ว่านเสน่ห์จันทน์

เสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์

ว่านเสน่ห์จันทน์นี้ นิยมเล่นกันเป็นคราว ๆ ในประวัติศาสตร์สมัยพระนครศรีอยุธยา เป็นราชธานี ก็นิยมเล่นกันมากในสมัยขุนวรวงษาธิราชหนหนึ่ง ต่อมาในสมัยพระนารายณ์มหาราชอีกครั้งหนึ่ง ถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก็ยังมีผู้นิยมเล่นโดยเสาะแสวงหาว่านจำพวกนี้กันอยู่เสมอ แต่หายากสักหน่อยหนึ่ง ราคาในสมัยต้นกรุงรตนโกสินทร์นั้นค่อนข้างออกจะแพง ว่านจำพวกนี้จึงมีอยู่แต่ภายในรั้วในวัง และตามบ้านของคุณพระ พระยา เจ้าพระยา และพวกเสนาบดีทั้งหลายเท่านั้น ว่านจำพวกนี้เป็นว่านเสี่ยงทาย และเป็นว่านชี้ชะตาของเจ้าของหรือผู้ปลูก, ผู้ร้กษา ว่าชะตาขึ้นหรือลงจะมีหรือจะจน

เรื่องเสน่ห์มหานิยมนั้นเป็นสรรพคุณของว่านจำพวกนี้ เมื่อบ้านใครมีปลูกไว้แล้วย่อมเป็นเสน่ห์มหานิยมแก่บ้านนั้น ร้านค้าร้านขายนั้น เชื่อถือกันมาตั้งแต่สมัยโบราณสืบทอดกันมาว่า ว่านจำพวกนี้ถ้าเจ้าของเลี้ยงดี ไม่ข้ามไม่ยํ่าไม่เหยียบ จะบันดาลให้รํ่าให้รวย ทำราชการก้าวหน้า ทำธุรกิจคล่องตัว มีผู้นิยมชมชอบไปมาหาสู่ไม่ขาดดังนี้ (เข้าใจว่าสมัยนั้นชอบเล่นว่านเล่นบอน กันอยู่เมื่อชมของตัวเองเบื่อก็ไปเที่ยวชมเที่ยวดูของพผู้อื่น เพราะบ้านเรือนในสมัยนั้นนับบ้านนับเรือนกันได้) ส่วนต้นว่านนั้นถ้างอกงามดี ก็หมายความว่าเจ้าของจะดีจะมีลาภ จะได้เลื่อนยศจะอยู่เป็นสุข ถ้าเลี้ยงว่านเหี่ยวแห้งล่วงโรย ไม่งามเหมือนของผู้อื่นเขา ก็หมายความว่า จะต้องมีอะไรเป็นเหตุเหล่านั้น คือไม่ราบรื่น ไม่รํ่ารวย เจ็บๆ ป่วยๆ ดังนี้ (คนในสมัยนั้นทุกผู้ทุกมนุษย์เป็นคนซื่อจึงเชื่อตามกล่าวตามเล่ากันมา) เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จึงจะได้รู้ จะได้หาทางแก้ไขกันไปตามกาลตามสมัยฯ

ครั้นต่อมาในราวค่อนศตวรรษด้นของกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากราชาธิปไตย เป็นประชาธิปไตย พวกเจ้าพวกนายมัวแต่ยุ่งมัวแต่ระวังตัว จึงปล่อยประละเลยเรื่องว่านหันมาเล่นการเมือง จึงปล่อยให้ข้าราชบริบาร หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเลี้ยงกันไปตามใจชอบ ไม่บังคับไม่เคี่ยวเข็น จะแยกจะซ่อนเล่นไปให้ใคร ไปฝากใคร ก็มิได้ห่วง ว่านจำพวกนี้จึงได้เล็ดลอดออกมาสู่ในบรรดาบุคคลสามัญธรรมดา แจกกันบ้าง ขอกันบ้าง ขายกันบ้าง จึงได้แพร่พันธุ์ มาเกิดฮือฮาในปัจจุบันนี้ ซึ่งกำลังนิยมเล่นกันอย่างออกหน้า ออกตาขายกันในราคาแพงๆ ว่านเสน่ห์จันทน์ที่นิยมกันในสมัยที่กล่าวนั้น มีอยู่ด้วยกัน 7 อย่างคือ

1. ว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์

2. ว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์กรายจากเสน่ห์จันทน์ขาว

3. ว่านเสน่ห์จันทน์ขาว

4. ว่านเสน่ห์จันทน์แดง

5. ว่านเสน่ห์จันทน์เขียว

6. ว่านเสน่ห์จันทน์หอม

7. ว่านเสน่ห์จันทน์ทอง

ว่านเสน่ห์จันทน์ขาวนั้นเลี้ยงงามและจะเป็นอย่างไรไม่อาจทราบได้ มักจะกรายไปเป็นเขียว ต้นและใบก็จะกรายเป็นสีเขียว มิหนำซ้ำยังมีกลิ่นที่หัวที่ต้นที่ใบแม้กระทั่งดินปลูกหอมมากกว่า เสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์ต้นจริงเสียอีก ที่ทิ้งร่องรอยให้เห็นว่าเป็นเสน่ห์จันทน์ขาว คือ ลักษณะใบ ไม่เหมือนเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์ ก้านยังติดครีบขาวเอาไว้เห็นได้ชัดแจ้ง เนื่องจากเสน่ห์จันทน์ มหาโพธิ์ต้นจริงหาเลี้ยงยาก ในทำนองที่ว่า ซื้อก็ไม่ขาย ขอก็ไม่ให้ ดังนี้ เสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์ ต้นที่มี(ต้นกราย) อยู่ปัจจุบันนี้จึงได้เป็นที่นิยมกันมานี้ (ข้อความบางตอนเก็บได้จากหนังสือเก่าเล่มหนึ่งขาดกะท่อนกระแท่นเก็บได้ที่วัดเกาะสัมพันธวงศ์ มีชื่อผู้เขียนไว้ว่าพระวิเศษ)