วิธีช่วยให้ดอกไม้บานได้นานขึ้น

กุหลาบ

การที่ดอกไม้จะมีอายุการบานในแจกันได้นานนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง สิ่งที่น่าสนใจ คืออายุของดอกไม้นั้น 1/3 ขึ้นอยู่กับการปลูกเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมก่อนที่จะตัดดอกมาใช้ และส่วนใหญ่ถึง 2/3 ขึ้นอยู่กับการปฎิบัติและสภาพแวดล้อมภายหลังจากตัดดอกมาแล้ว กล่าวคือไม่ว่าดอกไม้นั้นจะได้รับการปลูกและเลี้ยงดูมาอย่างดีเพียงใด ถ้าการจัดการภายหลังการตัดดอกไม่ถูกต้อง ดอกไม้เหล่านั้นก็บานไม่ได้นาน หรือถ้าดอกไม้นั้นได้รับการเลี้ยงดูมาไม่ถูกวิธี แต่มาจัดการภายหลังการตัดดอกดีอย่างไรก็ไม่มีประโยชน์เช่นเดียวกัน

สภาพก่อนการตัดดอกได้แก่ การที่ต้นพืชปลูกอยูในอุณหภูมิที่เหมาะสม ได้ทั้งแสงแดดเต็มที่ ได้นํ้าและแร่ธาตุอย่างสมบูรณ์ไม่มีโรคและแมลงรบกวน ปัจจัยทั้งหมดนี้จะทำให้ต้นพืชผลิตดอกที่มีคุณภาพดี

ในธรรมชาติต้นแม่ส่งน้ำและอาหารหล่อเลี้ยงดอกไม้ทางท่อนำนํ้าและท่อนำอาหาร ทันทีที่ดอกไม้ถูกตัด กระบวนการส่งนํ้าและอาหารถูกตัดลงด้วยและไม่มีการสร้างเพิ่มเติม ดอกไม้จะใช้น้ำและอาหารเท่าที่มีอยู่ในก้านดอกเพื่อการบานจนถึงหมดอายุคือดอกเหี่ยวเฉาไป ดังนั้น การปฎิบัติต่อดอกไม้ ตั้งแต่ตัดดอก และหลังจากนั้นให้ถูกต้องจะช่วยยืดอายุของดอกไม้ได้

การตัดดอกในระยะที่ถูกต้อง

ดอกไม้ทุกชนิดมีระยะการบานที่เหมาะสมสำหรับตัดดอก ถ้าตัดในระยะดังกล่าวจะทำให้บานได้นาน

1. กุหลาบ ตัดได้ตั้งแต่กลีบเลี้ยงดีดออกตั้งฉากกับตัวดอกที่ยังตูมแน่นอยู่ ซึ่งเหมาะสำหรับตัดเพื่อส่งไปจำหน่าย ถ้าตัดดอกจากต้นที่ปลูกเองเพื่อปักแจกันอาจตัดได้เมื่อกลีบดอกเริ่มแย้ม ถ้าตัดเมื่อดอกบานแล้ว ดอกจะโรยเร็ว หรือถ้าตัดดอกที่ยังอ่อนมาก คอดอกจะอ่อนเร็วและดอกเหี่ยวเร็วกว่าปกติ

2. แกลดิโอลัส ควรตัดเมื่อดอกล่างสุดและถัดขึ้นมาหนึ่งดอกเริ่มมีสีเห็นชัดเจน

3. คาร์เนชั่น ควรตัดเมื่อกลีบดอกบนทำมุมฉากกับกลีบรองดอก และใจกลางดอกเริ่มคลี่แล้ว

4. จิบซอฟฟิลา ควรตัดเมื่อดอกบานได้ 50% ของทั้งช่อ ดอกที่เหลือจะค่อยๆ บานเอง

5. เบญจมาศ ควรตัดเมื่อดอกบานเต็มที่

6. เยอบีรา ควรตัดเมื่อเกสรตรงใจกลางดอกเพียง 2 แถวนอกเริ่มบาน

เวลาในการตัดดอก

ควรตัดตอนเช้าหรือดอนเย็นจะได้ก้านที่อวบน้ำและดอกบานได้นานกว่าการตัดดอกตอนเที่ยงหรือตอนบ่าย ซึ่งทำให้ก้านและดอกเหี่ยวง่ายเพราะสูญเสียนํ้าไปขณะที่อากาศร้อนจัด

วิธีตัดดอก

ควรใช้มีดหรือกรรไกรที่คมมากตัดก้านดอกให้ได้แผลเรียบ มีดหรือกรรไกรทื่อจะทำให้ก้านชํ้า ควรตัดเฉียง ๆ เพื่อให้โคนก้านเฉียงหนีก้นแจกันหรือภาชนะบรรจุและเพิ่มเนื้อที่ในการดูดน้ำ ตัดโคนก้านแล้วเอาใบล่างๆ ออก มิฉะนั้น แช่อยู่ในน้ำทำให้น้ำเสีย มีบักเตรีเจริญในน้ำเข้าอุดก้านดอกทำให้ก้านดูดน้ำไม่ได้ ดอกจะเหี่ยวเร็ว ถ้ามีใบติดก้านดอกอยู่มากให้เอาออกบ้างเพราะใบเป็นแหล่งสูญเสีย น้ำจากการระเหย

เมื่อจะตัดดอกไม้ควรนำภาชนะใส่น้ำอุ่นๆ อุณหภูมิประมาณ 38-43°ซ ติดไปด้วย พอตัดดอกแล้วชุ่มโคนก้านดอกลงในน้ำทันที มักเข้าใจผิดกันว่าการใช้น้ำเย็น ๆ แช่ดอกจะทำให้ดอกสด แต่ความจริงนั้นตรงกันข้าม การจุ่มโคนก้านดอกลงในนํ้าอุ่น ๆ จะช่วยเร่งให้ก้านดอกดูดน้ำได้เร็วฃึ้น เป็นการชดเชยนํ้าที่เคยได้รับจากต้นแม่ ทำให้การได้รับน้ำไม่ขาดตอน เมื่อตัดดอกแล้วให้รีบนำเข้ามาในที่ร่ม

การทุบโคนก้านดอกไม้บางชนิดอาจทำให้ก้านดอกดูดนํ้าได้ดี แต่สำหรับกุหลาบแล้วจากการทดลองพบว่าอายุของดอกกุหลาบจะลดลงครึ่งหนึ่งถ้ารอยตัดที่โคนก้านไม่เรียบ

สำหรับโคนก้านที่มีนํ้ายางไหลให้อุดรอยแผลด้วยการลนไฟที่แผล หรือจุ่มโคนก้านลงในน้ำเดือด 2-3 วินาทีโดยห่อดอกและใบไม่ให้ได้รับความร้อน หลังจากลนไฟแล้วไม่ต้องตัดโคนก้านดอกอีก

การตัดก้านดอกใต้นํ้า

ถ้าทำได้จะดีมาก เพราะการตัดก้านดอกใต้น้ำจะทำให้ก้านดอกดูดน้ำได้แน่นอน มิฉะนั้น อากาศซึ่งอยู่ที่โคนก้านอาจเคลื่อนที่เข้าไปในก้านและกั้นน้ำไม่ให้ขึ้นไปเลี้ยงตัวดอก การตัดก้านดอกใต้นํ้าได้ผลดีมากโดยเฉพาะกับกุหลาบ สำหรับดอกไม้ชนิดอื่นไม่เห็นผลชัดเจนนัก

เศษสตางค์หรือแอสไพรินกับอายุการบานของดอก

มีคำกล่าวว่า เศษสตางค์ที่มีทองแดงเป็นส่วนประกอบ หรือยาเม็ดแอสไพรินเมื่อใส่ลงในน้ำที่แช่ดอกไม้แล้วจะช่วยให้ดอกไม้บานได้นานขึ้น ทั้งสองอย่างช่วยลดการทำงานของจุลินทรีย์ในน้ำแต่ไม่มีผลชัดเจน

ปริมาณนํ้าในแจกัน

ดอกไม้ดูดนํ้าขึ้นในก้านดอกเช่นเดียวกับเราดูดนํ้าจากแก้วด้วยหลอดดูด ดังนั้น ถ้ามีนํ้าในก้านดอกแล้ว ปริมาณนํ้าในแจกันจะไม่เพิ่มปริมาณนํ้าที่ก้านดอกดูดไปใช้ แต่ดอกไม้บางชนิดดูดนํ้าได้มากและเร็ว จึงต้องตรวจดูปริมาณนํ้าในภาชนะให้แนใจว่าอย่างน้อยมีนํ้าที่บริเวณโคนก้านเป็นปริมาณมากพอ

อุณหภูมิของนํ้าที่ใช้แช่ดอกไม้

ควรใช้นํ้าที่มีอุณหภูมิอุ่นขนาดที่หยดบนหลังมือแล้วรู้สึกสบาย น้ำอุ่นมีอากาศน้อยกว่าน้ำเย็นๆ และเคลื่อนที่ขึ้นไปในก้านดอกได้ดีกว่าจึงไม่ควรใช้นํ้าเย็นหรือนํ้าเย็นจัด หรือนํ้าอุ่นจัด อีกประการหนึ่งน้ำอุ่นจะละลายสารเคมีที่ใช้ยืดอายุของดอกได้ดีกว่า

นํ้าที่ใช้ควรเป็นน้ำสะอาด นํ้ากรองหรือนํ้ากลั่น ถ้าได้นํ้าที่แยกประจุออกแล้ว (deionized water) จะดีที่สุด

วัสดุที่ใช้ทำภาชนะแช่ดอกไม้

ภาชนะแช่ดอกไม้มักเป็นกระเบื้องเคลือบ พลาสติก หรือภาชนะโลหะ ภาชนะที่เป็นพลาสติก หรือกระเบื้องเคลือบดีกว่าเพราะทำความสะอาดง่าย ภาชนะที่ทำด้วยโลหะทำความสะอาดยากและอาจทำให้สารเคมีรักษาดอกไม้ไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร

อุณหภูมิกับการเก็บรักษาดอกไม้

อุณหภูมิต่ำหรือที่มีอากาศเย็นจะช่วยยืดอายุของดอกไม้ แต่ต้องมีความชื้นสูงด้วย เพราะถ้าดอกไม้อยู่ในที่แห้งจะสูญเสียน้ำเร็วกว่า ตู้เย็นที่ใช้กันตามบ้านมีความชื้นต่ำ การเอาแจกันดอกไม้ใส่ไว้ในตู้เย็นจะทำให้ดอกไม้สูญเสียน้ำ ถ้าต้องการเก็บรักษาดอกไม้ให้บานนาน ควรแช่ก้านดอกในน้ำแล้วหุ้มห่อด้วยถุงพลาสติกใหญ่มัดให้แน่นเพื่อรักษาความชื้นก่อนเอาเข้าตู้เย็น แต่ถ้าเป็นตู้เย็นที่ออกแบบมาสำหรับเก็บรักษาดอกไม้โดยตรงนั้นใช้ได้ดีมาก เพราะมีความชื้นสูงมาก และอุณหภูมิต่ำซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาดอกไม้ให้สดอยู่ได้

เอทธีลีนกับดอกไม้

เอทธีลีนเป็นก๊าซไม่มีสีที่พืชชั้นสูงเช่นผักและผลไม้ปลดปล่อยออกมาในระยะสุกแก่ ก๊าชเอทธีลีนทำให้ดอกไม้หมดอายุเร็วขึ้น ใบเหลืองและกลีบดอกร่วงหล่นเร็ว ดอกไม้เหี่ยวและดอกที่มีแผลจะให้ก๊าชนี้ด้วย

