สนสามใบ

CONIFEROPSIDA

พืชกลุ่มนี้ได้แก่ สนต่างๆ และแปี๊ะก๊วย ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ในเขตอบอุ่น จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญใช้ได้ทั้งเนื้อไม้และยาง ตลอดจนใช้เป็นไม้ประดับ พืชพวกสนส่วนใหญ่เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ มีเรือนยอดรูปทรงคล้ายเจดีย์หรือรูปทรงคล้ายร่ม ใบมักจะมีขนาดเล็กเป็นเกล็ดหรือเป็นเส้นกลมยาว ใบมีอายุได้หลายปี ทั่วทุกส่วนภายในมีต่อมสร้างน้ำยาง ยางสนค่อนข้างใสสีน้ำตาลอ่อนอมส้มและมีกลิ่นหอม เมล็ดเกิดบนกิ่งที่แผ่เป็นแผ่นแข็งและเรียงซ้อนแน่นรอบแกน เป็นทรงพุ่ม พืชพวกสนมีจำนวนกว่า 500 ชนิด บางชนิดมีขนาดใหญ่มาก เช่น Sequoiadendron giganteum เป็นพันธุ์ไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ในประเทศไทยมีพืชพวกสน 4 วงศ์ รวม 11 ชนิด ได้แก่ สนสองใบ (Pinus merkusii Jungh.& de VrieS) สนสามใบ (Pinus kesiya Royle ex Gordon) มะขามป้อมดง (Cephalotaxus griffithii Hook, f.) แปกไม้ (Colocedrus macrolepis Kurz) สนสามพันปี (Dacrydium elatum Wall.) และพวกพญาไม้ (Podocarpus spp.)

วงศ์ไพเนซีอีหรือวงศ์สน (PINACEAE)

สนวงศ์นี้ในประเทศไทยมี 1 สกุล 2 ชนิดได้แก่ สนสองใบ (Pinus merkusii Jungh. & de Vriese) และสนสามใบ (Pinus kesiya Royle ex Gordon)

สนสามใบ

Pinus kesiya Royle ex Gordon สนสามใบ

สนสามใบ พบขึ้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่ระดับความสูง 1,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป ลักษณะที่สังเกตได้ง่ายคือ ใบเกิดกระจุกละ 3 ใบ ผิวลำต้นสีน้ำตาลปนแดง รอยแตกที่ผิวตื้น