ลิ้นจี่:ลิ้นจี่พันธุ์ใหม่ไกวเม่พิ้งค์

ศรีมูล  บุญรัตน์

สถานีทดลองพืชสวนฝาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

ในการพัฒนาการปลูกลิ้นจี่เพื่อการส่งออก สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาขึ้น ที่อำเภอฝาง ระหว่างวันที่ ๘-๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๑ เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคข้อขัดข้องของผู้ปลูกลิ้นจี่ และผู้ส่งขายลิ้นจี่ภายในและต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาการปลูกลิ้นจี่ในประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า โดยทางสมาคมฯ ได้เชิญนักวิชาการ ผู้ชำนาญการปลูกลิ้นจี่ ชาวสวนลิ้นจี่ภาคเหนือ และผู้ส่งออกลิ้นจี่ออกนอก มาร่วมประชุมสัมมนาในครั้งนั้น ที่ประชุมได้กล่าวเน้นถึงความสำคัญของเรื่องการหาลิ้นจี่พันธุ์ดีมาทดแทนพันธุ์ที่มีอยู่แล้ว เพื่อทำให้ลิ้นจี่ของเมืองไทยพัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยการหาลิ้นจี่พันธุ์ใหม่ลูกผสมที่มีคุณภาพ และนำลิ้นจี่พันธุ์ดี ๆจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นแหล่งลิ้นจี่พันธุ์ดีและแหล่งกำเนิดปลูกลิ้นจี่ของโลก ทำการศึกษาและทดสอบการปลูกในเมืองไทย

ในการเสาะแสวงหาลิ้นจี่พันธุ์ดีที่เหมาะสมกับเมืองไทย สภานีทดลองพืชสวนฝาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปี โดยมีแปลงทดลองศึกษาพันธุ์ลิ้นจี่จากแหล่งต่าง ๆ ของโลกไว้ ในขณะนี้ได้รวบรวมพันธุ์ที่เห็นว่าดีมีอนาคตไว้ถึง ๒๑ พันธุ์ เพื่อศึกษาลักษณะพันธุ์ลิ้นจี่เหล่านั้นโดยละเอียด ในขณะเดียวกันทางสถานีฯ ได้ศึกษาพันธุ์ดีพันธุ์ใหม่ ที่มีอยู่ในสวนของเกษตรกรแล้วด้วย

ประกวด-เพื่อหาพันธุ์ดี

การประกวดลิ้นจี่แต่ละปี ซึ่งได้จัดให้มีขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปลูกลิ้นจี่ให้มีคุณภาพดีขึ้น จะได้ลิ้นจี่พันธุ์ดีมาปลูกทดแทนพันธุ์เก่าที่มีอยู่แล้ว

ในปีพ.ศ.๒๕๓๑ ก็มีการจัดงานเทศกาลลิ้นจี่เชียงใหม่ขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔-๓๐ พฤษภาคม ณ ตำบลแม่สูน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการประกวดลิ้นจี่ ขายลิ้นจี่ราคาถูก ขายพืชผลของเกษตรกร ประกวดหอมหัวใหญ่ กระเทียม กะหล่ำปลี และประกวดธิดาลิ้นจี่

ทางด้านสถานีทดลองพืชสวนฝางได้จัดให้มีนิทรรศการลิ้นจี่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ในการปลูกลิ้นจี่ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ และร่วมมือกับทางเกษตรอำเภอจัดให้มีการประกวดลิ้นจี่พันธุ์ต่าง ๆ โดยได้แยกออกเป็น ๕ ประเภท ตามพันธุ์ คือ พันธุ์โฮงฮวย โอเฮียะ กิมเจง จักรพรรดิ และ พันธุ์อื่น ๆ

