ว่านช้างร้อง

ว่านช้างร้อง

ลักษณะ ต้นและใบเหมือนต้นใบหนาด ว่านต้นนี้ใช้ปักกิ่งปักก็เป็น ผู้ใดไม่รู้จักในการเดินป่าไปถูกใบว่านต้นนี้โดยเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งแล้ว ในขั้นแรกจะปรากฏเป็นผื่นคัน ต่อมากลายเป็นแผลกินลึกลงไปจนถึงกระดูก ถ้ารักษาไม่ถูกจะลุกลามไปเป็นแผลเหว่อะหวะ เมื่อผู้ใดถูกใบเข้าแล้วให้เอานํ้ายาสูบใส่หรือเอาว่านที่แก้พิษว่าน เช่นว่านขอทอง จ่าว่าน ว่านขมิ้นอ้อย (ว่านทั้งสามนี้ได้ชื่อว่าพญาว่าน) จึงจะแก้ว่านชนิดนี้ได้ โดยใช้หัวของว่านใดว่านหนึ่งฝนทา

ประโยชน์ ใช้สำหรับปลูกเป็นประตูรั้วในสวน ไว้ป้องกันรักษาสวนมิให้ขโมยละลาบละล้วง เข้าไปลักขโมยผลไม้ในสวน หรือในสถานที่อื่นใดที่หวงห้าม เพราะเมื่อไปถูกใบว่านนี้เข้าก็จะปรากฏอาการคันทั่วตัวทันที จึงทำให้ไม่เป็นอันจะขโมยอะไรอีกแล้ว นอกจากจะมัวกังวลรักษาอาการคันของร่างกายของตนอยู่

วิธีปลูก ใช้หักกิ่งปักในดินบริเวณที่ร่ม พองอกรากและกิ่งก้านก็นำย้ายไปปลูกในที่ต้องการต่อไป

อนึ่ง ถ้านำว่านใดๆ ก็ตามไปปลูกรวมกับว่านตอดนี้แล้ว จะมีพิษร้ายมากยิ่งขึ้น เมื่อใครโดนใบเข้าไปแล้ว จะไม่มีว่านหรือยาอื่นใดรักษาให้หายได้ นอกจากจะตายไปในที่สุด

ว่านต้นนี้มีมากที่เขาจมูก เทือกเขาตะนาวศรี เขตติดต่อระหว่างไทยกับพม่า ใกล้กับหมู่บ้านโป่งแจะ ในพื้นที่ ต.บ้านคาหมู่ 2 กิ่งอำเภอสวนผึ้ง โดยมีแม่น้ำภาชีผ่าน

ที่ได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งเพราะชาวบ้าน (กระเหรี่ยง) ในตำบลนี้บอกว่า ช้างซึ่งมีผิวหนังหนา เมื่อโดนใบว่านต้นนี้เข้าแล้วจะร้องบอกพรรคพวกและบริวารไม่ให้เข้าไปใกล้ จึงเรียกกันว่าต้นช้างร้อง และไม่ทราบว่าเป็นจำพวกว่านที่เรียกว่าว่านตอด