ลำไย

(Lonngan)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dimocarpus longan Lour, subsp. longan
ชื่อวงศ์ SAPINDACEAE
ชื่ออื่น มะลำไย
ถิ่นกำเนิด จีนตอนใต้และอินเดีย
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 5-8 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม แน่นทึบ เปลือกต้น สีน้ำตาลหรือน้ำตาลเข้ม แตกสะเก็ดและหลุดล่อนเป็นแผ่นบาง


ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียนสลับ แกนกลางใบ ประกอบยาว 20-50 ซม. มีใบย่อย 2-4 คู่ เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูป ขอบขนาน กว้าง 3-5 ซม. ยาว 7-12 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบสอบ และเบี้ยวแผ่นใบบางแต่เหนียวสีเขียวเข้มเป็นมันผิวใบด้านล่างมีต่อม แบนๆ สีเข้มในซอกของเส้นแขนงใบ ผิวเรียบหรือมีกลุ่มขนกระจาย บนเส้นแขนงใบ


ดอก สีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง ช่อดอก ตั้งยาว 10-40 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ซ้อนกันและโคนเชื่อมติดกัน เป็นรูปถ้วย กลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบมีขนอ่อนๆ เกสรเพศผู้สีขาว 8-10 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.5-0.8 ซม. ออกดอกเดือน ก.พ.-มี.ค.
ผล ผลสดมีเนื้อ ทรงกลมหรือเบี้ยวเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2 ซม. สีเขียวอมน้ำตาล เมื่อสุกน้ำตาลอมเหลือง เปลือกผลบาง แต่ค่อนข้างเหนียว มีเนื้อใสๆ สีขาวอมชมพูห่อหุ้มเมล็ด เมล็ดสีน้ำตาล เข้มเรียบเป็นมัน 1 เมล็ดต่อผล ติดผลเดือน เม.ย.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ตอนหรือทาบกิ่ง
นิเวศวิทยา พบการปลูกเลี้ยงทั่วไป
การใช้ประโยชน์ ผลแก่ รับประทานเนื้อที่หุ้มเมล็ด มีรสจืดจนถึง หวานมาก กลิ่นหอม อาจรับประทานสดหรือนำไปปรุงอาหาร เนื้อผล ตากหรืออบแห้งมีสีน้ำตาลนำมาต้มเป็นน้ำผลไม้
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบ ใช้ต้มกินน้ำ แก้ไข้มาลาเรีย ไข้หวัด ริดสีดวงทวาร ดอกและเมล็ด บดละเอียดแก้แผลมีหนอง ราก แห้งต้มดื่มแก้วิงเวียนศีรษะ แก้ตกขาวและขับพยาธิเส้นด้าย เนื้อหุ้มเมล็ด บำรุงหัวใจ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย