วิธีการให้ปุ๋ยสำหรับไม้ผล

การให้ปุ๋ยสำหรับไม้ผล

ปุ๋ย นับเป็นปัจจัยที่สำคัญมากอันหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ ปุ๋ยเป็นอาหารพืชต้นไม้ได้มาจากดิน ในแต่ละปี ต้นไม้ได้ดูดอาหารไปจากดินเป็นจำนวนมากเพื่อนำสร้างใบกิ่งดอกและผล ธาตุอาหารต่าง ๆ จึงสูญเสียหายไปจากดินอยู่ทุกปี ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยลงไปในดิน ในหลักของแนวความคิดการใส่ปุ๋ยสมัยใหม่นั้น เราใช้หลักที่ว่า ต้นไม้นำไปใช้เพื่อสร้างส่วนต่าง ๆ เท่าไร เราก็ใส่คืนลงไปให้ในปริมาณที่เท่ากัน เมื่อได้ปริมาณของปุ๋ยที่แน่นอนแล้วจึงแบ่งใส่ให้กับต้นไม้ตลอดช่วงของปี แต่ก็ยังมีกสิกรอีกหลายท่านที่ไม่สนใจเรื่องการใส่ปุ๋ยทดแทนให้กับต้นไม้ที่ปลูกไว้ดังที่ได้เคยกล่าวไว้ว่า ท่านเป็นเจ้าของสวนผลไม้ต้องคิดว่าเราไม่ใช่เทวดา เมื่อเราต้องการผลิตผลจากต้นไม้ที่ท่านได้ปลูกไว้เท่าไรก็ควรใส่คืนให้ในปริมาณที่เท่ากันหรือมากกว่า เพื่อผลผลิตที่มากขึ้นในปีต่อไป  ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะสามารถใส่ปุ๋ยให้กับต้นไม้ในฤดูใด และต้นทุนที่เราต้องใช้สูงมากน้อยแค่ไหน

การแบ่งประเภทของปุ๋ย  โดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ

ปุ๋ยอินทรีย์

ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่ได้มาจากสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์  ที่ถูกหมักหมมจนเน่าเปื่อยหมดแล้ว  และอยู่ในสภาพที่พืชสามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ใบไม้ผุ ปุ๋ยหมัก มูลสัตว์ต่าง ๆ กระดูกป่น กากถั่ว ปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยเทศบาล เป็นต้น ดินโดยทั่วไปมีอินทรีย์วัตถุที่ได้จากธรรมชาติ  ปุ๋ยอินทรีย์นั้นโดยปกติจะมีธาตุอาหารต่าง ๆ อยู่เกือบครบถ้วน แต่มีปริมาณอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ  ซึ่งมีไม่เพียงพอสำหรับต้นไม้ แต่ปุ๋ยอินทรีย์ จะให้ประโยชน์ในแง่การปรับปรุงดินให้มีโครงสร้างที่ดียิ่งขึ้น  มีความสามารถในการอุ้มน้ำดีขึ้นในดินทราย และเปลี่ยนสภาพของดินเหนียว ที่มีการระบายน้ำเลวให้ดีขึ้น เมื่อดินร่วนขึ้น รากของต้นไม้จึงสามารถไชชอนไปได้ไกลและหาอาหารได้มากขึ้น ดินที่อุ้มน้ำดีขึ้นนั้น  จะช่วยให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพสูงขึ้น  ปุ๋ยอินทรีย์แต่ละชนิดย่อมให้ธาตุอาหารแต่ละชนิด ในปริมาณที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่แหล่งที่มา เช่น เลือกแห้ง ให้ธาตุอาหารพวกไนโตรเจนสูง ส่วนปุ๋ยกระดูกป่นให้ธาตุฟอสฟอรัสสูง