สำหรับการประกวดลิ้นจี่ทั้ง ๕ ประเภทปีนี้คณะกรรมการได้เชิญ นาย เค อาร์ แชพแมน ผู้เชี่ยวชาญลิ้นจี่ในประเทศไทย มาร่วมเป็นกรรมการตัดสินประกวดลิ้นจี่ประเภทต่าง ๆ ทั้ง ๕ ประเภทด้วย นายแชพแมนเคยไปศึกษาเรื่องการปลูกลิ้นจี่และพันธุ์ลิ้นจี่ที่เมืองจีนยาวนานถึง ๘ ปี จึงได้ทราบว่าลิ้นจี่เมืองจีนพันธุ์ไหนดีและไม่ดีตรงจุดไหน

นอกเหนือจากลิ้นจี่ ๔ ประเภทแรกที่ได้รับรางวัลแล้ว ลิ้นจี่พันธุ์อื่น ๆ ที่ได้รับรางวัลมี ๓ รางวัล และที่น่าสนใจก็คือ ลิ้นจี่พันธุ์ที่ได้รับรางวัลที่ ๑ ซึ่งไม่ทราบชื่อพันธุ์เป็นลิ้นจี่ของ นายบุญชอบ  เกียรตินิยม หมู่ ๑ ตำบลหนองบัว กิ่งอำเภอไชยปราการ (เดิมเป็นอำเภอฝางตอนใต้) จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับลิ้นจี่ที่ไม่ทราบชื่อพันธุ์นี้ นายแชพแมนยืนยันว่าเป็นพันธุ์ดีพันธุ์หนึ่งของเมืองจีนมีชื่อพันธุ์ว่า “ไกวเม่-พิ้งค์”

ความเป็นมาของลิ้นจี่พันธุ์ “ไกวเม่-พิ้งค์” หรือ “ฝาง ๔๑”

ความหมายของ “ไกวเม่-พิ้งค์” นี้คือ ไกว มาจาก ก้วยหรือฮวย แปลว่า ดอก เว่หรือเม่ แปลว่า ดอกไม้ ดังนั้น จึงมีชื่อว่า ลิ้นจี่พันธุ์ดอกไม้ เป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพดีพันธุ์หนึ่งของเมืองจีน

ลิ้นจี่พันธุ์ “ไกวเม่-พิ้งค์” มีความหวานมากกว่าพันธุ์อื่น เมล็ดเล็กบางลีบ เปลือกผลบาง หนามแหลมห่างใบเล็กกว้าง ใบบางสีไม่เขียวจัด ในวันที่เกษตรกรส่งเข้าประกวดลิ้นจี่พันธุ์นี้มีความหวานถึง ๒๑℅ นับว่าหวานมาก

ลิ้นจี่พันธุ์ไกวเม่-พิ้งค์นี้ นอกจากมีผลกลมโตเนื้อหนาแล้ว ยังมีลักษณะพิเศษประจำพันธุ์คือมีกลิ่นหอม เมื่อแก่จัด ดังนั้น จึงเป็นพันธุ์ดีพันธุ์หนึ่งซึ่งควรจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกให้มาก ในขณะนี้มีพันธุ์นี้ที่สวนเอกชน ๒-๓ แห่ง และที่สถานีทดลองพืชสวนฝางก็มีอยู่ในแปลงศึกษาพันธุ์ของสถานีฯ อายุต้นประมาณ ๑๐ ปี

ประวัติโดยย่อทางการได้ลิ้นจี่ไกวเม่-พิ้งค์ หรือ ฝาง ๔๑ มาปลูก เริ่มประมาณ ๑๐ ปี ก่อนในสมัยที่พลเอกเกรียงศักดิ์  ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ไทยกับจีนแผ่นดินใหญ่มีความสัมพันธุ์ไมตรีอย่างแน่นแฟ้น พลเอกเกรียงศักดิ์  ได้สั่งพันธุ์ลิ้นจี่พันธุ์ต่าง ๆ มาให้กรมวิชาการเกษตรปลูกหลายพันธุ์เพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นพันธุ์ดีหลายพันธุ์ แต่เนื่องจากป้ายเบอร์หาย เมื่อต้นอ่อนมาถึง สถานีทดลองพืชสวนฝางจึงให้เบอร์ต้นที่แปลงศึกษาพันธุ์ว่า เกรียงศักดิ์ ๑-๒-๓-๔ เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ผู้สั่งพันธุ์เข้ามา

ตามคำบอกเล่าของ ดร.สิงห์หน  คำซาว เจ้าของสวนลิ้นจี่ห้วยงู ในตำบลแม่สูน อำเภอฝาง ซึ่งมีลิ้นจี่พันธุ์นี้อยู่ ๒๐ ต้น โดยได้มาเมื่อ ๑๐ ปีก่อนจากเมืองกวางเจา ซึ่งอยู่ตอนใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่โดยผ่านทางฮ่องกง มาทางเรือในสภาพกิ่งตอน จำนวน ๕๐ กิ่ง ราคาในขณะนั้นกิ่งละ ๕๐๐ บาท แต่เมื่อนำมาปลูกในสวนลิ้นจี่ของท่านเพื่อศึกษาดูก่อนนั้น คงสู้กับหญ้าคาไม่ไหว บางต้นปลูกในที่ชื้นแฉะจึงล้มตายไป นับต้นดูขณะนี้คงเหลือ ๒๐ ต้น เมื่อทราบเป็นพันธุ์ดีมีความหวานมากกว่าพันธุ์อื่น ท่านก็บอกว่าจะกำจัดหญ้าคาให้หมด ใส่ปุ๋ยเต็มที่ เพื่อการขยายพันธุ์ต่อไป สำหรับราคากิ่งพันธุ์ ยังบอกไม่ได้ว่าจะขายกิ่งละเท่าใด ถ้าจะขายราคาเท่าที่ซื้อมา คงไม่มีใครอยากได้ เพราะแพงเกินไป

ลิ้นจี่พันธุ์นี้ปลูกในสถานีทดลองพืชสวนฝาง มีหมายเลขต้นที่ ๔๑ จึงมีชื่อว่า “ฝาง ๔๑” มีรายละเอียดการศึกษาทางด้านพืชสวนดังต่อไปนี้

๑.  อายุออกผล ๘ ปี

๒.  ฤดูเก็บผล กลางเดือนมิถุนายน

๓.  ลักษณะการติดผล  เป็นช่อ

๔.  กลิ่นเนื้อผล  หอม

๕.  ลักษณะเนื้อเยื่อ นิ่ม ค่อนข้างเละ

๖.  รสชาติ  หวานมาก

๗.  สีเนื้อผล  ขาวไข่มุก

๘.  เปอร์เซ็นต์เนื้อผล ๖๙.๒๔℅

๙.  เปอร์เซ็นต์เมล็ดตาย ๑๔.๔๗℅

๑๐. เปอร์เซ็นต์เปลือก ๑๖.๒๗℅

๑๑.  น้ำหนักเนื้อผลเฉลี่ย ๒๑.๖℅

๑๒.  เปอร์เซ็นต์น้ำตาล(บริกซ์) ๑๘-๒๑℅

๑๓.  คุณภาพทั้งหมด ดีมาก

ข้อดีและข้อเสียของลิ้นจี่พันธุ์ไกวเม่-พิ้งค์

ข้อดี ข้อเสียของลิ้นจี่พันธุ์นี้คือ

(๑)  ความหวาน  ลิ้นจี่พันธุ์นี้มีความหวานมากกว่าพันธุ์อื่น จึงทำให้เป็นที่น่ารับประทานมาก เพราะถ้าแก่จัดจะมีความหวานถึง ๒๑℅ ลิ้นจี่พันธุ์อื่น ๆ มีความหวานเพียง ๑๘-๑๙℅

(๒)  ความมีเสน่ห์  ตรงที่มีกลิ่นหอมที่เปลือกผิว ถ้าเอามือไปถูกหรือหยิก หรือเวลารับประทานใช้ฟันไปกัดถูกผิวเปลือก ก็จะมีกลิ่นหอมของดอกไม้ออกมาชวนรับประทานมากขึ้น กลิ่นที่ออกมาเหมือนกลิ่นอบเชย

