ศัตรูของกุหลาบ

โรค แมลง และไรแดง เป็นอุปสรรคสำคัญในการปลูกกุหลาบ การปลูกกุหลาบจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ปลูกที่จะป้องกันกำจัดโรคและศัตรูของกุหลาบนั่นเอง เท่าที่สังเกตผู้ปลูกส่วนใหญ่มักจะไม่ใคร่มีความรู้ในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงทำให้การปลูกกุหลาบโดยทั่วไปมักประสบความล้มเหลวอยู่เสมอ ผู้ปลูกกุหลาบส่วนมากมักจะสนใจที่จะป้องกันและกำจัดแต่แมลง ส่วนโรคและไรแดงนั้นมีน้อยคนที่จะกล่าวถึง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้ศัตรูที่ไม่รู้จักมีโอกาสที่จะทำอันตรายต้นพืชได้มากยิ่งขึ้น และยิ่งกว่านั้นผู้ปลูกบางคนก็ยังไม่ทราบว่าต้นพืชที่ถูกทำลายนั้นเกิดจากโรคหรือ แมลง ซึ่งบางครั้งก็ใช้ยาป้องกันโรคไปปราบแมลง หรือใช้ยากำจัดแมลงไปปราบโรคก็มี

ถึงแม้กุหลาบจะมีศัตรูมากมายหลายอย่าง แต่ศัตรูที่สำคัญ ๆ เท่าที่พบในบ้านเรานั้นมีไม่กี่อย่าง และศัตรูบางชนิดก็อาจใช้ยาร่วมกันได้คือใช้ยาชนิดเดียวก็สามารถป้องกันได้หลายอย่าง แบ่งศัตรูของกุหลาบออกเป็น 3 พวก คือ แมลง

แมลงเป็นศัตรูของกุหลาบที่มีผู้รู้จักมากกว่าศัตรูอื่น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากการทำลายของแมลงเห็นได้ชัดกว่าศัตรูชนิดอื่นนั่นเอง แมลงที่ทำลายกุหลาบมีทั้งแมลงปากกัด แมลงปากดูด และรวมทั้งหนอนของแมลงบางชนิดด้วย แมลงที่เป็นศัตรูของกุหลาบอาจเรียงลำดับตามความสำคัญได้ดังต่อไปนี้

1. แมลงปีกแข็ง (beetle) เป็นแมลงที่กัดทำลายใบ มีทั้งชนิดที่ตัวมีสีน้ำตาลและสีดำ แต่ชนิดที่ตัวมีสีน้ำตาลจะกัดทำลายมากกว่าแมลงทั้งสองชนิดนี้มีขนาดโดยทั่วไปยาวประมาณ 2/3 นิ้ว กว้างประมาณ 1/4 นิ้ว การแพร่พันธุ์จะวางไข่ตามสนามหรือกอหญ้า ไข่ที่ออกเป็นตัวจะกินรากหญ้าเป็นอาหาร เป็นแมลงที่หากินเวลากลางคืน ระยะเวลาที่จะกัดทำลายใบอยู่ประมาณ 1-3 ทุ่ม และมักจะจับอยู่ภายใต้ใบ การกัดทำลายของแมลงสองชนิดนี้จะมีอยู่ตลอดปี ดังนั้น การป้องกันจึงต้องกระทำกันตลอดทั้งปีเช่นเดียวกัน โดยฉีดต้นพืชด้วยยาฆ่าแมลงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นประจำ หรืออาจจะต้องฉีดเพิ่มขึ้น ถ้ายาที่ ฉีดถูกชะล้างหรือมีแมลงชุกชุมเป็นพิเศษ

สำหรับแมลงที่เป็นศัตรูกุหลาบอื่น ๆ นั้น ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก และการฉีดยาป้องกันแมลงดังกล่าว ก็จะมีผลคุ้มกันแมลงชนิด อื่นไปด้วยในตัว แมลงต่าง ๆ เหล่านั้นเท่าที่พบในบ้านเราก็มี

