ว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้

สมุนไพรแก้โรคกระเพาะ แผลถลอก และแผลไฟไหม้ นํ้าร้อนลวก

ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ว่านไฟไหม้ หางตะเข้

ชื่ออังกฤษ Aloe, Mediterranean Aloe, True Aloe, Star Cactus

ชื่อวิทยาศาสตร์ Aloe baibadensis Mill. A. vera Linn.

วงศ์ Liliaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

พืชล้มลุก ลำต้นสั้น ใบออกเป็นกระจุกที่ปลายลำต้น ใบเป็นใบเดี่ยว รูปยาว ปลายแหลม หนาและฉ่ำน้ำ ขอบใบมีหนามแหลม ผิวใบมีสีเขียวใสและมีรอยกระสีขาว ภายในใบมีวุ้นและเมือกมาก ช่อดอกออกตรงกลางลำต้น ก้านช่อดอกยาวมาก ดอกเป็นหลอด โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อ ปลายแยกกัน กลีบดอกสีส้ม แดง

การปลูก

ว่านหางจระเข้ เป็นพืชที่ปลูกง่ายโดยใช้หน่ออ่อน ขึ้น

ได้ดีบริเวณริมทะเลที่เป็นดินทรายและมีปุ๋ยอุดมสมบูรณ์ จะปลูกในกระถางหรือในแปลงก็ได้ ปลูกห่างกัน 1-2 ศอก เป็นพืชที่ต้องการนํ้ามาก แต่ต้องมีการระบายนํ้าที่ดี มิฉะนั้นจะทำให้รากเน่าและตาย ว่านหางจระเข้ชอบแดดรำไร ถ้าถูกแดดจัดใบจะเป็นสีนํ้าตาลแดง

ส่วนที่ใช้เป็นยา วุ้นและเมือกจากใบสด

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา

เก็บในช่วงอายุ 1 ปี

สารสำคัญ

1. วุ้นและเมือกจากใบ มีสารจำพวกไกลโคโปรตีน

(glycoprotein) ชื่ออะลอคทินเอ (aloctin A) และอะลอกทินบี (alcotin B) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ลดอาการอักเสบและช่วยสมานแผลโดยไปส่งเสริมการจับตัวและการเจริญเติบโตของเซลล์ที่บาดแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น

2. ยางสีเหลืองในส่วนเปลือกใบ มีสารจำพวก แอนทราควิโนนซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบายหลายชนิด เช่น อะโลอีโมดิน (aloe-emodin), อะโลซิน (aloesin), อะโลอิน (aloin) เป็นต้น

ประโยชน์ในการรักษา

1. วุ้นจากใบใช้รักษาแผลไฟไหม้ นํ้าร้อนลวก และแผลถลอก

วิธีใช้

เลือกใบว่านหางจระเข้ที่อยู่ส่วนล่างๆ เพราะใบใหญ่ได้วุ้นมาก นำมาปอกเปลือกสีเขียวออก ล้างยางสีเหลืองที่ติดมาออกให้หมด โดยใช้น้ำต้มสุกหรือนํ้าด่างทับทิม ขูดเอาวุ้นใสมาพอกบริเวณแผล ทาวันละ 2 ครั้ง เช้า -เย็น จนกว่าแผลจะหายจะช่วยระงับความเจ็บปวด ช่วยให้แผลหายเร็วและไม่เกิดแผลเป็น

ข้อควรระวัง ควรล้างยางสีเหลืองจากส่วนเปลือกออกให้หมดก่อนนำมาใช้ ควรทดสอบว่ามีอาการแพ้หรือไม่ โดยทาวุ้นลงบริเวณแขนด้านใน หากไม่เกิดอาการคันหรือแดงก็ใช้ได้

2. วุ้นและเมือกจากใบใช้รักษาแผลเรื้อรัง และแผลใน

กระเพาะได้ดี

วิธีใช้ นำใบมาปอกเปลือกออก เหลือแต่วุ้น ล้างน้ำให้สะอาด ใช้รับประทานวันละ 2 เวลา เช้า-เย็น

3. นํ้าเมือกจากใบใช้ทาผิวหนังเพื่อป้องกันและบำบัดผิวหนัง เกรียมจากแสงเอ็กสเรส์ และกัมมันตภาพรังสี ปัจจุบันมีการนำว่านหางจระเข้มาผสมในเครื่องสำอางอีกด้วย เช่น เครื่องสำอางที่ใซ้บำรุงผิวและผม เป็นต้น

4. ยางสีเหลืองจากเปลือกใบ ใช้ทำยาดำซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบาย เมื่อกรีดใบว่านหางจระเข้จะมีนํ้ายางสีเหลืองๆ ไหลออกมา เมื่อนำนํ้ายางที่ได้ไปเคี่ยวเพื่อระเหยนํ้าออกไป เมื่อทิ้งให้เย็นจะเป็นก้อนสีน้ำตาลดำ เรียกว่า ยาดำ ใช้เป็นยาระบาย และมักจะใช้แทรกในตำรับยาแผนโบราณที่ต้องการให้มีการระบายหลายตำรับ จนกระทั่งมีคำพังเพยว่า “แทรก เป็นยาดำ” ยาดำ เมื่อรับประทานแล้วจะเกิดอาการไซ้ท้องเพราะทำให้ลำไส้ เคลื่อนไหวมาก ขนาดรับประทานประมาณ 250 มิลลิกรัม หรือประมาณเท่าเม็ดถั่วเขียว ว่านหางจระเข้พันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทยมีปริมาณนํ้ายางน้อยไม่อาจใช้ในการผลิตยาดำ ยาดำส่วนใหญ่จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