ศัตรูพริกและการป้องกันกำจัด

แม้ว่าพริกเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะพริกเป็นพืช ผักที่ใช้ประโยชน์ในการปรุงอาหารมากที่สุด ประกอบกับเป็นพืชที่ปลูกขึ้นได้ง่าย จึงมีการปลูกกันทั่วไปทั้งในแง่ของการค้าหรือปลูกไว้หลังบ้าน บ้านละต้นสองต้นเป็นผักสวนครัว แต่อย่างไรก็ตามพริกที่มีการปลูกกันนั้นไม่ว่าปลูกเพื่ออะไรมักต้องประสบกับปัญหาเรื่องโรคและแมลงศัตรูคอยรบกวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัญหานี้จะทำความเสียหายให้กับผู้ปลูกได้มาก เพราะพริกถ้ามีโรคและแมลงศัตรูทำลายแล้ว มักให้ผลผลิตลดต่ำลง ต้นแคระแกรนไม่เจริญเติบโตหรือตายไปก่อนที่จะให้ผลผลิต ดังนั้น โรคและแมลงศัตรูพริกจึงเป็นปัญหาสำคัญในการปลูกพริกมาก ซึ่งเกษตรกรบางท่าน อาจรู้จักอาการของพริกที่ถูกทำลายว่าเกิดจากโรคหรือแมลงได้เป็นอย่างดี แต่ยังไม่รู้ถึงสาเหตุจากการทำลายที่แท้จริง และการป้องกันกำจัดที่ถูกต้อง แต่ถ้าเกษตรกร มีความรู้ในเรื่องนี้อยู่บ้าง ก็จะช่วยลดปัญหาและความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย โรคและแมลงศัตรูพริกมีดังนี้

โรคกุ้งแห้ง

โรคนี้เรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่าโรคแอนแทรคโนส สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อรา นับว่าเป็นโรคหนึ่งที่สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตพริกได้มากพอสมควรเพราะจะทำลายและระบาดมากในช่วงที่ผลพริกกำลังเจริญเติบโต ผลพริกที่เป็นโรคนี้จะมีแผล ขนาดใหญ่และในเวลาต่อมาอาจมีผลทำให้ผลพริกเน่าผลผลิตที่ได้ก็ลดต่ำกว่าปกติ และมีคุณภาพไม่ดีตามที่ตลาดต้องการ เพราะว่าผลพริกที่เกิดรอยแผลหรือเน่าจากโรคนี้ทั้งส่วนของผลและเมล็ดจะหงิกงอคล้าย ๆ กับกุ้งแห้ง แต่อย่างไรก็ตามความเสียหายที่เกิดจากโรคนี้ทำลาย ในแต่ละท้องที่อาจแตกต่างกันแล้วแต่สภาพแวดล้อม อย่างเช่นในพื้นที่ปลูกพริกที่มีความชื้นสูงและฝนตกชุก โรคนี้จะมีการแพร่ระบาดได้ เร็วและถ้าไม่มีการฉีดยาป้องกันกำจัดอาจทำความเสียหายให้กับผลพริกได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง

พริกที่ถูกโรคนี้ทำลายจะแสดงอาการเห็นได้ชัดกับผลพริกที่แก่จัดหรือสุกส่วนผลที่ยังอ่อนไม่ค่อยแสดงอาการเป็นโรคนี้ให้เห็นและในระยะที่ผลพริกใกล้เจริญเติบโตเต็มที่หรือระยะก่อนที่ผลพริกจะเปลี่ยนสีมีโอกาสติดโรคนี้ได้ง่าย โดยที่อาการของโรคในตอนแรกจะปรากฏเป็นจุดวงกลมช้ำสีน้ำตาลและแผลของโรคจะบุ๋มลึกลงไปจากระดับของผิวผลพริกเล็กน้อย ต่อมาจุดช้ำสีน้ำตาลนี้จะลุกลามกว้างออกไป แผลวงกลมหรือแผลรูปไข่ ขนาดของแผลไม่เท่ากันบางแผลเล็ก บางแผลใหญ่ ในบางผลอาจมีแผลใหญ่ประมาณสองในสามส่วนของผล ซึ่งทำให้ผลพริกเน่าทั้งหมด ผลพริกที่มีแผลดังกล่าวนี้อาจจะร่วงหล่นก่อนที่จะสุกหรือแก่เต็มที่ ถ้าหากนำผลพริกที่มีโรคนี้ระบาดในแปลงปลูกมาตากแดดเพื่อทำพริกแห้ง ในระหว่างตากมักจะมีการเน่ามากขึ้น การเก็บรักษาก็ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ทั้งนี้เนื่องจากเนื้อเยื่อของพริกบางผลที่เป็นแผลจากโรคนี้จะบางและเน่าเปื่อยก่อน หากนำไปเก็บไว้ในที่ที่มีความชื้นสูง ผลพริกจะเน่าเพิ่มมากขึ้นอีกหรืออาจทำให้ผลพริกที่เก็บไว้เน่าทั้งหมด เพราะ เชื้อราของโรคนี้ยังมีชีวิตอยู่ภายในแผลของผลพริกบางผลที่เป็นโรคนี้ซึ่งติดมาในระหว่างการเก็บเกี่ยว สำหรับผลพริกที่เป็นโรคนี้เมล็ดมีเชื้อโรคติดไปด้วยจึงไม่ควรนำไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ปลูก

โรคนี้มักเกิดขึ้นได้ง่ายในฤดูที่มีฝนตกชุกหรือในแหล่งปลูกพริกที่ความชื้นสูง ตลอดจนในแปลงพริกที่ปลูกแน่น และต้นพริกที่มีทรงพุ่มหนาทึบ ต้นเตี้ย ส่วนผลพริกที่อยู่ภายในทรงพุ่ม โรคนี้ก็ชอบเกิดมาก นอกจากนี้ในแปลงพริกที่ขาดการดูแลเอาใจใส่ เช่น มีวัชพืชขึ้นหนาแน่นขาดการฉีดยาป้องกันกำจัดก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ ในการแพร่ระบาดก็เกิดขึ้นโดยสปอร์ของเชื้อราลอยไปตามลมหรือถูกชะล้างไปกับน้ำในเวลาฝนตกหรือรดนํ้า บางทีอาจติดไปกับพวกแมลงต่าง ๆ ที่บินวนเวียนอยู่ภายในแปลงพริกก็ได้

การป้องกันกำจัด

๑. ไม่ควรคัดเลือกเมล็ดจากแปลงปลูกพริกที่เป็นโรคนี้ระบาดมาขยายพันธุ์ปลูก

๒. ก่อนที่จะเพาะเมล็ดพริกควรใช้ยากำจัดเชื้อราคลุกเคล้าเมล็ด เพื่อทำลายเชื้อโรคที่อาจติดมากับเมล็ด

๓. ภายในแปลงปลูกไม่ควรปล่อยให้วัชพืชขึ้นหนาแน่นมากนัก

๔. ใส่ปุ๋ยที่มีธาตุโปแตสเซียมสูงหรือปุ๋ยที่มีสูตรตัวหลังสูง เช่น สูตร ๕-๑๐-๒๕, ๕-๑๐-๑๕ หรือสูตรอื่นก็ได้ที่ใกล้เคียงกันนี้ ทั้งนี้เนื่องจากว่าปุ๋ยโปแตสเซียมจะช่วยให้พริกมีความต้านทานต่อโรคนี้มากขึ้น

๕. ใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราพ่นทุก ๑-๒ อาทิตย์ต่อครั้ง ซึ่งมียาที่ใช้ได้ ผลดี เช่น ไดโพลาแทน ๘๐% WP. ในอัตราส่วนประมาณ ๓๐ กรัม ผสมน้ำ ๒๐ ลิตร เบนเลท อัตราส่วนประมาณ ๖ กรัม ผสมน้ำ ๒๐ ลิตร ไซเนป ๘๐% WP. อัตราส่วนประมาณ ๖๐ กรัม ผสมน้ำ ๒๐ ลิตร ฉีดพ่น ถ้าเป็นฤดูฝนการพ่นยาต้องพ่นให้บ่อยขึ้นโดยเฉพาะหลังฝนตก และยาป้องกันกำจัดเชื้อราทุกชนิด ให้ผลในการป้องกันกำจัดโรคนี้ได้พอ ๆ กัน แต่ยกเว้นยาที่มีส่วนผสมของพวกกำมะถัน

๖. ไม่ควรปลูกพริกซ้ำในพื้นที่ที่เคยมีโรคนี้ระบาดมาก่อน

๗. หลังจากเก็บเกี่ยวผลพริกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรเก็บต้นพริกมาเผาทำลายเสีย

โรคราแป้ง

โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งและสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ๆ กับพริก แต่ความเสียหายของโรคนี้น้อยกว่าโรคอื่น ๆ และต้นพริกที่เป็นโรคนี้จะไม่ตาย ถ้าเป็นมากก็เพียงแต่ทำให้ใบเหลืองและร่วง เป็นผลให้ต้นพริกไม่สมบูรณ์และให้ผลผลิตลดต่ำลงแต่ไม่มาก สามารถให้ผลผลิตต่อไปจนตลอดฤดูการเก็บเกี่ยว

พริกที่เป็นโรคราแป้งที่มีลักษณะอาการที่แสดงให้เห็นพอสังเกตได้คือ ใบมีสีเหลีองไม่สม่ำเสมอกัน และเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคนี้จะมองเห็นมีลักษณะเป็นผงหรือขุยสีขาวคล้ายกับผงแป้งเป็นเส้นใยและสปอร์ของเชื้อรานี้จะเจริญเป็นกลุ่มกระจัดกระจายทางด้านหลังใบ ส่วนเนื้อเยื่อด้านบนใบที่อยู่ตรงข้ามกันจะมีสีเหลีอง ในระยะต่อมาเนื้อเยื่อสีเหลืองนี้อาจมีจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลเกิดขึ้น ใบพริกที่มีเชื้อราเกาะอยู่มาก ๆ ใบจะเหลืองและร่วงหล่นไปในที่สุด

การป้องกันกำจัด

โดยการใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราจำพวกกำมะถันผงละลายน้ำพ่น ซึ่งใน การพ่นยาพวกกำมะถันต้องระวังให้มากเป็นพิเศษคือ ควรพ่นในเวลาเช้ามืดที่อากาศ เย็นหรือยังมีน้ำค้างเกาะอยู่หรืออาจพ่นในตอนเย็นก็ได้      ถ้าหากพ่นในช่วงเวลาอื่นที่มีอากาศร้อนจัดจะทำให้พริกได้รับความเสียหายได้มาก นั่นคือใบพริกจะเกิดอาการไหม้ได้ ส่วนยาป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดอื่น ๆ ที่มีชื่อเรียกทางการค้าในท้องตลาด ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน ได้แก่คาราเทน, เบนเลท, ดาโคนิล และแพลเทน เป็นต้น โดยเลือกใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วแต่ความสะดวก ส่วนอัตราการใช้ก็สุดแล้วแต่ คำแนะนำของยาชนิดนั้น ๆ เป็นประการสำคัญ โรคเหี่ยวของพริก

โรคเหี่ยวของพริกจะแสดงอาการที่เกิดขึ้นให้เห็นอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกันคือ

๑. ลักษณะอาการเหี่ยวของต้นพริกที่เกิดจากการทำลายของเชื้อแบคทีเรีย โดยปกติเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ชอบอาศัยอยู่ในดินที่มีสภาพค่อนข้างเป็นด่าง ดังนั้นการปลูกพริกและพืชชนิดอื่นๆที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน ถ้าปลูกในดินที่มีสภาพดังกล่าวอาจเกิดโรคนี้ขึ้นได้ง่าย และเมื่อเกิดโรคแล้วการแพร่ระบาดไปได้ ไกล โดยอาศัยการพัดพาของน้ำเป็นตัวนำเชื้อแบคทีเรียไป หรืออาจติดกับแมลงต่าง ๆ ที่อาคัยอยู่ภายในบริเวณแปลงพริก แต่อย่างไรก็ตามการติดต่อของโรคนี้เชื้อโรคจะต้องเข้าทางบาดแผลเท่านั้น ซึ่งอาจเข้าได้หลายทาง เช่น ทางแผลที่ถูกแมลงกัดกิน หรือแผลที่ไส้เดือนเจาะเข้าไปทางราก ฯลฯ ดังนั้นต้นพริกที่ไม่มีบาดแผลตามรากตามโคนต้น โรคนี้ก็จะไม่มีอาการให้เห็น

ต้นพริกที่เหี่ยวเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียเข้าทำลายจะแสดงอาการเห็นได้ ชัด คือจะเกิดอาการเหี่ยวทั้งต้นในเวลากลางวันที่มีอากาศร้อนและจะฟื้นตัวขึ้นใหม่ เป็นปกติในตอนกลางคืน สำหรับอาการที่เหี่ยวในตอนกลางวันถึงแม้เราจะรดน้ำสักเท่าใดก็ตามก็ไม่สามารถฟื้นกลับคืนได้ ตามปกติเหมือนกับอาการขาดน้ำ ทั้งนี้เพราะเชื้อดังกล่าวจะเข้าทำลายเนื้อเยื่อของท่อลำเลียงน้ำและอาหาร ทำให้รากดูดน้ำไปเลี้ยงลำต้นได้ไม่เพียงพอประกอบกับตอนกลางวัน ต้นพริกมีการคายน้ำมาก จึงทำให้เหี่ยวในเวลาตอนกลางวันและฟื้นขึ้นใหม่ตอนกลางคืน โดยที่ต้นพริกจะแสดงลักษณะอาการฟื้นนี้ อยู่ประมาณ ๒-๓ วัน ก็จะเหี่ยวเฉาถาวรนั่นคือ ในตอนกลางคืน ไม่ฟื้นกลับคืนเป็นปกติอีก หลังจากนั้นก็จะตายไปในที่สุด และเมื่อถอนขึ้นทั้งต้นทั้งราก มาดูจะเห็นรากเน่า

การป้องกันกำจัด

๑. ถ้าพบลักษณะอาการของต้นพริกดังที่กล่าวมา ก็ให้ถอนต้นไปเผาไฟ ทำลายเสีย

๒. ป้องกันมิให้ต้นพริกเกิดระบาดแผลขึ้นตามโคนและราก เช่น การฉีดยาป้องกันกำจัดหนอนเจาะรากและโคนต้นหรือกัดกินโคนต้น หรือการกระทำลักษณะอื่นๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดแผลด่างๆ ขึ้น เช่น การปฏิบัติดูแลรักษาของผู้ปลูกเอง (การใส่ปุ๋ย การกำจัดวัชพืช การพรวนดิน ฯลฯ)

๓. ปลูกพืชหมุนเวียนหรือพืชอื่นสลับกันไป

๔. ในการใช้ยาป้องกันกำจัดจะเป็นการสิ้นเปลืองมาก และมักจะไม่ค่อย ได้ผลเพราะเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคนี้อาศัยอยู่ในดิน จึงยากแก่การกำจัด

๒. ลักษณะอาการเหี่ยวของต้นพริกที่เกิดจากการทำลายของเชื้อรา หรือ บางทีเกษตรกรเรียกกันว่าโรคพริกหัวโกร๋น โรคเหี่ยวของพริกที่เกิดจากเชื้อราจะพบระบาดมากในสภาพของดินปลูกพริกที่เป็นกรดมาก ๆ จัดได้ว่าเป็นอีกโรคหนึ่งที่มีความสำคัญมากเพราะต้นพริกที่ถูกเชื้อรานี้เข้าทำลายมักตายก่อนที่จะมีการเก็บเกี่ยวผลได้ หรือถ้าไม่ตายเสียก่อนผลผลิตก็ลดลงมาก

พริกที่แสดงอาการเหี่ยวซึ่งเกิดจากเชื้อราทำลายจะแสดงอาการต่างกับเชื้อ แบคทีเรียที่กล่าวมาแล้วคือ ต้นพริกจะเริ่มแสดงอาการใบเหลืองกับใบที่อยู่ตอนล่าง หรือใบแก่ก่อนและในเวลาต่อมาจะเกิดอาการใบเหลืองกับใบที่อยู่กัดขึ้นมาเรื่อยๆ และเพิ่มมากขึ้นตามลำดับอย่างผิดปกติ (ต้นพริกที่ปกติโดยทั่วไป ใบแก่ ๆ หรือใบที่อยู่ส่วนล่างปีอปีโคนต้น ก็มิอาการเหลีอปึและร่วงไปบ้างเช่นกัน แต่ลักษณะการร่วงของใบร่วงไปเรื่อย ๆ ตามอายุของใบหรือต้น) นอกจากนี้ในบางต้นเราอาจพบเห็นใบพริก เริ่มมีสีเหลืองเป็นบางแขนงหรือบางกิ่งของต้นก่อน ทั้งนี้เพราะเชื้อราเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อที่เป็นท่อทางเดินอาหารและน้ำแต่เพียงด้านใดด้านหนึ่งที่ใบมีสีเหลืองก่อน ต่อมาเมื่อมีใบเหลืองมากขึ้นต้นพริกก็จะเหี่ยวเฉาและตายไปในที่สุด ใบที่เหลืองแล้ว จะเหี่ยวลู่ลงดินและหลุดร่วง ต้นพริกที่เหี่ยวเนื่องจากเชื้อรามักแสดงอาการในระยะที่กำลังผลดอก-ติดผล ทำให้ดอกและผลอ่อนร่วงไปพร้อมกับใบ หลังจากนี้ประมาณ ๑-๒ อาทิตย์ ต้นพริกก็จะยืนตายทั้งต้น

ต้นพริกที่เหี่ยวตายเพราะเชื้อราเข้าทำลาย นอกจากแสดงลักษณะอาการ ด้งกล่าวแล้ว ถ้าตรวจดูที่บริเวณรากและโคนของต้นจะเห็นว่าเนื้อเยื่อตรงโคนต้น แห้งบุ๋มลึกลงไปเล็กน้อยและถ้าเอามีดเฉือนดูเนื้อเยื่อภายในลำต้น จะเห็นท่อลำเลียงน้ำและอาหารของลำต้นและรากมีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลไหม้ แสดงว่าท่อน้ำและอาหารถูกทำลายจากเชื้อราจึงเกิดอาการใบเหลือง และเหี่ยวตายไปในที่สุด

การป้องกันกำจัด

๑. ถ้าพบต้นพริกที่มีลักษณะอาการดังกล่าว ให้ทำลายเสียโดยการถอนทั้งต้นทั้งรากไปเผาไฟ

๒. ปลูกพืชหมุนเวียนหรือพืชชนิดอื่นสลับกัน

๓. การเพิ่มปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักตลอดจนปุ๋ยพืชสดให้กับดินที่ปลูกพริก จะมีผลช่วยให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดี ซึ่งเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการทำลายเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ได้

๔. ในสภาพดินปลูกที่เป็นกรด ควรจะทำการปรับสภาพดินเสียก่อน (pH ประมาณ ๖-๖.๘ จะช่วยลดการเกิดโรคนี้ได้มาก)

๕. การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนไม่ควรใช้รูปของปุ๋ยยูเรียหรือปุ๋ยแอมโมเนียซัลเฟต เพราะเป็นการทำให้ดินยิ่งมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น ซึ่งเชื้อราชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดี ในสภาพดินเช่นนี้และอาจแพร่ระบาดเข้าทำลายต้นพริกได้ง่ายยิ่งขึ้น

๖. ในการใช้ยาป้องกันกำจัดโรคนี้มักไม่ค่อยได้ผลและเป็นการสิ้นเปลืองยามาก เพราะเชื้อราชนิดนี้เจริญอยู่ในดินเช่นเดียวกับโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

โรคกล้าเน่าตาย

เป็นโรคที่ทำความเสียหายให้กับต้นกล้าพริกที่เพาะไว้ในแปลงเพาะตายก่อน ที่จะนำไปปลูกในแปลงจริง ซึ่งมีสาเหตุของโรคส่วนใหญ่มาจากเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ดพืชที่ใช้เพาะ เช่น ติดจากเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคกุ้งแห้งของพริก หรือเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคใบจุด หรือบางทีอาจติดจากเชื้อโรคอื่น ๆ ที่ชอบอาศัยอยู่ในดิน ซึ่งเชื้อโรคต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้มีส่วนทำให้เมล็ดพริกที่นำไปเพาะเน่าก่อนเพาะ หรือต้นกล้าที่งอกแล้วตายไป ถ้าหากไม่ตายต้นกล้าก็อาจไม่สมบูรณ์เต็มที่ ทั้งนี้เนื่องจากต้นกล้า มีความทนทานต่อโรคน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อโรคที่ทำให้รากเน่า

ลักษณะอาการทั่วไปของโรคกล้าเน่าตายที่พอสังเกตเห็นได้ชัดคือ ต้นกล้าเหี่ยวแห้งตาย แต่อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้มากและต่างชนิดกัน ทำให้อาการทองโรคที่แสดงให้เห็นจึงแตกต่างกันบ้าง เช่น อาจมีแผลที่ใบเลี้ยงหรือตามส่วนของลำต้น ราก แล้วต้นกล้าของพริกจึงค่อยตายไป ถ้าหากไม่ตายการเจริญเติบโตก็ไม่เป็นไปตามปกติ นอกจากนี้เชื้อโรคบางชนิดอาจติดไปกับต้นกล้าที่นำไปปลูกในแปลงจริงและอาจแพร่ระบาดลุกลามต่อไป

การแพร่ระบาดของโรคจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในแปลงเพาะที่มีต้นกล้าขึ้นแน่นเกินไป เพราะมีการถ่ายเทของอากาศไม่สะดวกและมีการระบายน้ำไม่ดี สำหรับการปลูกพริกแบบใช้เมล็ดหยอดในหลุมปลูกโดยตรงโรคนี้เกิดขึ้นได้ง่ายถ้ามีเชื้อโรค อยู่ในดินและมีฝนตกชุกหรือมีการระบายนํ้าไม่ดี

การป้องกันกำจัด

๑. ใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนที่จะปลูกหรือเพาะ เพื่อ ป้องกันเชื้อราในดินเข้าทำลายเมล็ดในขณะที่มีการงอก ยาที่ใช้คลุกเมล็ดก็มีอยู่หลายชนิด เช่น แคปแทน ๗๕ ไทแรม เป็นต้น

๒. หลังจากที่ต้นกล้าพริกงอกโผล่พ้นระดับผิวดินแล้ว ควรฉีดยาป้องกัน โรคทันที ซึ่งยาที่ใช้ก็เป็นยาจำพวกป้องกันกำจัดเชื้อราทั่วๆไป เช่น เบนเลท แอน­ทราโซล ไซเนป เป็นต้น โดยฉีดพ่นยาเหล่านี้ชนิดใดชนิดหนึ่งทุก ๕-๗ วันต่อครั้ง ก็สามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้

โรครากเน่า

เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา ซึ่งโรคนี้จะพบมากในดินปลูกพริก ที่มีสภาพกรดมาก ๆ หรือที่เรียกกันว่าดินเปรี้ยว แต่อย่างไรก็ตามโรคนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วการแพร่ระบาดจะช้ากว่าโรคอื่น ๆ แต่ก็อาจแพร่กระจายไปได้ทั่วทั้งไร่ เพราะว่าเชื้อรามีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมไปได้นานจนกว่าจะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่งนับเวลาได้เป็นปี ๆ จึงมีโอกาสแพร่ระบาดไปได้ไกล ๆ โดยอาจติดไปกับก้อนดินที่มีเชื้อโรคนี้หริอติดไปกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร ตลอดจนติดไปกับคนและสัตว์ที่เข้าไปเหยียบย่ำบนดินที่มีเชื้อโรคนี้ระบาด

ต้นพริกที่ถูกโรคนี้ทำลายจะเริ่มแสดงอาการมีใบเหลืองก่อน หลังจากนั้น ใบจะร่วงและเหี่ยวแห้งยืนต้นตายไปในที่สุด แต่ตามปกติแล้วโรคนี้เมื่อเกิดกับพริกในต้นใดต้นนั้นก็จะตายในระยะเวลาอันสั้น และมักพบต้นพริกตายในขณะที่อยู่ในช่วงกำลังเจริญเติบโตเต็มที่หรืออยู่ในระหว่างผลิดอกออกผล ทำให้ผลผลิตที่ควรจะได้รับเสียหายไปด้วย นอกจากนี้มีใบเหลืองแล้วถ้าสังเกตบริเวณโคนต้นพริกที่เป็นโรคนี้จะพบเชื้อราเจริญอยู่ มีลักษณะเป็นเส้นใยสี่ขาว บางเส้นมีขนาดใหญ่เท่ากับเส้นด้ายแทรกอยู่ตามระหว่างก้อนดิน อาจพบเม็ดกลมเล็ก ๆ ซึ่งเกิดจากเส้นใยของเชื้อราเจริญรวมกันเป็นก้อนแข็งกลมสีขาวและต่อไปจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและดำ เชื้อรานี้นอกจากเจริญอยู่แถว ๆ โคนต้นพริกแล้ว ถ้ามีสภาพอากาศชื้นหรือความชื้นมีมากที่โคนต้น เราอาจพบเชื้อราที่เจริญเป็นเส้นใยสีขาวดังกล่าวลุกลามขึ้นไปตาม ลำต้นสูงประมาณ ๓-๔ นิ้วนับจากโคนต้นพริกที่เกิดเชื้อรานี้เจริญเติบโตอยู่ก่อน

การป้องกันกำจัด

๑. ถ้าพบต้นพริกที่มีลักษณะอาการดังกล่าวให้ถอนไปทำลายเสียโดยการ

เผาไฟ

๒. การใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทบ่อยๆ จะมีส่วนช่วยให้โรคนี้ลดลงได้ ๓. ทำการปรับสภาพดินให้ค่อนข้างเป็นด่าง (pH ประมาณ ๗-๘) โดย

การใส่ปูนขาวเพิ่ม ซึ่งต้นพริกอาจมีการเจริญเติบโตได้ไม่ดีในดินที่มี pH ดังกล่าว แต่โรคอาจลดน้อยลงได้ ซึ่งนับเป็นวิธีที่ดีที่สุดกับการแก้ไขโรคนี้

๔. ถ้าโรคนี้ระบาดมากจนไม่สามารถทำการป้องกันกำจัดได้ ก็ควรเลิกปลูกพริกสักระยะหนึ่งแล้วปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่นที่ไม่มีโรคนี้แทน หลังจากนั้นจึงค่อยปลูกพริกใหม่

๕. ใช้สารเคมีผสมน้ำราดดินในหลุมที่ถอนต้นไปเผาไฟ หรืออาจผสมน้ำราดโคนต้นที่เป็นโรคนี้แล้วรดน้ำตาม สำหรับสารเคมีที่ใช้ได้ เช่น เทอราโซล ๓๕%WP., เทอราคลอ ๓๕%WP. และบราสสิโคล ๓๕%WP (Brassicol) เป็นต้น

โรคยอดและดอกเน่า

โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา เกิดขึ้นได้กับพริกในช่วงฝนตกหนัก ในช่วงนี้ เราอาจพบยอดและดอกพริกเน่าเป็นสีน้ำตาลมากกว่าช่วงอื่น ๆ แต่เมื่อเกิดโรคแล้ว ไม่ค่อยระบาดร้ายแรงนัก

พริกที่เป็นโรคนี้จะแสดงลักษณะอาการให้เห็นกับบริเวณส่วนยอดของต้น เช่นใบอ่อนยอด และดอกอ่อนเน่าเป็นสีน้ำตาล และถ้าสภาพอากาศมีความชื้นสูงมากๆ จะเห็นเส้นใยหยาบๆ สีขาวเจริญเป็นกลุ่มอยู่บนเนื้อเยื่อสีน้ำตาลดังกล่าวมีลักษณะการเจริญเติบโตเป็นเส้นสั้นๆ ตั้งตรง และที่ปลายเส้นใยโป่งออกเป็นก้อนเล็กๆ สีดำ มองเห็นด้วยตาเปล่า แต่ถ้าสภาพอากาศแห้งเชื้อรานี้จะแห้งและหลุดไปด้วย ยอดพริกก็แตกยอดใหม่ขึ้นมาได้

การแพร่ระบาดของโรคนี้ก็เกิดขึ้นโดยสปอร์ของเชื้อราปลิวไปตามลมหรือบางทีอาจติดไปกับแมลงต่าง ๆ ที่บินอยู่ภายในแปลงพริก

การป้องกันกำจัด

ดังได้กล่าวแล้วว่าโรคนี้มีการระบาดมากในช่วงฤดูฝนตกหนัก ดังนั้นในช่วงนี้ควรมีการฉีดยาป้องกันกำจัดเชื้อราป้องกันยอดอ่อนและดอกอ่อนไว้ก่อน โดยใช้ยาชนิดเดียวกับโรคแอนแทรกโนส และในการฉีดยาป้องกันกำจัดเชื้อราของโรคอื่น ๆ เป็นประจำก็มีส่วนช่วยในการป้องกันกำจัดโรคนี้ไปในตัวด้วย

โรคใบแห้ง

เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา เชื้อรานี้เวลาเจริญเติบโตจะขยายออกไปตามแผลมองเห็นเป็นวงสีนํ้าตาลซ้อนกัน ถ้าอากาศชื้นบนวงสีนํ้าตาลดังกล่าว จะเกิดสปอร์ของเชื้อราขึ้นปกคลุมบนแผลด้านล่างใบมองดูเป็นผงสีนํ้าตาลไหม้ แต่อย่างไรก็ดีโรคนี้ยังไม่มีการแพร่ระบาดและทำความเสียหายกับพริกมากนัก ประกอบกับพริกบางชนิด เช่น พริกชี้ฟ้าและพริกขี้หนู มีความต้านทานต่อโรคนี้

อาการของโรคนี้เริ่มแรกจะเป็นแผลวงกลมสีนํ้าตาลที่ใบ โดยแผลด้านบน ใบมีสีอ่อนกว่าด้านล่างของใบ ต่อมาแผลจะขยายเป็นวงกว้างออกไปจนเป็นแผลขนาดใหญ่ บางแผลมีขอบสีเหลืองและใบที่มีแผลใหญ่เพียงแผลเดียวใบจะเหลือง และร่วงจากต้นได้

การป้องกันกำจัด

ในการฉีดยาป้องกันกำจัดเชื้อราของโรคอื่น ๆ บางโรคที่เกิดจากเชื้อราเป็นประจำก็มีส่วนช่วยในการป้องกันกำจัดโรคนี้ไปในตัวด้วย

โรคผลเน่า

เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าโรคอื่น ๆ เพราะผลพริกที่ถูกโรคนี้ทำลายจะเกิดเป็นแผลขึ้น ซึ่งแผลที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากเหตุอื่น ๆ ก่อน เช่น การขาดธาตุแคลเซียมและธาตุโปแตสเชียม การขาดธาตุทั้ง ๒ ธาตุนี้มีผลทำให้ผลพริกขาวซีดแห้งตายไปในที่สุด หรืออาจเกิดจากแผลของโรคกุ้งแห้ง แผลจากแมลงกัดกินหรืออื่นๆ ก็ได้ เมื่อเกิดแผลเหล่านี้ขึ้นเมื่อเยื่อแห้งตายลงก็มักมีเชื้อราอีกหลายชนิดเข้าทำลายซ้ำเติมภายหลัง ซึ่งมีผลทำให้ผลพริกเน่าและเสียหายมากขึ้น

ในช่วงที่มีสภาพของอากาศชื้นเชื้อราที่เข้าทำลายผลพริกที่เป็นโรคนี้จะขึ้นปกคลุมทั่วแผลมีลักษณะคล้ายกับกำมะหยี่สีดำ นอกจากนี้แผลยังมีลักษณะคล้าย ๆ กับโรคกุ้งแห้งของพริก ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคกุ้งแห้ง

การป้องกันกำจัด

ตามที่กล่าวแล้วว่า โรคนี้จะเกิดเป็นแผลขึ้นก่อนสาเหตุต่าง ๆ หลายสาเหตุด้วยกัน ดังนั้นในการป้องกันกำจัดเราจะต้องป้องกันมิให้ผลพริกมีบาดแผล ก็จะช่วยให้ผลพริกไม่เป็นโรคนี้ได้

โรคใบจุด

สาเหตุที่ทำให้พริกเกิดโรคใบจุดมีอยู่ ๒ สาเหตุด้วยกันคือ

๑. โรคใบจุดที่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา มักเกิดกับการปลูกพริกยักษ์ในท้องที่บางแห่งเท่านั้นที่ไม่มีการใช้ยาป้องกันกำจัดเป็นประจำ ทำให้ใบพริกร่วงกำหนด และให้ผลผลิตน้อยลงกว่าปกติ ถ้าเกิดกับต้นกล้าพริก ต้นกล้าจะแห้งตายไป พริกที่เป็นโรคใบจุดเนื่องจากเชื้อราจะเริ่มแสดงอาการเป็นจุดช้า ๆ ขนาดเล็ก ต่อมาจุดที่เกิดขึ้นและขยายวงกว้างจนเป็นแผลขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓-๔ มิลลิเมตร ตรงกลางแผลจะแห้งบางเป็นสีเทาอ่อนหรือน้ำตาล ขอบแผลสีน้ำตาลแก่หรือน้ำตาลอมแดงแผลที่เกิดขึ้นบนใบอาจลุกลามมารวมติดกันกลายเป็นแผลใหญ่ ทำให้แผลมีรูปร่างเปลี่ยนไปไม่แน่นอนใบที่มีแผลใหญ่หลายแผลจะหลุดร่วงไปก่อนกำหนด ต้นพริกจึงไม่สมบูรณ์เต็มที่เพราะขาดใบในการปรุงอาหารไปเลี้ยงลำต้น การให้ผลผลิตจึงไม่ดีเท่าที่ควร

การป้องกันกำจัด

ควรปลูกพืชหมุนเวียนสลับกันไป หรือปลูกพันธุ์ที่ผลขนาดเล็ก เช่น พริกขี้หนู หรือพริกอื่น ๆ แทนไปก่อนสักระยะหนึ่ง

ในการใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราพ่น จะต้องพ่นตั้งแต่เริ่มพบโรคนี้ระบาด ยาที่ใช้ได้ เช่น ไซเนป, มาเนป ฯลฯ โดยพ่นเป็นประจำทุก ๕-๗ วันต่อครั้ง

๒. โรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มักจะระบาดมากในฤดูฝน แต่ความ เสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่มากนัก เพียงแต่ทำให้ใบพริกเป็นจุดหลายๆ จุด ต่อไปใบอาจจะเหลืองและร่วงได้ โดยอาการของโรคในระยะแรกจะเป็นจุดช้ำน้ำขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด จากนั้นจุดดังกล่าวจะขยายใหญ่ขึ้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑-๒ มิลลิเมตร ตรงกลางจุดจะมีสีน้ำตาล ขอบแผลแข็งนูนขึ้นมาจากระดับเดิมเล็กน้อยรอบๆ ขอบแผลจะมีเนื้อเยื่อสีเหลืองอ่อนๆ และแผลดังกล่าวนี้จะไม่ขยายต่อไปอีก

การแพร่ระบาดของโรคนี้ก็โดยเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคถูกน้ำชะล้างไปอาจเกิดจากการรดน้ำหรือน้ำฝนเวลาฝนตกถูกลมพัดพาไป ตลอดจนติดไปกับแมลงต่างๆ ก็ได้

การป้องกันกำจัด

เนื่องจากโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักและไม่ได้เป็นทั่วไปทุกแหล่งที่ปลูกพริก ดังนั้นถ้าพบโรคนี้ระบาดขึ้นควรทำการพ่นยาป้องกันกำจัดเสีย ยาที่ใช้เป็นชนิดเดียวกับยาป้องกันกำจัดเชื้อราของโรคอื่นๆ เช่น ไซเนป มาเนป ฯลฯ แต่ไม่ค่อยได้ผลดี นักเพราะโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือจะใช้ยาที่เป็นสารปฎิชีวนะ เช่น อะกริมัยซิน หรือสเตปโตมัยซิน (Streptomycin) โดยใช้ตามคำแนะนำของยาชนิดนั้น ๆ

เพลี้ยไฟ

เป็นแมลงศัตรูพริกที่มีความสำคัญมาก เพราะต้นพริกที่ถูกเพลี้ยไฟทำลาย จะชะงักการเจริญเติบโต แคระแกรน ใบและยอดหงิกงอผิดปกติ และถ้าเกิดระบาดรุนแรงสามารถทำความเสิยหายแก่ไร่พริกมากกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนรูปร่างลักษณะของเพลี้ยไฟนั้นเป็นแมลงขนาดเล็กจำพวกปากดูด มีการเคลื่อนไหวเร็ว ลำตัวผอมบอบบางยาวประมาณ ๑ มิลลิเมตร มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ตัวแก่มีปีกยาวเรียว ๒ คู่ โดยที่ปีกแต่ละข้างมีขนบาง ๆ มีสีน้ำตาลอ่อนคล้าย ๆ กับสีของฟางข้าวแห้ง ส่วนตัวอ่อนก็มีลักษณะคล้ายกับตัวแก่ แต่ไม่มีปีกและมีสีอ่อนกว่าเล็กน้อย ตัวอ่อนจะมีอายุประมาณ ๑๕-๒๐ วัน ก็จะเข้าดักแด้ในดินแล้วออกเป็นตัวแก่ต่อไป เราจะพบทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ได้ตามใต้ใบ ยอดอ่อน ดอก(ทั้งดอกตูมและบาน) เป็นต้น

การทำลายพริก-เพลี้ยไฟทั้งตัวอ่อนและแก่จะทำลายใบพริกโดยใช้ปากดูด กินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่าง ๆ ที่กำลังเจริญ เช่น ใบอ่อน ยอดอ่อน ดอก โดยอาจจะทำลายพริกได้ตั้งแต่หลังจากย้ายกล้าปลูกได้ประมาณ ๑ เดือน แต่ถ้ามีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็อาจเกิดได้ทุกระยะของการเจริญเติบโต เพลี้ยไฟตัวแก่มักชอบทำลายใบอ่อนที่เพิ่งแตกใหม่ และใบรองลงมา ส่วนใบแก่จะถูกทำลายแสดงอาการหงิกงอ มีแถบสีน้ำตาลอยู่ด้านใต้ใบอย่างเห็นได้ชัด ในใบอ่อนที่ปลายใบจะเป็นสีน้ำตาล และปลายใบแหลม ขอบใบม้วนหงิกงอขึ้นบน และถ้าเกิดขึ้นในระยะที่พริกกำลังติดผลอ่อน จะทำให้แคระแกรน บิดเบี้ยว มีแถบสีน้ำตาลปรากฎขึ้นให้เห็นและจะไม่มีการเจริญเติบโตต่อไป

การแพร่ระบาด เพลี้ยไฟอาจระบาดได้ทั่วไป แต่มีช่วงฤดูกาลที่มีการระบาด มากที่สุดคือฤดูร้อน และในฤดูฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานเพลี้ยไฟก็จะระบาดขึ้นได้มากเช่นกัน เพราะเพลี้ยไฟมีการขยายพันธุ์ค่อนข้างแปลกคือ หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม จะมีเพศเมียมากกว่าเพศผู้ เหตุนี้เองจึงทำให้เพลี้ยไฟมีการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ในบางโอกาส แต่อย่างไรก็ตามมีธรรมชาติที่ช่วยในการควบคุมปริมาณและการแพร่ระบาดนั่นคือ น้ำฝน ซึ่งพบว่าในช่วงฤดูฝนมักไม่ค่อยพบเพลี้ยไฟระบาด

การป้องกันกำจัด

๑. ทำความสะอาดบริเวณแปลงปลูก และบริเวณข้างเคียงแปลงปลูก โดย การทำลายวัชพืชต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นที่หลบซ่อนตัวของเพลี้ยไฟ

๒. หลังจากปลูกพริกได้ประมาณ ๑-๑ ๑/๒ เดือน ควรมีการปฏิบัติดูแลรักษา ให้ดี โดยเฉพาะช่วงฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน โดยการให้น้ำใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืชพอสมควร เพื่อให้ต้นพริกมีการเจริญเติบโตแข็งแรงดี

๓. หากพบว่ามีเพลี้ยไฟระบาดขึ้นแล้ว ควรใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่น เช่น ไดเมทโธเอท, แลนเนท, อะโซดริน, โตกุไธออน ฉีดทุกๆ ๕วัน ประมาณ ๒-๓ ครั้ง เมื่อเห็นว่ามีเพลี้ยไฟลดน้อยลงจึงทิ้งระยะการฉีดพ่นเป็น ๗-๑๐ วันต่อครั้ง

ไรขาว

เป็นศัตรูที่สำคัญของพริก เพราะในบัจจุบันนี้พบว่าไรขาวทำให้พริกเกิด อาการใบหงิกงออยู่เสมอ ๆ และมักระบาดรุนแรงทั่วไปไม่ว่าจะเป็นพริกที่ปลูกไว้ในสวนหลังบ้านหรือพริกที่ปลูกกันเป็นจำนวนมากเพื่อการค้า ถ้าหากมีการระบาดเป็นประจำแล้วจะทำให้ต้นพริกชะงักการเจริญเติบโต แคระแกรน และอาจได้รับความเสิยหายจนไม่ได้ผลผลิตหรือผลผลิตลดน้อยลงเช่นเดียวกับเพลี้ยไฟ

ลักษณะรูปร่างของไรขาวคล้ายคลึงกับแมลงมาก แต่ไม่ใช่แมลงเพราะมีขา ๔ คู่ ยกเว้นตัวอ่อนระยะที่หนึ่งมีขา ๓ คู่ (แมลงมีขา ๓ คู่เท่านั้น) จัดอยู่ในกลุ่มของไรแดงแต่มีขนาดเล็กกว่าไรแดงมาก มีการเคลื่อนไหวช้ากว่าเพลี้ยไฟ ตัวแก่มีสีขาว หรือขาวออกเหลือง ขนาดของลำตัวยาวเพียง o.๒ มิลลิเมตร จึงไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้แว่นขยายจึงสามารถมองเห็น แต่ก็เห็นเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ที่เคลื่อนไปมาบนใบพืชเท่านั้น การทำลายพริกสามารถทำลายได้ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ชอบอาศัยอยู่ตามบริเวณยอดอ่อน หรือด้านล่างของใบ

พริกที่ถูกไรขาวทำลายจะแสดงอาการขั้นแรกเกิดกับใบอ่อนทำให้ใบมีลักษณะย่นเป็นคลื่น ขอบใบม้วนลงทางด้านล่างเล็กน้อย (พริกที่ถูกเพลี้ยไฟทำลายขอบใบม้วนขึ้นทางด้านบน) ใบมีขนาดเล็กและเรียวแหลม ถ้าหากมีไรขาวระบาดมากขึ้น ใบอ่อนที่แตกออกมาใหม่มีขนาดเล็กไม่เจริญเติบโตเป็นปกติ ใบหนาและเปราะ ต่อจากนั้นไรขาวจะเลื่อนลงมาทำลายที่ส่วนตา ตรงส่วนระหว่างโคนใบกับลำต้น หรือยอดอ่อนที่เพิ่งแตกออกใหม่ ทำให้ยอดอ่อนชะงักการเจริญเติบโต หากมีการทำลายรุนแรง ใบอ่อนอาจแตกมากกว่าปกติ ใบมีขนาดเล็กและรวมกันเป็นกระจุกในระยะพริกติดผลอ่อน จะทำให้ผลบิดเบี้ยว แคระแกรน ทำให้ผลผลิตลดลง

การป้องกันกำจัด

๑. ในขณะพริกยังมีต้นขนาดเล็กหรือยังเป็นต้นกล้าอยู่ อาจเกิดการทำลายของไรขาวได้จึงควรใช้ยาฆ่าแมลงประเภทดูดซึม        เช่น ฟูราดาน ฟูราแทร์ ฯลฯ ใส่รองก้นหลุมก่อนปลูกเพียงครั้งเดียว

๒. ถ้าพบว่าไรขาวเริ่มระบาดให้ฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดก่อนที่จะระบาดมากขึ้นโดยใช้ยาพวกกำมะถันผงละลายนํ้า ๕๐-๖๐ กรัม (๕-๖ ช้อนแกง) ผสมน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นให้ทั่วพุ่มพริกประมาณ ๒-๓ วันติดต่อกัน เมื่อเห็นว่าไรขาวระบาดน้อยลงก็ให้หยุดพ่นชั่วคราว

๓. หากมีการระบาดรุนแรงคือมีการแสดงอาการให้เห็นค่อนข้างชัด  ควรใช้ยากำจัดไรโดยเฉพาะ เช่น เคลเทน ในอัตรา รา-๕ ช้อนแกงต่อน้ำ ๒๐ ลิตร นอกจากนี้ยังมียาฆ่าไรอื่น ๆ อีกที่ใช้ได้ผล เช่น ดีไธออน, ไตรไธออน และคลอโรเมนซิลเลท เป็นต้น

เพลี้ยอ่อน

เป็นแมลงศัตรูพริกที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ตัวอ่อนมีสีเหลืองอมเขียวขนาดเท่ากับหัวไม้ขีดไฟหรือเล็กกว่า เมื่อโตขึ้นจะมีสีคลํ้า เป็นสีเขียวหม่นอมเทา ตัวแก่มีสีดำและมีปีกบินได้ ทำลายพริกโดยการดูดกินนํ้าเลี้ยง และมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้ว่ามีเพลี้ยอ่อนระบาดนั่นคือจะมีมดอยู่ตามต้นที่มีเพลี้ยอ่อนทำลาย ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่นำพาเพลี้ยอ่อนไประบาดกับต้นพริกต้นอื่นได้

พริกที่ถูกเพลี้ยอ่อนทำลายใบจะแสดงอาการด่างเป็นจํ้าสีเขียวเหลืองและ ผิวใบเป็นคลื่นมองเห็นเป็นสีเหลืองต้นแคระแกรน ถ้าถูกทำลายมากก็ไม่ออกดอก ออกผล

การป้องกันกำจัด

๑. ถ้าพบต้นพริกที่มีเพลี้ยอ่อนระบาดให้ถอนแล้วนำไปทำลายเสียโดยการเผาไฟ

๒. ถ้าพบว่ามีเพลี้ยอ่อนระบาดให้ใช้ยาป้องกันกำจัดแมลงฉีดพ่น เช่น ไดเมทโธเอท, บาซูดิน, ไดอาซิโนน และยาดูดซึมประเภทอื่นๆ ทุก ๑๐ วันต่อครั้ง

ตามที่กล่าวมาแล้วว่าจะเห็นได้ว่า พริกมีโรคและแมลงรบกวนมากมายด้วยกัน จึงต้องมีการฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดโรคและแมลงที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ นอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองแล้ว บางครั้งยังทำให้ต้นพริกใบพริกได้รับอันตรายอันเนื่องจากพิษตกค้างของยาป้องกันกำจัดโรคและแมลงที่ใช้บ่อยหรือใช้ในอัตราที่มีความเข้มข้นสูง ตลอดจนยังทำให้ศัตรูที่ทนทานต่อสารเคมีบางชนิดเพิ่มปริมาณมากขึ้น การพ่นยาป้องกันกำจัดไรขาว อาจพบว่าหลังจากพ่นไปแล้วประมาณ ๑-๒ อาทิตย์ กลับมีเพลี้ยไฟระบาดแทนอีก ทั้งนี้เพราะยาป้องกันกำจัดไรไม่สามารถป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟได้ จึงทำให้เพลี้ยไฟระบาดแทนไรขาวได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นในการใช้ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชควรจะใช้เมื่อถึงคราวที่จำเป็น และถ้าเราปฏิบัติตามสิ่งต่าง ๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จะมีส่วนช่วยในการป้องกันและกำจัดศัตรูพริกได้ (ลักษณา วรรณภีร์ และคณะ จากวารสารกสิกร ปีที่ ๕๐ เล่มที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๒๐) กล่าวไว้ว่า

๑. ดินปลูกพริกถ้าหากมีการปรับปรุงดินให้ร่วนซุยและมีอินทรีย์วัตถุในดินมาก โดยการใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยวิทยาศาสตร์ (ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ๗๐เปอร์เซ็นต์ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ๓๐ เปอร์เซ็นต์) ในระหว่างการเจริญเติบโตของพริกสัก ๒-๓ ครั้ง หรือปลูกถั่วเขียวหรือพืชไร่อื่นๆ เป็นพืขแซมหรือพืชหมุนเวียน แล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด และถ้าดินมีสภาพเป็นกรดให้ใส่ปูนขาวในขณะที่ทำการเตรียมดินปลูก

๒. หลังจากปลูกพริกหมั่นตรวจหาศัตรูพืชที่สำคัญ ๆ เช่น พวกเพลี้ยไฟ ไรขาว เพลี้ยอ่อน เป็นประจำ และถ้าพบว่าพริกศัตรูพวกนี้ทำลายให้รีบฉีดยาป้องกัน กำจัดทันทีหากไม่พบศัตรูก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ยาฉีดพ่นในการตรวจดูศัตรูพวกนี้ ต้องพลิกดูด้านท้องใบหรือใต้ใบ โดยตรวจดูทุก ๕-๗ วัน

๓. ในการฉีดพ่นยาม่าแมลงกำจัดเพลี้ยไฟ ไรขาว เพลี้ยอ่อน พยายาม ฉีดพ่นให้ทั่วถึงบริเวณใต้ท้องใบและยอดอ่อน โดยใช้ในอัตราความเข้มข้นปานกลาง หรือต่ำติดต่อกันสัก ๒-๓ ครั้ง และแต่ละครั้งห่างกันประมาณ ๓ วัน เมื่อเห็นว่าศัตรูพริกหมดไปแล้ว ให้เว้นระยะการฉีดพ่นหรือเลิกไป จนกว่าจะพบว่าศัตรูระบาดขึ้นใหม่

ศัตรูพวกนี้มักมีระบาดมากในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งหรือฝนขาดช่วงติดต่อกันนาน

๔. ในการฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นเป็นประจำ และในดินที่มีอินทรีย์วัตถุมากจะไม่ค่อยเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคกุ้งแห้ง, โรครากเน่า และโรคเหี่ยวตาย อาจจะพบบ้างในต้นที่ไม่แข็งแรงพอ ถ้าตรวจพบให้ถอนทำลายเสียหรือทำการฉีดพ่นสารเคมีบ้าง โดยเฉพาะโรคกุ้งแห้ง ต้องให้ยาที่พ่นเคลือบติดผลพริกจึงจะมีประสิทธิภาพสูงในการใช้ยาพ่น และถ้าหากมีโรคเน่าตายโรคเหี่ยวตายให้รีบแก้ไขโดยการปรับปรุงดิน โดยการใส่ปูนขาว แต่จะใส่มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับดินเป็นกรดมากน้อยเท่าใด ต่อไปก็รีบใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้มาก

๕. การคัดเลือกเมล็ดพริกไว้ทำพันธุ์ ควรดูจากผลผลิต การทนทานต่อโรค และศัตรูพืชเป็นหลักสำคัญ