2. ผึ้งกัดใบ (cutter bees) กัดใบให้แหว่ง ใบที่ถูกทำลายมักเป็นรอยเรียบเหมือนถูกเฉือนด้วยมีดคม ๆ และรอยกัดจะเป็นรูปวงกลมสม่ำเสมอ มักจะกัดทำลายใบในเวลากลางวัน ตอนเช้าหรือเย็น ฉีดยาป้องกันเช่นเดียวกับแมลงปีกแข็ง

3. เพลี้ยไฟ (thrips) เป็นแมลงปากดูดตัวขนาดเล็ก มักระบาดในฤดูร้อน ลักษณะตัวแก่ ขนาดปลายเข็มเย็บผ้าขนาดเล็ก ตัวสีน้ำตาลถึงดำ ตัวอ่อนสีขาวนวล วางไข่ตามกลีบดอกชั้นนอก ดอกที่ถูกทำลายจะไม่เจริญแข็ง และไม่บาน กลีบที่ถูกทำลายจะมีรอยไหม้ ควรกำจัดด้วยยาประเภทไดเมททูเอท หรือจากตัวยาในตาราง

4. เพลี้ยจั๊กจั่น (leaf hopper) เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก ตัวสีเขียว ซึ่งจะทำลายใบอ่อนขณะที่ใบยังเล็กและอ่อนอยู่ ใบที่ถูกทำลายจะหงิกงอ และเป็นรอยจุดเหมือนถูกแทงด้วยเข็ม นอกจากนั้นยังอาจทำลายดอกได้ด้วย ทำให้ดอกหงิกและบิดเบี้ยวใช้ประโยชน์ไม่ได้ การป้องกันก็คือ ฉีดหรือพ่นต้นพืชด้วยพวกยาคาร์บาเมท เช่น เซาวินหรือ S.85

5. เพลี้ยแป้ง(mealy bug) เป็นแมลงที่เคลื่อนที่ช้า การแพร่พันธุ์จะอาศัยมดเป็นตัวนำพา เป็นแมลงปากดูด มักเกาะกินตามใบอ่อน หรือตามง่ามใบที่อ่อน ทำให้ใบหงิกและยอดงันไม่เจริญ แมลงชนิดนี้มักมีปุยสีขาวคลุมตัว เห็นได้ชัด ปุยนี้มีลักษณะเป็นมันไม่จับน้ำ ฉะนั้น เวลาฉีดทำลายจึงจำต้องผสมตัวยาจับใบ (sticker) ไปด้วย การกำจัดฉีดด้วยยาฉีดยาฆ่าเพลี้ย

6. เพลี้ยหอย (scale insects) เป็นแมลงปากดูด ตัวแมลงหุ้มด้วยเปลือกสีน้ำตาลรูปครึ่งวงกลม เปลือกนี้เองทำให้ยากแก่การกำจัด มักเป็นกับต้นพืชที่ถูกละเลยและขาดการตัดแต่ง การกำจัดฉีดด้วยยากำจัดเพลี้ยหอย

7. หนอนกินใต้ใบ (rose slugs) เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืนตัวสีน้ำตาล ซึ่งจะวางไข่คล้ายฟองน้ำ เป็นรูปกลมสีน้ำตาล กลุ่มไข่ปกคลุมด้วยขน มักวางไข่ใต้ใบ ไข่เมื่อฟักเป็นตัวจะมีสีเขียว และกัดกินใบที่เกาะอยู่นั้น และจะกระจายไปกัดทำลายใบอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง หนอนชนิดนี้จะกัดทำลายเฉพาะผิวใต้เนื้อใบ ดังนั้นใบส่วนที่ถูกทำลาย จะมีลักษณะโปร่งใส การกำจัดฉีดด้วยยากำจัดหนอน

