้อผล ผลแข็งรูปกลม ด้านแนวนอนจะยาวกว่าด้านแนวตั้งขนาดกว้าง 4-5 ซม. ยาว 3-4 ซม. สีเขียว กลีบเลี้ยงแผ่บานออกและโค้งกลับ ออกผลช่วง เดือน ม.ค.-ก.ค.
นิเวศวิทยา พบบริเวณชายคลอง หรือชายฝั่งทะเล ที่มีดินเลน งอกใหม่
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ผลสุก มีรสเปรี้ยว กินแก้ท้องผูก ผลที่ยังไม่สุก มีรสฝาด ตำคั้นนํ้ารับประทานขับพยาธิ ขับเสมหะ ตำเป็นยาพอกแก้ปวด แก้บวม แก้เคล็ด ตำคั้นน้ำ หมัก แล้วใช้ทาแผล ห้ามเลือด
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย