ว่านกบ

ว่านต้นนี้นิยมเล่นกันมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพาะในสมัยนั้นมีผู้ทรงคุณวิทยามากมาย มีสำนักอาจารย์ในทางคงกะพันชาตรีมาก ได้พบว่าว่านนี้ เป็นว่านที่มีสรรพคุณ จึงเป็นสิ่งที่ สำนักอาจารย์เหล่านั้นแสวงหามาเลี้ยงไว้จนเป็นที่แพร่หลายมาจนถึงสมัยนื้แต่ปัจจุบันก็ยังหายากมาก เพราะว่านต้นนี้บางครั้งก็หายไปกระโดดหนีไปได้เมื่อเวลาขุด จึงต้องบุกเข้าไปเสาะแสวงหาตามป่า ที่พอยังเหลืออยู่ แถบจังหวัดกาญจนบุรีบ้าง สระบุรีบ้าง ลพบุรี ปราจีนบุรีบ้าง จึงยังพอเป็นพืชพันธุ์ในปัจจุบัน

ลักษณะ หัวคล้ายหัวกบ มีหัว มีตีนสี่ตีนเหมือนกบ เปลือกของหัวก็มีลักษณะคล้ายหนังกบ มีหนวด ออกข้างปากคล้ายหนวดปลาดุก ใบคล้ายกับใบอุตพิต แต่มีจุดคล้ายหนังกบ บางตำราว่าไว้ว่ามีใบเหมือนหมากผู้หมากเมีย หัวว่านนี้มองอีกอย่าง เป็นรูปปลาปักเป้า สีเขียวติดกัน เป็นพืช เป็นตอน ๆ ไปมียางเหนียว ถึงฤดูฝนจึงจะแทงใบเจริญเติบโต เวลาฝนตกจะต้องเรียกหากันได้เหมือนกบ ตัวผู้ตัวเมีย ผู้ปลูกว่านนี้ เพื่อในทางคงกะพันชาตรีโดยมาก

ประโยชน์ในทางเล่นแร่แปรธาตุ ถ้าต้องการนำว่านนี้มาใช้ต้องเขียนยันต์เป็นเลขไทย เขียนใส่ฝ่ามือ สำหรับจับหัวว่านนี้ เขียนดังนี้

อาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า เมื่อจับหัวได้แล้วให้เอาลวดตะกั่ว หรือผิวไฟฟ้าร้อยที่ปาก แล้วนำมาตำกวนกับปรอท จะทำให้ปรอทแข็งตัว แล้วเอาห่อผ้าที่ย้อมกับลูกมะเกลือไว้ เอาตะกั่วหรือดีบุกตั้งไฟหลอมให้ละลาย แล้วเอากากหัวว่านที่เหลือใส่ในเบ้าหลอมต่อไปจนเป็นเถ้าไปหมด จึงเอาปรอทที่ห่อผ้ามะเกลือนั้นใส่ลงไปในเบ้าหลอมต่อไป จนไม่มีเถ้าเหลือในเบ้า แล้วยกขึ้นเท ตะกั่วหรือดีบุกนั้น จะกลายเป็นเงินบริสุทธิ์ (ตามตำราของท่านอาจารย์เลื่อน)

สรรพคุณ ท่านจะไปในสารทิศใด นำหัวว่านนี้ติดตัวไป เป็นคงกะพันชาตรี สามารถป้องกันตัวได้ดี ภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่แผ้วพาลได้เลย ว่านต้นนี้มีเทวดารักษา จึงต้องระวังเรื่องของสกปรก สิ่งไม่เป็นมงคลไม่ควรนำว่านนี้เข้าไปปลูกไว้ใกล้เป็นอันขาด สตรีไม่ควรให้รดนํ้า

ชื่อเรียกกันอยู่ 3 อย่างคือ ว่านท้าวอังกุลีบ้าง ว่านพระยาอังกุลีบ้าง ว่านเต่าบ้าง

วิธีปลูก ให้นำดินในป่า หรือกลางทุ่งนามาปลูก ระยะแรกรดนํ้าอย่าให้แฉะเพราะรากจะเน่า กลบดินไม่ต้องกลบให้แน่น ให้หัวโผล่พ้นดินเล็กน้อย น้ำที่รดครั้งแรกควรเสกด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ” 3 จบ ควรปลูกในที่แดดรำไร เหมือนสภาพในป่า ไม่ชอบโดนแดด