8. หนอนเจาะดอก (bud worm) เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก ซึ่งจะวางไข่ติดกับดอก ตั้งแต่ขนาดดอกเท่ากับเมล็ดถั่วเขียวถึงดอกแย้ม ไข่มีสีเหลืองอ่อน มักวางติดกับกลีบนอก และวางเป็นฟองเดียวไม่รวมกันเป็นกลุ่ม เมื่อไข่ฟักเป็นตัวก็จะเจาะกินดอกและอาศัยอยู่ในดอก มักจะแพร่พันธุ์ในระยะที่กุหลาบมีดอก ตกราวต้นฤดูหนาว จนตลอดฤดูร้อน โดยเฉพาะในช่วงที่มีเดือนหงาย จะมีการระบาดรุนแรงมาก และเนื่องจากไข่มีขนาดเล็กมาก จึงยาก แก่การสังเกตและปราบปราม การป้องกันที่ควรทำก็คือ ฉีดยาฆ่าแมลงที่มีกลิ่นเหม็นมาก ๆ ในช่วงที่กุหลาบออกดอกดก ๆ หรือฉีดด้วยยาชนิดดูดซึม หรือยาเชื้อโรคของหนอนซึ่งมีจำหน่ายอยู่ทั่วไป นอกจากนั้นควรตรวจดูไข่ตามดอก ถ้าพบต้องรีบฉีดยาทันที เพื่อให้ไข่หรือตัวอ่อนตายเสียก่อน ก่อนที่จะเจาะไชดอกเข้าไปอาศัยอยู่ภายในซึ่งจะไม่มีโอกาสที่จะปราบปรามได้โดยง่าย สำหรับหนอนชนิดนี้จะหายไปหรือทำลายได้ง่าย เมื่อฝนตกหนักโดยเฉพาะในฤดูฝน

9. หนอนเจาะต้น (stern borers) หนอนเจาะต้น อาจเป็นหนอนของผึ้งบางชนิด หนอนของแมลงวันบางอย่างหรือหนอนของพวกต่อ แตน ตัวหนอนของแมลงเหล่านี้จะเจาะกินไส้ และบริเวณท่อน้ำของกิ่งหรือต้นพืช ทำให้กิ่ง ส่วนที่เหลือจากบริเวณที่ถูกทำลายขาดน้ำซึ่ง กิ่งจะแห้งตาย ถ้าตรวจดูบริเวณกิ่งที่แห้งตอนบนกับส่วนที่ไม่แห้งตอนล่าง ตรงบริเวณรอยต่อของส่วนทั้งสองจะพบบริเวณรูเจาะ และควรจะจัดการตรวจดูให้พบตัวและทำลายเสีย ความ เสียหายจากศัตรูชนิดนี้นับว่ายังมีน้อย และจะไม่ค่อยพบในสวนที่ทำการตัดแต่งสม่ำเสมอ และควรฉีดยาป้องกันด้วยยาป้องกันหนอนเจาะต้น

นอกจากแมลงต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้าง ต้น ก็อาจมีแมลงชนิดอื่น ๆ ที่เป็นศัตรูของกุ- หลาบ เช่น เพลี้ยอ่อน (aphids) และแตนต่อยตอกหรือบัว (rose midge) แต่แมลงทั้งสามชนิดนี้ ยังไม่เคยพบเห็นทำลายกุหลาบที่ปลูกใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เลย

โรคของกุหลาบ (rose diseases)

โรคของกุหลาบ โรคนับว่าเป็นศัตรูสำคัญอันดับแรก ในการปลูกกุหลาบโดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อ เนื่องจากเป็นศัตรูที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ส่วนที่เห็นเป็นบริเวณที่เป็นโรค ซึ่งไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ ดังนั้นการไม่ให้เกิดโรคแก่ต้นพืชก็มีเพียงอย่างเดียวคือ วิธีป้องกันเพื่อมิให้ส่วนอื่นที่ยังไม่เป็นโรคเกิดเป็นโรคขึ้นได้ สำหรับโรคที่เกิดจากเชื้อที่นับว่าเป็นอุปสรรคในการปลูกกุหลาบอาจเรียงลำดับตามความสำคัญได้ดังต่อไปนี้

1. โรคใบจุด (black spot) เป็นโรคที่รู้จักกันแพร่หลายในวงการปลูกกุหลาบทั่วไป และสามารถเป็นกับต้นพืชได้เกือบตลอดปี โดยเฉพาะฤดูฝนในเดือนที่มีฝนตกสม่ำเสมอ เช่นเดือนกันยายนและตุลาคม หรือในฤดูหนาวที่มี น้ำค้างมาก ๆ ส่วนในฤดูร้อนและเป็นโรคนี้น้อย หรือเกือบจะไม่มีเลย อาการที่พบในพืชก็คือ บนใบจะเกิดเป็นจุดสีดำขอบของจุดไม่สม่ำเสมอ มีรูปคล้ายเส้นปุย กุหลาบพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ ใบที่เป็นโรคจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วง อย่างรวดเร็ว ส่วนพันธุ์ที่ทนโรคนี้จะมีอาการใบเหลืองและร่วงเพียงเล็กน้อย และยังไม่มีกุหลาบพันธุ์ใดที่จะทนโรคนี้จริง ๆ พวกกุหลาบดอกสีแดงหรือสีชมพูหรือแสดค่อนข้างจะทนโรคนี้ได้ดีกว่ากุหลาบที่มีดอกสีเหลืองหรือสีส้ม การเกิดโรคเริ่มด้วยสปอร์ที่อยู่บนใบแก่ที่ร่วงอยู่ตามผิวดินในแปลงหรือที่สะสมอยู่ตามง่ามกิ่งปลิวไปติดกับใบที่ยังไม่เป็นโรค และเมื่อใบมีความชื้นติดต่อกันราว 6-8 ชั่วโมง สปอร์นี้ก็จะงอกเข้าไปในใบพืช และหลังจากนั้นอีกประมาณ 1 สัปดาห์ก็จะปรากฏอาการเป็นโรคให้เห็น มักเป็นกับใบที่อยู่บริเวณโคนต้นขึ้นมาจนถึงใบบริเวณตามยอด

การป้องกัน จากผลการทดลองในรัฐฮาวาย ในปี 1950 โดยใช้ยาฆ่ารา 5 ชนิดในการป้องกันโรคนี้กับกุหลาบ ได้แสดงให้เห็นว่าสารประกอบของทองแดง ให้ผลการป้องกันโรคนี้ ได้ดีที่สุด การฉีดยานี้ควรฉีดสัปดาห์ละหนึ่ง ครั้ง หรือมากกว่าหากมีฝนตกหนัก

2. โรคราแป้ง (powdery mildew) เป็นโรคที่สำคัญอย่างหนึ่งในท้องที่ที่มีอากาศหนาวเย็น และมีน้ำค้างจัด เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับใบอ่อนหรือยอดอ่อนของต้นพืช โดยบริเวณที่เป็นโรคจะมีลักษณะเป็นปุยคล้ายพรมด้วยผงแป้ง ส่วนของต้นพืชที่เป็นโรคจะหงิกงอผิดปกติ และถ้าเป็นมากบริเวณที่เป็นโรคจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงถึงดำ ในระยะนี้ถ้าเป็นกับใบ ใบก็จะร่วงจากต้น การให้ปุ๋ยไนโตรเจนแก่พืชมาก ๆ ในระยะนี้ต้น พืชจะถูกทำลายมาก

การป้องกันและกำจัด ควรฉีดต้นพืชในระยะที่มีน้ำค้างและอากาศเย็นด้วยยาคาราเธน (karathane) หรือส่วนผสมของกำมะถัน (sul­phur compound) หรือทองแดง (copper com­pound) สัปดาห์ละครั้งจะช่วยป้องกันโรคนี้ได้ สำหรับการใช้ส่วนผสมของกำมะถันจะต้องทำการฉีดในวันที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 85°ฟ. มิฉะนั้น ใบพืชอาจไหม้และร่วงจากต้นได้

3. โรคราสนิม (rust) โรคนี้จะไม่ทำลายร้ายแรงนัก เนื่องจากระยะเวลาที่จะเป็นโรคนี้มีระยะสั้น ในบ้านเราจะพบโรคนี้ในฤดูฝน โดยเฉพาะในเดือนที่มีฝนชุก คือเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมเท่านั้น โรคนี้จะสังเกตได้ง่ายที่ใบ และมักเป็นกับใบแก่บริเวณบนใบ ใบที่เป็นจะมีจุดสีส้มและจะมองเห็นเป็นจุดสีเหลืองทางใต้ใบ และอาจมีลักษณะคล้ายรูปถ้วย ใบที่เป็นมาก ๆ อาจจะเหี่ยวและเป็นทั้งใบภายใน 5 วัน หลังจากที่ปรากฏอาการเป็นโรคมีกุหลาบบางพันธุ์เท่านั้นที่อ่อนแอต่อโรคนี้

การป้องกัน พ่นหรือฉีดด้วยยาฆ่าราที่มีสารประกอบของกำมะถัน หรือแคปแตน การตัดแต่งกิ่งและดูแลความสะอาดบริเวณแปลงปลูกจะช่วยลดอันตรายจากโรคนี้ได้มาก

4. โรคตากบ (anthracnose) โรคนี้ไม่ค่อยจะเป็นอันตรายมากนัก และจะพบในเดือนที่มีฝนตกชุกเช่นเดียวกัน อาการของโรคที่พบคือ มีจุดสีน้ำตาลเป็นวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1/4 นิ้วของระยะแรก และจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว ขอบสีม่วงและดำ มักจะพบเป็นที่ใบอ่อนหรือกิ่งอ่อน

5. โรคหนามดำ (brown canker) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราและเป็นกับกิ่งอ่อน ส่วนใหญ่ มักจะเกิดกับหนามก่อนแล้วก็ลุกลามไปตามส่วนของกิ่ง มีลักษณะเป็นรูปวงรี ทำให้เปลือกแห้งตาย ถ้าเป็นรอบกิ่งบริเวณกิ่งตอนบนก็จะ แห้งไปด้วย ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคปลายกิ่งแห้งตายได้ มักเกิดกับกุหลาบบางพันธุ์ เช่น Super star เป็นต้น

การป้องกัน ฉีดด้วยยาฆ่าราที่มีสารประกอบของทองแดง จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้

สำหรับการป้องกันโรคของกุหลาบนี้ เนื่องจากการเกิดโรคมักจะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน คือขณะที่อากาศมีความชื้นสูง เช่นในฤดูฝน และก็มีโรคหลายชนิดที่ใช้ยาอย่างเดียวกันฉีด ป้องกันได้เช่นยาที่มีสารผสมของทองแดง ซึ่ง ต้องฉีดป้องกันโรคใบจุดอยู่เป็นประจำตลอดปีแล้ว ดังนั้น ยานี้จึงมีผลคุ้มกันโรคอื่น ๆ ด้วยจึงช่วยให้การป้องกันกำจัดทำได้ง่ายขึ้น

6. โรคอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีโรคที่พบเมื่อ ปี 2509 อีก 3 โรค คือโรคคราวน์กอล และโรค โมเซค (mosaics)

นอกจากโรคที่มีเชื้อดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็อาจจะพบอาการอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายโรค ซึ่งทำให้เข้าใจว่าเป็นโรคเกิดจากเชื้อได้ อาการเหล่านี้ก็ได้แก่ :-

1. อาการเป็นพิษเนื่องจากสารเคมี (chemical injury) ดังเช่น อาการใบไหม้เนื่องจากสารของทองแดง (copper injury) อาการที่พบก็คือเป็นจุดสีแดงหรือสีน้ำตาลเล็ก ๆ บนใบ แล้วใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและใบร่วง มักเป็นกับใบอ่อนหรือยอดอ่อนได้ง่าย

ก. อาการใบไหม้เนื่องจากปุ๋ย เกิดจากการใส่ปุ๋ยโดนใบโดยเฉพาะการให้ปุ๋ยที่เป็นเกล็ดหรือผงในขณะที่ใบเปียก หรือการละลายปุ๋ยรดผ่านใบแล้วไม่ได้รดน้ำล้างในทันที หรืออาจเกิดจากการให้ปุ๋ยทางใบที่มีความเข้มข้นเกินไป ดังนั้น การใส่ปุ๋ยจึงต้องระวังไม่ให้โดนใบ และถ้าจำเป็นจะต้องรีบล้างก่อนน้ำปุ๋ยที่เปียกใบจะแห้งไปเสียก่อน

