วิธีการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูของกุหลาบ

แมลง

1. แมลงปีกแข็ง (Beetle)  บางทีเรียกด้วงปีกแข็ง มีทั้งชนิดตัวดำและสีน้ำตาล  มีขนาดลำตัวยาวประมาณ ½-1 ซม.  ออกหากินในเวลากลางคืน ระหว่าง 1-3 ทุ่ม  โดยการกัดกินใบกุหลาบในเวลากลางวันอยู่ตามกอหญ้า  ป้องกันโดยมีโปรแกรมฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเช่น คลอเดน หรือเซวิน และกำจัดด้วยการดักจับตัวแมลงด้วยมือ

2.  ผึ้งกัดใบ (Cutter bee)  จะกัดใบกุหลาบในช่วงเวลากลางวัน สังเกตได้ที่รอยแผลมักจะเป็นรอยเรียบเหมือนถูกเฉือนด้วยมีดคม ๆ เป็นรูปโค้ง (ส่วนของวงกลม)  อย่างสม่ำเสมอ

3.  เพลี้ยไฟ (Thrips)  เป็นแมลงปากดูดตัวสีน้ำตาลถึงสีดำ  ตัวอ่อนมีสีขาวนวล  ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและดอก  ทำให้ดอกที่ถูกทำลายไม่บาน  ระบาดมากในฤดูร้อน  ป้องกันโดยมีโปรแกรมฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเป็นประจำ  อาจใช้ โตกุไทออก คลอเดน หรือ นิโคติน ซัลเฟต

4.  เพลี้ยจั๊กจั่น (Leaf hopper)  ตัวมีสีเขียวขนาดเล็ก  เป็นแมลงปากดูด  มักจะดูดน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนดอกอ่อน  ทำให้ดอกที่ถูกทำลายหงิกงอใช้ประโยชน์ไม่ได้ ป้องกันโดยฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลง  พวกคาร์บาเมท เช่น เชวิน เป็นต้น

5.  เพลี้ยแป้ง (Mealy bug)  มดเป็นตัวนำมา เป็นแมลงปากดูด  มักเกาะกินใบอ่อน หรือตามง่ามใบ  ทำให้ใบหงิกงอ  ยอดงัน  ป้องกันกำจัดโดยใช้ยาฆ่าแมลง  แต่ต้องผสมยาเคลือบใบ (Stideer) ลงไปด้วย  เพราะบนตัวเพลี้ยแป้ง มีปุยสีขาวปกคลุม  ปุยนี้มีลักษณะมัน  น้ำจับยาก

6.  เพลี้ยหอย (Scale insect)  แมลงตัวนี้มีลำตัวหุ้มด้วยเปลือกสีน้ำตาล  เป็นแมลงปากดูด  กำจัดยาก  เพราะมีเปลือกหุ้ม  ใช้กูไทออก หรือ เซวินฉีดพ่น

7.  หนอน (rose slugs)  เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืน  ตัวสีน้ำตาล จะวางไข่ตามใต้ใบกุหลาบไข่ติดกันเป็นแพ ลักษณะคล้ายฟองน้ำ กลุ่มไข่จะปกคลุมด้วนขน  เมื่อไข่ฟักเป็นตัว จะมีสีเขียว  และกัดกินใบที่เกาะอยู่  จะกัดกินเฉพาะด้านใต้ใบเท่านั้น ทำให้ส่วนของใบที่ถูกทำลายมีลักษณะโปร่งใส  กำจัดด้วยยาเอนดริน

8.  หนอนเจาะดอก (Bud worm)  เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืนเช่นกัน  วางไข่ติดกับดอกตั้งแต่ดอกยังตูมอยู่  แต่ไข่ไม่เป็นกลุ่ม (เป็นฟองเดียวติดอยู่กับกลีบดอก)  เมื่อฟักออกเป็นตัว  จะกัดกินดอกระบาดมากในต้นฤดูหนาวและในช่วงเดือนหงาย  เนื่องจากมีขนาดเล็ก  จึงสังเกตได้ยาก  ป้องกันโดยฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ประเภทดูดซึมเช่น  ดีลดริน  ฟอสดริน

9.  หนอนเจาะต้น (Stem borers)  เป็นหนอนของผึ้งบางชนิดและหนอนของแมลงวันบางอย่าง  อาจจะเป็นหนอนของพวกต่อแตนด้วย  หนอนเหล่านี้จะเจาะกินไส้และบริเวณท่อน้ำของกิ่งหรือต้นพืชทำให้กิ่งและต้นแห้งตาย  กำจัดโดยการตรวจดูบริเวณรอยต่อระหว่างกิ่งแห้งและกิ่งดี พบแล้วกำจัดตัวทำลายเสีย การป้องกันทำได้โดยคอยตัดแต่งกิ่งตามกำหนด

10.  เพลี้ยอ่อน (Aphids)  ทั้งชนิดตัวโตสีเขียวหรือสีชมพูอ่อน และตัวเล็กสีเขียวหรือสีน้ำตาลจะดูดน้ำเลี้ยงตามยอดอ่อนและใบอ่อน  ทำให้ใบเหลืองและร่วง ป้องกันกำจัดโดยใช้ยาฆ่าแมลงเช่น ฟอสดริน เอนดริน และพาราไทออน