ดอกวนารมย์

ทองหลาง

วงศ์ฟาเบซีอี (FABACEAE)

พืชวงศ์นี้ที่รู้จักกันดีคือ พวกถั่วต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง (Glycine max Merr.) ถั่วลันเตา (Pisum sativum Linn.) ถั่วลิสง (Arachis hypogaea Linn.) แค (Sesbania grandiflora (Linn.) Poir) และทองหลาง (Erythrina spp.) เป็นต้นลักษณะมีทั้งที่เป็นไม้ต้นไม้พุ่ม หรือไม้ล้มลุกใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับอาจพบใบเดี่ยวบ้าง ดอกออกเป็นช่อ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันส่วนปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกมี 5 อัน ขนาดและรูปร่างไม่เหมือนกัน และแยกจากกันเป็นอิสระ มีการจัดเรียงตัวคล้ายรูปผีเสื้อ (papilionaceous) กลีบบนสุดมีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งตรง กลีบสองอันด้านข้างขนานกันและมีขนาดเล็กกว่า กลีบสองอันล่างสุดเชื่อมหรือค่อนข้างเชื่อมติดกัน หุ้มเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียเอาไว้ เกสรตัวผู้มี 10 อัน ติดที่ฐานรองดอก ก้านเกสรตัวผู้เชื่อมติดกันเป็นกลุ่มเดียวหรืออาจแยกเป็น 2 กลุ่ม เกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่อยู่เหนือชั้นต่างๆ ของดอก ผล เป็นฝัก เมื่อแก่มักจะแตกตามแนวตะเข็บ

ดอกวนารมย์

Lespedeza sulcata Craib วนารมย์

วนารมย์เป็นไม้ล้มลุกแตกกอคล้ายไม้พุ่ม สูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้น กิ่งก้านและใบมีขนนุ่มสีขาว ดอกดก ออกเป็นช่อตั้งที่ปลายกิ่ง สีม่วงอมชมพู ออกดอกราวเดือนตุลาคม มักพบขึ้นเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ทั่วทั้งบริเวณสวยงามมาก

ครามป่า

Indigofera sootepense Craib ครามป่า

ครามป่าเป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 2 เมตร ใบประกอบแบบขนนก ผิวใบทั้งสองด้านปกคลุมด้วยขน ดอกช่อยาว ออกตรงซอกใบ ลักษณะตั้งขึ้นเรียงเป็นแถว สีแดงแกมน้ำตาล มีใบประดับรองรับ ออกดอกราวเดือนกรกฏาคม พบกระจายทั่วไปในป่าผลัดใบที่ระดับความสูง 50-1,000 เมตร