ข. อาการใบไหม้เนื่องจากกำมะถัน มักปรากฏอาการใบไหม้เป็นจุดหรือเป็นแผ่นสีน้ำตาลตามยอดหรือขอบใบ หรืออาจทำให้ใบเหลืองหรือร่วงได้ ดังนั้น การฉีดหรือพ่นต้นพืชด้วยสารประกอบชนิดนี้ เมื่ออุณหภูมิสูงใกล้ 80°ฟ. จึงต้องระมัดระวังและไม่ควรใช้สารประกอบชนิดนี้เมื่ออุณหภูมิเกิน 85°ฟ.

ค. อาการใบไหม้เนื่องจากผสมยาที่รวมตัวกับสบู่ไม่ได้ ยาบางชนิดไม่อาจจะผสมรวมกันได้ เพราะจะทำให้ส่วนผสมของยานั้นหมดฤทธิ์ หรือไม่เป็นพิษแก่ต้นพืชได้ โดยเฉพาะยาฆ่าแมลงบางชนิดที่ผสมกับยาฆ่าเชื้อราบางอย่าง มักจะรวมตัวกันไม่ได้เช่นยาฆ่าแมลงลิบเดน กับยาฆ่าเชื้อราพวกบอร์โดมิกซ์เจอร์ ดังนั้นการใช้ยาที่ต้องการผสมฉีดรวมกันไปในคราวเดียว จึงต้องอ่านฉลากที่มีติดแนบไว้ให้ถี่ถ้วน ว่าจะผสมกับยาอะไรได้บ้าง มิฉะนั้นการฉีดยา ป้องกันโรคแมลงจะกลายเป็นการฉีดทำลายต้นพืชไป

2. อาการใบเหลือง (chlorosis) อาการใบเหลืองโดยทั่วไปเกิดจากการที่ใบพืชไม่สามารถจะสร้างคลอโรฟิลส์ซึ่งเป็นสารสีเขียวขึ้นได้ หรือคลอโรฟิลล์ที่สร้างขึ้นอาจถูกทำลายอันเนื่องมาจากสาเหตุของการขาดธาตุเหล็ก มักจะพบในดินที่มีฤทธิ์เป็นด่าง นอกจากการขาดธาตุเหล็กแล้ว อาการใบเหลืองอาจเกิดจากการที่ต้นพืชขาดธาตุไนโตรเจน ธาตุแมงกานีส ธาตุแมกนีเซียม หรือการที่รากพืชขาดอ๊อกซิเจน หรือที่เรียกว่ารากเน่าก็ได้

ก. อาการใบเหลืองเนื่องจากขาดธาตุเหล็ก จะปรากฎอาการใบเหลืองขึ้นบนใบอ่อนก่อน และจะลุกลามไปถึงใบแท้ได้ และเนื่องจากการขาดธาตุนี้มีสาเหตุมาจากดินมีฤทธิ์เป็นด่าง ดังนั้นการแก้ดินให้เป็นกลาง หรือมีฤทธิ์เป็นกรดเล็กน้อย ด้วยการเติมกำมะถันหรือด้วยการเติมเหล็กซัลเฟท (ferous sulphate) ในอัตรา 1-2 ปอนด์ต่อเนื้อที่ 100 ตารางฟุต และคลุมดินด้วยวัตถุคลุมดิน จะช่วยแก้อาการใบเหลืองนี้ได้ ถ้าต้องการให้อาการนี้หายเร็วขึ้นก็อาจพ่นต้นพืชด้วยเหล็กซัลเฟตอัตรา 1 ออนซ์ต่อน้ำ 3 แกลลอน หรือประมาณ 28.4 กรัมต่อน้ำ 13.6 ลิตร