(๓)  แก่ช้าราคาดี  ลิ้นจี่พันธุ์นี้จะแก่เก็บได้หลังจากลิ้นจี่พันธุ์โฮงฮวยเก็บไปแล้ว ๑ สัปดาห์ ลิ้นจี่พันธุ์โฮงฮวยปลูกมากทางภาคเหนือ เมื่อลิ้นจี่พันธุ์โฮงฮวยแก่ราคามักจะตก แต่ลิ้นจี่พันธุ์ไกวเม่-พิ้งค์ แก่หลังจากลิ้นจี่พันธุ์โฮงฮวยหมดแล้ว จึงทำให้ราคาดี เจ้าของสวนขายได้ กก.ละ ๗๐-๘๐ บาท ถ้าปลูกกันมาก ๆ จะมีลิ้นจี่ส่งออกนอกยาวนานขึ้น เพราะเป็นพันธุ์ค่อยข้างหนักคุณภาพดี แต่ราคาอาจจะลดน้อยลง

(๔)  ผิวเปลือกสีชมพู สีไม่แดงจัด ดูน่ารับประทานเท่าลิ้นจี่พันธุ์โฮงฮวย และจักรพรรดิแต่เปลือกหนาม และหนามของผลแข็ง จึงขนส่งได้ไกล เน่าช้า

(๕)  รูปทรงกลม-และหัวใจ  ถึงแม้ขนาดของผลจะเล็กกว่าลิ้นจี่พันธุ์โฮงฮวย แต่รูปทรงดีถ้าผู้ปลูกได้ทำการห่อก่อนแก่ สีของเปลือกก็จะดีขึ้น

(๖)  มักจะติดผลเว้นปี  เป็นข้อเสียของลิ้นจี่พันธุ์นี้ แนวทางแก้ไขที่จะทำให้ลิ้นจี่ติดผลทุกปีนี้เมืองไทยเรามีอยู่แล้ว จึงคิดว่าถ้านำวิธีการนั้นมาใช้กับลิ้นจี่นี้คงได้ผลดีและติดผลทุกปีได้

ข้อมูลจำเพาะของลิ้นจี่พันธุ์ “ฝาง ๔๑”(ไกวเม่-พิ้งค์)

รูปพรรณ

–         ลักษณะลำต้นและใบ  ๑.  ความแข็งแรงของลำต้น ค่อนข้างแข็งแรง

๒.  ทรงพุ่ม  ทรงกลมกิ่งแน่น

๓.  สีเปลือก  เขียว-ขาว

๔.  ผิวเปลือก  เรียบ

๕.  รูหายใจที่เปลือก  –

๖.  ลักษณะใบแก่  เขียวอ่อน

๗.  ลักษณะยอดอ่อน  ชมพู-แดง

๘.  ความทนทานของลำต้น  ค่อนข้างแข็งแรง

๙.  ลักษณะของใบ  โคนใบเรียวเหมือนใบลำไย แต่เล็กกว่า

–  ลักษณะผล             ๑.  รูปร่างผล  เกือบกลม

๒.  ไหล่ผล  เสมอกัน

๓.  ลักษณะก้นผล   ก้นกลม

๔.  ขนาดผล  ยาว ๒.๙๘ ซม. กว้าง ๒-๓.๑๕

ซม.

๕.  ร่องเปลือกผล  ค่อนข้างชัดเหมือนนมสาว

๖.  หนามของเปลือกผล  บวมค่อนข้างแหลม

๗.  ขั้วผล  ๘๐-๙๐ องศากับเปลือกผล

๘.  กลิ่นเปลือก  ค่อนข้างฝากมีกลิ่นอบเชย

๙.  สีเปลือก  แดงปนชมพู

๑๐. ร่องผล  ชัดเจน แผลลึก ครึ่งผล

๑๑. ตำหนิของผล  ไม่มี

–  ลักษณะเมล็ด         ๑.  สีเมล็ด  น้ำตาลเข้ม

๒.  รูปร่างเมล็ด  ยาวก้นป้าน

๓.  ขนาดเมล็ด  ปานกลาง