ในสภาพอากาศร้อน ก๊าซนี้จะถูกปลดปล่อยออกมามาก และในสภาพดังกล่าว ดอกไม้จะอ่อนแอต่อก๊าชนี้ด้วยจึงต้องเก็บดอกไม้ให้ห่างไกลจากก๊าชนี้ เอาดอกหรือใบที่เหี่ยวหรือมีแผลออกจากกลุ่มดอกที่สมบูรณ์ วางภาชนะบรรจุดอกไม้ในสถานที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อมิให้มีการสะสมก๊าชเอทธีสีน คาร์เนชั่น ลิ้นมังกรและกล้วยไม้อ่อนแอต่อก๊าชเอทธีลีนมากเป็นพิเศษในขณะที่กุหลาบและเบญจมาศทนทานได้ดีกว่า สารที่ช่วยป้องกันการทำลายของเอทธีลีนคือ ซิลเวอร์ไธโอ ซัลเฟต (Silver thiosulfate หรือ STS) ซึ่งสารนี้ห้ามการทำงานของบักเตรีด้วย

สารเคมีที่ช่วยให้ดอกไม้บานได้นาน

เมื่อตัดดอกไม้มาจากต้น กระบวนการสร้างอาหารและลำเลียงนํ้าส่งให้ดอกไม้ถูกตัดลงด้วย แต่ดอกไม้ยังต้องการนํ้าและพลังงานสำหรับจะบานดอกจนกว่าจะร่วงโรยไป เราจึงนำดอกไม้มาแช่ในน้ำ การใช้น้ำอย่างเดียวไม่พอจึงเพิ่มแหล่งของพลังงานคือนํ้าตาลและสารกำจัดบักเตรีกับจุลินทรีย์ในน้ำซึ่งจะอุดก้านดอกทำให้น้ำเคลื่อนที่ขึ้นไปในก้านดอกไม่สะดวก นอกจากนี้ยังมีสารที่ทำให้น้ำมี pH ต่ำลง คือ มีสภาพเป็นกรดทำให้ก้านดอกดูดนํ้าได้ดีขึ้น และช่วยลดการเจริญของจุลินทรีย์ การใช้สารเคมีช่วยให้ดอกไม้บานได้นานจะช่วยเพิ่มอายุของดอกบางครั้งมากถึง 2 เท่า

สารเคมีเพื่อยืดอายุดอกไม้มักประกอบด้วย

1. นํ้าตาลซูโครสหรือเดกช์โตรส 1-2%

2. สารกำจัดจุลินทรีย์ เช่น 8 HQC (8 Hydroxy quinoline citrate) หรือ 8 HQS

8 Hydroxy quinoline sulphate) 200 ppm หรือ ไฟแซน 20 (Physan 20) หรือเกลือเงินไนเตรต (silver nitrate) 20-50 ppm หรือสารละลายฟอกสี 5%

3. สารช่วยเพิ่มความเป็นกรดของนํ้า เช่น กรดซิตริค 200-600 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) หรืออะลูมิเนียมซัลเฟต 200 ส่วนต่อล้านส่วน

สารเคมีดังกล่าวที่รู้จักกันดี คือ Chrysal และ Florever วิธีใช้ให้ใส่ในนํ้าแช่ดอกไม้ตามคำแนะนำที่แนบมา ควรใช้นํ้าสะอาดใส่ในแจกันที่สะอาดเพื่อช่วยควบคุมปริมาณบักเตรีในนํ้าด้วย

ถ้าต้องการความสะดวกหรือหาง่ายแม่บ้านอาจใช้น้ำอุ่นๆ 1ส่วนผสมกับเซเว่นอัพหรือสไปรท์ 1 ส่วนแล้วเติมสารฟอกสีที่ประกอบด้วยคลอรีนเช่นไฮเตอร์ 1 ½ ช้อนชาเป็นนํ้าที่ใช้แช่ดอกไม้ในแจกัน เพราะเซเว่นอัพและสไปร์ทต่างก็มีนํ้าตาลเป็นอาหารของดอกไม้ มีกรดซิตริคทำให้น้ำเป็นกรด และสารฟอกสีจะช่วยป้องกันไม่ให้บักเตรีเจริญในนํ้า