ข. อาการใบเหลืองเนื่องจากขาดธาตุแมกนีเซียม อาการที่เป็นคือ เกิดอาการใบเหลืองขึ้นบนใบแก่ก่อนและลุกลามไปยังใบอ่อน มักเกิดขึ้นในดินปลูกที่เป็นดินทรายและมีฤทธิ์เป็นกรด การแก้ก็คือใส่ดินด้วยหินปูนของเกลือคาร์บอร์เนต เช่น แคลเซี่ยมหรือแมกนีเซียมคาร์บอร์เนต

ค. อาการใบเหลืองและใบร่วงเนื่องจากขาดอ๊อกซิเจน มีสาเหตุมาจากดินปลูกระบายน้ำไม่ดี โดยเฉพาะการปลูกกุหลาบในดินเหนียว หรือใช้วัตถุปลูกที่อัดแน่นและดูดความชื้นมากเกินไป การแก้ก็คือปรับปรุงดินปลูกให้มีการระบายน้ำดีขึ้น และถ้าปลูกในกระถาง ก็ควรพรวนดิน หรือเปลี่ยนเครื่องปลูกเสียใหม่

ง. อาการใบเหลืองเนื่องจากขาดธาตุไนโตรเจน มักเป็นทั่วต้น แต่ต้นพืชจะไม่ทิ้งใบ การแก้ก็คือใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง ๆ

จ. อาการไหม้ตามขอบใบ อาจเกิดจากต้นพืชขาดธาตุโปแตสเซี่ยม หรือเนื่องมาจากการฉีดพ่นยาก็ได้ และถ้ามีสีเทาเกิดขึ้นตามบริเวณใบ ก็แสดงว่าต้นพืชขาดธาตุฟอสฟอรัส

3. อาการกิ่งแห้งตาย (die bak) มักเกิดจากการปล่อยดอกทิ้งไว้โดยไม่ได้ตัดดอก หรือตัดไม่ชิดใบ หรืออาจเกิดจากดินปลูกแฉะอยู่เป็นเวลานาน ๆ หรืออาจเกิดจากรอยตัดที่ทำการตัดแต่งโดยไม่ได้ทารอยตัดด้วยสีทารอยตัด ดังนั้น วิธีแก้อาการที่เกิดขึ้นก็คือ ทำการปรับปรุงแปลงปลูกให้ระบายน้ำได้ดี ตัดดอกให้ชิดก้านใบ และทารอยตัดด้วยสีทาแผลรอยตัด

ไรแดง แมงมุนแดง หรือเพลี้ยแดง(red spider) ไม่ใช่แมลง เนื่องจากตัวมี ขา 4 คู่ หรือ 8 ขา ตัวมีขนาดเล็กสังเกตได้ยาก มักเกาะอยู่ตามใต้ใบและทำลายพืชโดยเจาะดูดน้ำเลี้ยงที่ใบ บริเวณที่ถูกทำลายจะปรากฎเป็นจุดสีเหลืองอ่อน มองเห็นได้ทางหลังใบ ใบที่ถูกทำลายมาก ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีขาวนวลและร่วง เนื่องจากเป็นศัตรูที่สังเกตได้ยาก และมักจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ดังนั้นจึงมีโอกาสทำลาย หรือทำความเสียหายให้แก่ต้นพืชได้มากไม่แพ้โรค

แม้ไรแดงจะเป็นศัตรูสำคัญก็ตาม แต่การระบาดจะเป็นมากในบางฤดูกาล ฤดูที่ไรแดงระบาดมากได้แก่ในฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือน กุมภาพันธ์จนสิ้นเดือนเมษายน ดังนั้นในระยะนี้ควรจะพ่นด้วยยาป้องกันไรแดงเป็นประจำ และถึงแม้ไรแดงจะไม่ทำความเสียหายให้มากในฤดูอื่น แต่ก็ควรจะป้องกันไว้ด้วยการฉีดยาป้องกันอย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยเฉพาะในฤดู ฝนที่มีอากาศอับชื้น ซึ่งเป็นเนื่องจากศัตรูชนิดนี้ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วนั้นเอง