ปุ๋ยอนินทรีย์

ปุ๋ยอนินทรีย์หรืออาจเรียกว่าปุ๋ยเคมีก็ได้ ปุ๋ยนี้โดยมากได้มาจากบ่อแร่ธาตุ เช่น ร็อคฟอสเฟต หรือได้จากโรงงานอุตสาหกรรมทั้งทางตรงและผลพลอยได้ ปุ๋ยอนินทรีย์นี้มีธาตุอาหารสูงกว่าปุ๋ยอินทรีย์มากและอยู่ในรูปที่สามารถละลายน้ำได้อย่างรวดเร็ว พืชจึงสามารถที่จะนำไปใช้ได้ทันที

แม้ว่าปุ๋ยเคมี จะมีธาตุอาหารสูงกว่าปุ๋ยอินทรีย์ก็ตาม การใช้ปุ๋ยเคมีติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ จะมีผลทำให้สภาพโครงสร้างของดินเสียไป หรือการใช้ปุ๋ยอินทรีย์  ซึ่งมีธาตุอาหารต่ำหากไม่ใช้เลยก็ไม่ได้เพราะปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยให้โครงสร้างของดินดีมากขึ้น และยังช่วยให้ประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ยเคมีสูงขึ้นด้วย  จึงควรที่จะใช้ควบคู่กันไป เมื่อมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น ปริมาณของการใช้ปุ๋ยเคมีก็ลดน้อยลงได้ อีกทั้งปุ๋ยอินทรีย์ยังสามารถที่ผลิตได้เอง ภายในส่วนของกสิกรหรือหาได้จากคอกสัตว์ในท้องถิ่น โดยไม่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศดังเช่น ปุ๋ยเคมี จึงควรคำนึงถึงการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มาก

หลักของการใส่ปุ๋ยให้กับต้นไม้

ใช้หลักในการพิจารณาได้หลายอย่างด้วยกันคือ การวิเคราะห์ชิ้นส่วนของพืช และการพิจารณาจากอาหารที่พืชแสดงออก ในที่นี้สิ่งที่ดูน่าจะเป็นไปได้คือ การวิเคราะห์ดิน ซึ่งวิธีการเก็บตัวอย่างดิน และหน่วยงานที่จะวิเคราะห์ดิน ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องการเลือกที่ทำสวน การใส่ปุ๋ยนั้น เป็นการเพิ่มธาตุอาหารเพื่อชดเชยส่วนที่ต้นไม้ได้ใช้ไป หากในดินมีอยู่เพียงพอแล้ว การให้ปุ๋ยเพิ่มเติมก็ไม่มีประโยชน์ เพราะต้นไม้ไม่สามารถที่จะนำไปใช้ได้  หรืออาจแสดงอาการที่ไม่รับธาตุอาหารมากเกินไป หรืออาจสูญเสียไป เนื่องมาจากการชะล้าง หรือถูกปฏิกิริยาทำให้เปลี่ยนไปอยู่ในสภาพที่พืชไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้  การใส่ปุ๋ย บางครั้งต้องใช้ระยะเวลานานกว่าที่จะแสดงผลออกมาให้ปรากฏ

