ลิ้นจี่กับปุ๋ยโมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต

ผลของปุ๋ยโมโนโพแทสเซียมฟอสเฟตที่ให้ทางใบต่อการออกดอกและปริมาณธาตุอาหารในส่วนยอดของลิ้นจี่ 2 พันธุ์

การทำสวนลิ้นจี่นั้น ปัญหาที่ชาวสวนต้องประสบอยู่เป็นประจำคือปัญหาการออกดอกไม่สม่ำเสมอ  ถึงแม้ว่าจะมีการพยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหานี้เช่น การควั่นกิ่ง การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช แต่ก็ใช้ได้ผลในบางพื้นที่  บางสวนก็ทำได้ผลดี ในขณะที่บางสวนต้นลิ้นจี่ก็ยังออกดอกไม่สม่ำเสมอ  ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการให้ปุ๋ยที่ไม่ถูกต้องกับความต้องการของพืชในแต่ละระยะที่มีการเจริญต่างกัน  ดังนั้นความสมบูรณ์ของต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดนอกเหนือจากอุณหภูมิต่ำ น้ำ การควั่นกิ่ง และการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโต

การบำรุงต้นให้สมบูรณ์ก่อนออกดอกเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธาตุอาหารโดยตรง  ก่อนการออกดอกลิ้นจี่จะสะสมอาหารให้เพียงพอเพื่อพร้อมที่จะพัฒนาเป็นตาดอก ในช่วงนี้ถ้าต้นได้รับธาตุอาหารในปริมาณที่เหมาะสมแก่ความต้องการ ทำให้สมดุลของธาตุอาหารดีขึ้น ลิ้นจี่ก็มีความพร้อมที่จะออกดอกได้ทุกปี สำหรับดินที่ปลูกลิ้นจี่ในแถบภาคเหนือนั้นส่วนใหญ่เป็นดินกรดมีพีเอช (pH) ต่ำ (ประมาณ 4.5-5.0) ทำให้ฟอสฟอรัสในดินถูกตรึงให้อยู่ในรูปอะลูมินัมฟอสเฟต ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มีน้อยลง พืชก็จะแสดงอาการขาดธาตุอาหารชนิดนี้  จึงทำให้มีผลผลิตต่ำลง การให้ปุ๋ยทางใบที่มีฟอสฟอรัสสูงแก่ลิ้นจี่ จึงเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ต้นพืช  นอกเหนือจากพืชได้รับทางดินเพื่อชดเชยส่วนที่ขาดหายไปได้อย่างรวดเร็ว  วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ไปมีส่วนทำให้ลิ้นจี่ออกดอกได้ดีขึ้น

มีงานวิจัยที่มุ่งศึกษาผลของปุ๋ยโมโนโพแทสเซียมฟอสเฟตต่อการออกดอกและสะสมอาหารในใบและกิ่งลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยและโอวเฮียะ ได้ศึกษาเพื่อหาระดับความเข้มข้นของปุ๋ยที่เหมาะสมที่จะทำให้ลิ้นจี่ออกดอกได้ดี โดยพ่นปุ๋ยโมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต (0-52-34) ในระดับความเข้มข้น 0, 1250, 2500, 3750 และ 500 ppm ให้กับลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยกับพันธุ์โอวเฮียะในระยะใบเพสลาดจำนวน 3 ครั้ง เก็บตัวอย่างใบและกิ่งมาวิเคราะห์หาปริมาณ N-P-K และ TNC (Total non-structural carbohydrate) พบว่าลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยตอบสนองต่อปุ๋ยฟอสฟอรัสในการออกดอกได้ดีกว่าพันธุ์โอวเฮียะ ระดับความเข้มข้นที่เหมาะสมที่สุดต่อการออกดอกของลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยคือ ที่ระดับความเข้มข้น 3750-5000 ppm นอกจากนี้การให้ปุ๋ยทางใบที่มีฟอสฟอรัสสูงพ่นให้แก่ต้นลิ้นจี่ในระยะปลายฝนก่อนการออกดอก มีอิทธิพลต่อการสะสมคาร์โบไฮเดรตในใบและในกิ่งด้วย และเมื่อเพิ่มความเข้มข้นของปุ๋ยให้สูงขึ้น ทำให้ปริมาณฟอสฟอรัสในใบและในกิ่งของลิ้นจี่ทั้ง 2 พันธุ์สูงขึ้น เนื่องจากาการให้ปุ๋ยด้วยวิธีนี้เป็นการเพิ่มปริมาณฟอสเฟตให้กับพืชโดยตรงและรวดเร็ว  การมีฟอสฟอรัสในช่วงใบเพสลาดทำให้ใบมีประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสงเพิ่มขึ้นมีการสะสมอาหารมากพอที่จะใช้ในการกระตุ้นให้ออกดอก

ส่วนลิ้นจี่พันธุ์โอวเฮียะนั้นผลของปุ๋ยต่อการออกดอกและปริมาณธาตุอาหารมีปัจจัยอื่นที่มีอิทธพลต่อการเปลี่ยนแปลงเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นสภาพดินและสภาพภูมิอากาศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิต่ำและปริมาณน้ำฝนจึงทำให้ผลของฟอสฟอรัสไม่เด่นชัด

(เรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์เรื่องผลของปุ๋ยโมโนโพแทสเซียมฟอสเฟตที่ให้ทางใบต่อการออกดอก และปริมาณธาตุอาหารในส่วนยอดของลิ้นจี่ 2 พันธุ์ โดยนางสาวศศิธร  วณิชอนุกูล. 2533 บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)