สำหรับยาที่ใช้ปราบไรแดง ปัจจุบันนี้มียาหลายชนิดที่สามารถกำจัดไรแดงและควบคุมการแพร่อย่างได้ผล มีทั้งยาที่ทำลายตัวแก่ยาที่ทำลายไข่ และยาที่ไม่ทำลายตัวและไข่ แต่ทำให้เป็นหมัน ยาที่ทำลายตัวได้แก่ยาที่มีส่วนผสมของกำมะถันเคลเชนและไบดริน

ยาที่ใช้ทำลายไข่ได้แก่ อีริซิท (Erysit) ส่วนยาที่ควบคุมการขยายพันธุ์ได้แก่คลอโรไซท์ สำหรับอัตราการใช้ของยาแต่ละอย่างนั้น จะมีบอกตามหีบห่อหรือตามฉลากในหีบห่อของยาแต่ละชนิดไป

ตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า ศัตรูกุหลาบนั้นมีหลายชนิด บางชนิดก็มีการทำลายรุนแรง บางชนิดก็มีการทำลายบ้างเพียงเล็กน้อย เพียง แต่ทำให้ต้นพืชไม่งอกงามเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามการที่มีความรู้ในเรื่องนี้แล้ว ไม่ได้หมาย ความว่าจะสามารถที่จะเลี้ยงดูกุหลาบให้งอกงามปราศจากโรคและแมลงรบกวนได้ การปฏิบัติที่ได้ผลนั้นขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ตรวจตรา มีแผนการใช้ยาล่วงหน้าประกอบกับการฉีดยา ป้องกันไม่ขาดตอน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทำความลำบากอยู่บ้าง สำหรับผู้ที่รักกุหลาบไม่จริง หรือมีงานอื่นที่จะต้องปฏิบัติซึ่งสำคัญกว่า

ตารางแสดงตัวอย่างการใช้ยาฆ่าแมลงกับแมลงชนิดต่างๆ
ชนิดแมลง ยาที่ใช้ อัตราการใช้
ด้วงหรือแมลงปีกแข็ง พาราไทออน 100 กรัม ต่อไร่
  ติลดริบ 80-100 “
  เอ็นดริน 100 “
  คลอร์เดน 200-10,000 “
  เฮมตาคลอร์ 400 “
  สารหนูตะกั่ว 600 “
  เมทท๊อกซี่คลอร์ 200-400 “
     

 

ชนิดแมลง ยาที่ใช้ อัตราการใช้
เพลี้ยจั๊กจั่น เมทท๊อกซี่คลอร์

ดี.ดี.ที.

มาลาไทออน

300-400 กรัม ต่อไร่

300-400 ”

200-300 “

  เอ็นดริน

พาราไทออน

50 ”

100 “

เพลี้ยแป้ง อี.พี.เอ็น.

พาราไทออน 25%

บาลาไทออน 25%

เซวิน 50%

 

170 กรัม ต่อน้ำ 100 แกลลอน

450 ” ” 100 ”

1,3509 ” 100 “

900 “ 100 “(1 แกลลอน =4.546 ลิตร)

เพลี้ยหอย

 

 

 

 

 

หนอนดินใต้ใบ

บาลาไทออน 25%

พาราไทออน

กูไทออน

เซวิน 50%

 

ดี.ดี.ที.

1.35 กรัม ต่อน้ำ 100 แกลลอน

145 ” ” 100 ”

60 ” ” 100

6 ช้อนกาแฟ ” 100

(พ่นต้นพืช 3-4 ครั้ง)

209 กรัม ต่อไร่

  เอ็นดริน 60 “
  ติลดริน 100”
หนอนเจาะดอก

หนอนเจาะต้น

ฟอสดริน

คลอร์เดน 75%

ดีลดริน 25%

100 “

5 ช้อนสังกะสี ต่อน้ำ 20 ลิตร

10 ” ” ” 10 ลิตร

เพลี้ยไฟ พาราไทออน 75 กรัม ต่อไร่
  ดี.ดี.ที. 50-300”
  ดีลดริน 15-100”
  เอ็นดริน 15-30”
เพลี้ยอ่อน พาราไทออน

ฟอสดริน

50-100”

25 “

  เอ็นดริน 50 “