ปัจจัยเกี่ยวข้องกับการใส่ปุ๋ย ให้กับต้นไม้ผล มีอยู่หลายอย่างด้วยกันที่จะต้องคำนึงถึง เช่น อายุของต้นไม้ สภาพของดิน ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ปริมาณน้ำฝนในขณะนั้น ชนิดของไม้ผล ตลอดจนกระทั่งการปฏิบัติงานภายในสวน วิธีการใส่ปุ๋ย โดยทั่วไปมักใช้การโรย หรือหว่าน ให้กับบริเวณรอบ ๆ ชายพุ่มซึ่งรากที่ทำหน้าที่ในการหาอาหารจะอยู่ที่บริเวณนี้เป็นส่วนใหญ่ แล้วทำการพรวนกลบ ให้ปุ๋ยคลุกเคล้าเข้ากับดิน การพรวนนี้ ไม่ควรให้ลึกมากนักจนกระทั่งเป็นการอันตรายต่อราก เนื่องจากทำให้รากขาดเป็นช่องให้โรคเข้าสู่ต้นไม้ทางหนึ่ง โดยเฉพาะในไม้ผลที่อ่อนแอต่อโรครากเน่าแล้ว ควรหลีกเลี่ยงปัญหานี้  อาจงดการพรวนดินหรือกระทำอย่างระมัดระวัง ในบางครั้งอาจใส่ปุ๋ยในลักษณะการเจาะเป็นหลุมรอบ ๆ ต้นไม้ให้กระจายอยู่ตามแนวชายพุ่ม ให้ลึกประมาณ 30-50 ซม. การให้ปุ๋ยแบบนี้เป็นการลดพื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างเม็ดปุ๋ย กับเม็ดดินให้น้อยลง ธาตุอาหารโดยเฉพาะฟอสฟอรัสมีอัตราการเคลื่อนที่ในดินช้าหรือน้อยมาก และส่วนมากมักจะถูกเม็ดดินดูดซับ หรือตรึงให้อยู่ในรูปที่ต้นไม้ไม่สามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะในดินที่ค่อนข้างเป็นกรด (พี.เอช.)ของดินต่ำ การให้ปุ๋ยในแบบที่เจาะเป็นหลุมจึงน่าที่จะนำมาใช้ในสภาพเช่นนี้ แต่ก็มีขอบเขตจำกัด เพราะการทำได้สะดวกในช่วงฤดูฝนเท่านั้น  ส่วนในช่วงฤดูแล้ง พื้นที่อาจแข็งมากจนเกินความสามารถที่จะเจาะลงได้

ฤดูกาลในการให้ปุ๋ย

สำหรับในไม้ผลยืนต้น หากจะยึดหลักง่าย ๆ ได้เป็น 3 ระยะ คือ

1.  ระยะที่พืชต้องการสร้างใบ ในช่วงระยะดังกล่าวจะตรงกับช่วงต้นของฤดูฝน ซึ่งในช่วงนี้มักจะเป็นระยะที่ต้นไม้อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างทรุดโทรม เนื่องจากเพิ่งจะเก็บเกี่ยวไปหมด ต้นไม้จำเป็นที่จะต้องรีบเร่งสร้างกิ่งใบขึ้นมา และรีบสร้างอาหารเพื่อสะสมไว้ในช่วงการออกดอกและติดผล ดังนั้น ปุ๋ยที่ใช้ในช่วงนี้ จึงควรเป็นปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูงสักเล็กน้อย เช่น ปุ๋ยสูตรที่มีอัตราส่วน 1-1-1 หรืออาจเติมปุ๋ยไนโตรเจนล้วน ๆ ลงไปร่วมกับสูตรนี้อีกเล็กน้อยตามความเหมาะสม  ในช่วงระยะนี้ ถ้าสามารถหาปุ๋ยคอกใส่รวมลงไปด้วยยิ่งดี

2.  ระยะที่พืชต้องการสร้างดอก ระยะนี้ตรงกับช่วงฤดูฝนเข้าสู่ต้นฤดูหนาวดังนั้นในระหว่างช่วงกลางถึงปลายฤดูฝนสูตรปุ๋ยที่ให้ จึงควรเป็นสูตรที่มีธาตุฟอสฟอรัสสูง อาจมีอัตราส่วน 1-2-1 หากคิดว่าจะให้ปุ๋ยไม่ทัน ก็อาจที่จะให้ปุ๋ยทางใบเสริมอีกด้วยทางหนึ่ง  ในช่วงนี้ต้นไม้ต้องการธาตุนี้ไปช่วยในการสร้างตาดอกค่อนข้างสูง การให้ปุ๋ยทางใบจึงควรฉีดพ่นให้มากกว่า 1 ครั้ง

3.  ระยะที่พืชกำลังติดผล ภายหลังที่พืชเริ่มติดผลใหม่ ๆ ในระยะแรกนี้ต้องการธาตุไนโตรเจนเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของผล โดยใช้เพื่อเพิ่มขยายขนาดผล  หากต้นไม้มีปริมาณของธาตุนี้มีอยู่เพียงพอ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องให้อีก  เพราะถ้าหากพืชได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไปในช่วงนี้ จะมีผลทำให้ต้นไม้สลัดผลอ่อนทิ้งหมด  ในช่วงระยะหลังจำเป็นที่จะต้องให้ปุ๋ยที่มีโปแตสเซี่ยมสูง อาจใช้สูตรที่มีอัตราส่วน 2-2-3 เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพ ทั้งทางด้านรสชาติ และด้านเก็บรักษาผลภายหลังเก็บเกี่ยว ให้มีอายุในช่วงการขยายนานมากขึ้น

ในสภาพของการทำสวนผลไม้ ในประเทศนั้น ช่วงระยะเวลาที่ต้นไม้ผลต้องการน้ำมากที่สุดมีอยู่ 2 ช่วงด้วยกัน คือ ในช่วงของฤดูที่มีการเจริญเติบโตทางกิ่งและใบซึ่งส่วนใหญ่ในช่วงนี้ จะอยู่ตรงกับช่วงของฤดูฝนโดยตลอด  การให้น้ำจึงไม่มีความจำเป็นเพราะมีน้ำฝนจากธรรมชาติอยู่แล้ว อีกช่วงหนึ่งคือช่วงระยะที่ต้นไม้กำลังมีการติดผลอ่อน และตลอดช่วงของฤดูการเจริญเติบโตของผล โดยตลอด สำหรับในช่วงก่อนออกดอกนั้นต้นไม้ผลส่วนใหญ่แล้ว ต้องการน้ำน้อยมากหรือไม่ต้องการเลย พืชหลายชนิดในช่วงระหว่างนี้ จะได้รับน้ำไม่ได้เลย เพราะต้องการช่วงของความแล้ง เพื่อสะสมอาหารให้สูงถึงระดับที่สามารถสร้างตาดอกไม้ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ และมะม่วง เป็นต้น หากในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ต้นไม้ผลเหล่านี้ได้รับน้ำหนัก หรือน้ำฝนที่มากไปสักเล็กน้อย จะมีผลทำให้ส่วนที่เจริญขึ้นมาเป็นยอดอ่อนแทนที่จะเป็นตาดอก เพราะไม้ผลดังกล่าว จะให้น้ำไม่ได้เป็นอันขาดในช่วงนี้ ส่วนไม้ผลพวกทุเรียน เงาะ และมังคุดนั้นในช่วงระยะเวลาก่อนออกดอก แม้ว่าจะต้องการช่วงของความแล้ว เพื่อช่วยในการสะสมอาหารก็ตามแต่ ถ้าหากสภาพอากาศมีความชื้นต่ำมาก ซึ่งจะไปมีผลทำให้ความชื้นในดินลดต่ำลง จนถึงขั้นที่จะเป็นอันตรายต่อต้นไม้ได้ ดังนั้น พืชพวกนี้ในปัจจุบันจึงจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำ ช่วยหล่อเลี้ยงด้วยในระยะก่อนออกดอกเพื่อไม่ให้ต้นไม้เกิดอันตรายได้ ในขณะเดียวกัน หากผู้ให้ไม่มีความชำนาญเพียงพออาจให้ในปริมาณที่มากเกินไป ก็มีผลทำให้ต้นไม้ผลเหล่านั้นเจริญเป็นยอดอ่อน แทนที่จะเป็นตาดอก การให้น้ำจึงจะอยู่ในระดับที่ป้องกันไม่ให้เหี่ยวเฉา หรือแห้งตายเท่านั้น และจะสามารถให้น้ำมากขึ้น  เมื่อเจริญเป็นช่อดอกเรียบร้อยแล้ว

ข้อยกเว้น

ในทุเรียนบางพันธุ์ เช่น พันธุ์ชะนี ปริมาณน้ำที่ให้ในทุกช่วง ต้องอยู่ในระดับที่พอเหมาะไม่สามารถให้มากเกินไปได้  แม้ในช่วงติดผลอ่อนก็ทำให้ผลร่วงได้ ส่วนในลิ้นจี่นั้นแม้ในระยะที่ดอกบานก็ให้น้ำมากไม่ได้ เพราะไปมีผลทำให้กิ่งบางส่วนเจริญขึ้นมาเป็นยอดอ่อนและดึงเอาอาหารส่วนที่จะใช้สำหรับเลี้ยงดอกและผลอ่อน ไปใช้ในการเติบโตของยอดอ่อนจนหมด  ยังผลให้ดอกบนช่อเหล่านั้นร่วงหล่นจนหมดสิ้น  ในลิ้นจี่จึงให้รดน้ำปริมาณที่มากขึ้นได้ในระยะที่เริ่มติดผลแล้วเท่านั้น ในช่วงที่ผลกำลังเจริญเติบโตนั้น ผลไม้ทุกอย่างต้องการน้ำในปริมาณค่อนข้างสูง แต่นอกเหนือจากนี้ ความสม่ำเสมอของการให้น้ำก็เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน ไม่ควรปล่อยให้ต้นไม้ที่ถือ หรือติดผลอยู่ในสภาพที่ขาดน้ำเป็นระยะเวลานาน ๆ เพราะเมื่อต้นไม้ได้รับน้ำในปริมาณที่มากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง อาจโดยไม่ตั้งใจหรือได้รับจากปริมาณน้ำฝนก็ตาม จะทำให้ผลเสียหายได้มาก เช่น ผลแตก ดังในเงาะพันธุ์โรงเรียน และในลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย จะแสดงอาการเปลือกแตกให้ปรากฎอย่างเด่นชัด ทั้งนี้เข้าใจว่า ส่วนของเปลือกขยายตัวไม่ทันกับการขยายตัวของส่วนเนื้อ อันเนื่องมาจากเนื้อดูดน้ำเข้าไปมาก และขยายตัวออกจนดันส่วนเปลือกซึ่งขยายได้มากกว่า จึงดันเปลือกผลฉีกขาด ภายหลังจากที่ได้รับน้ำมากเกินไป สำหรับการให้น้ำแก่ต้นทุเรียนในช่วงหลัง คือ ช่วงระยะก่อนเก็บเกี่ยวก็เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มากเช่นกัน เพราะทุเรียนบางพันธุ์อ่อนไหวต่อปริมาณน้ำ ที่มากเกินไปก่อให้เกิดอาการของแกนไส้ซึม เช่น พันธุ์ชะนี ทำให้คุณภาพของผลสูญเสียไปเกือบหมด การให้น้ำในช่วงต่าง ๆ ของการเจริญเติบโตในไม้ผล จึงเป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจถึงนิสัยของพืชแต่ละชนิดแต่ละพันธุ์ ว่ามีจุดอ่อนไหวในช่วงระยะเวลาใดบ้าง นอกจากนี้แล้วระยะที่จะต้องให้น้ำตามปกติโดยทั่วไป คือระยะหลังจากการใส่ปุ๋ยทุกครั้ง เพื่อให้ปุ๋ยละลายในทันที และต้นไม้สามารถที่จะนำไปใช้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  หากไม่ให้น้ำในทันทีอาจเป็นอันตรายได้ เนื่องจากความเข้มข้นของสารละลายปุ๋ยสูงมาก จนเกิดการดูดน้ำออกจากรากพืชทำให้ต้นเหี่ยวเฉา