สปริงเกลอร์:ระบบการให้น้ำแก่พืชแบบหัวเหวี่ยง

การให้น้ำแบบพ่นฝอย (spray) กับแบบหัวเหวี่ยงสปริงเกลอร์ มีความใกล้เคียงกัน หรือคล้ายกันอยู่ไม่น้อยเพียงแต่แบบหัวเหวี่ยงจะมีส่วนที่สามารถหมุนรอบตัว(rotor)ทำให้รัศมีน้ำที่เหวี่ยงออกไปมีความกว้างกว่าแบบพ่นฝอย  ระบบน้ำแบบหัวเหวี่ยงจึงเป็นที่นิยมสำหรับการให้น้ำในสวนไม้ผลที่มีทรงพุ่มกว้างหรือการให้น้ำสำหรับสนามหญ้า สนามกอล์ฟทั่วไป

การให้น้ำแบบหัวเหวี่ยง (sprinkler) ในที่นี้จะขอนำมาเล่าสู่กันฟัง 3 แบบด้วยกันคือ มินิสปริงเกลอร์ (Minisprinkler) อิมแพ็คสปริงเกลอร์ (Impacksprinkler) และป๊อบอั้พสปริงเกลอร์ (Pop-up sprinkler)

มินิสปริงเกลอร์

เป็นระบบให้น้ำแบบหัวเหวี่ยงที่มีรูน้ำออกขนาดเล็ก ตั้งแต่ 0.9, 1.0, 1.3, 1.5, 1.8, 2.0 มม. หรืออาจจะแตกต่างไปจากนี้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบการผลิตของบริษัทผู้ผลิตปริมาณน้ำที่ให้ต่อชั่วโมงและรัศมีน้ำจะขึ้นอยู่กับขนาดของรูที่หัว และแรงดันน้ำเป็นสำคัญ (ดังตาราง)

ขนาดรูของหัว(มม.)

Nozzle Size

สีของรูน้ำหรือหัวหมุน

Nozzle Color

อัตราน้ำ

(ลิตร/ชม.)

เส้นผ่าศูนย์กลางน้ำ

(ม.)

0.9 น้ำตาล 37

5.4

1.0 น้ำเงิน 46 5.8
1.3 เขียว 72

6.0

1.5

แดง

97

7.2

1.8 ส้ม 126

7.8

2.0

เทา

155 7.8

 

การกำหนดสีของรูน้ำ (Nozzle) หรือหัวหมุนเป็นสีที่แตกต่างกันออกไปเพื่อสะดวกในการจำขนาดของรูน้ำออกว่าเป็นขนาดเท่าไร

การหมุนของมินิสปริงเกลอร์ ทำให้น้ำที่พุ่งออกมาเหวี่ยงออาไปเป็นรัศมีวงกลมและกระจายออกไปอย่างสม่ำเสมอทั้งพื้นที่ที่ครอบคลุม ซึ่งการกระจายของน้ำภายในรัศมีเหวี่ยงหรือวงกลมนี้จะสม่ำเสมอเพียงใดอยู่ที่การออกแบบหรือความเชี่ยวชาญในการออกแบบของผู้ผลิตเป็นสำคัญ

ในการเลือกซื้อหัวมินิสปริงเกลอร์ ซึ่งมีอยู่หลากหลายในตลาดบ้านเราขณะนี้นั้น อยากให้ท่านได้พิจารณาดังต่อไปนี้

1.  ต้องสามารถทราบว่าหัวสปริงเกลอร์นั้นให้ปริมาณน้ำ (Flowrate) เท่าไรต่อชม. เช่น 20 ลิตรต่อชม. ที่ความดันน้ำระดับหนึ่ง ถ้าผู้ผลิตหรือผู้ขายไม่สามารถให้รายละเอียดได้แสดงว่าไม่มาตรฐาน ซื้อไปใช้แล้วจะช้ำใจ

2.  การหมุนของหัวสปริงเกลอร์ ทำให้เกิดการสึกหรอ มินิสปริงเกลอร์ จึงมักจะเกิดปัญหาใช้ไประยะหนึ่งอาจจะฝืดหรือหยุดหมุน ต้องถอดตัวหมุน (rotor) ออกเปลี่ยนหรืออาจจะต้องเปลี่ยนทั้งหัวหรือทั้งชุดเลย  ปัญหานี้มักจะเกิดกับมินิสปริงเกลอร์ที่คุณภาพไม่มาตรฐานคือ พลาสติกที่ใช้คุณภาพไม่ดีพอ รวมไปถึงเทคโนโลยีในเรื่องของการใช้สารเติม (additive) ในพลาสติกที่จะทำให้คุณภาพพลาสติกเหนียวทน ไม่สึกง่ายเป็นเคล็ดของแต่ละบริษัท และเป็นจุดขาย (Saling Point) ที่สำคัญของสปริงเกลอร์แต่ละบริษัทด้วย

ในประเทศไทยนั้น เม็ดพลาสติกที่ผลิตในประเทศเราเองในปัจจุบันยังมีปัญหาพอสมควร สำหรับการนำไปผลิตสปริงเกลอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติมสีให้เป็นสีต่าง ๆ จะยิ่งทำให้คุณภาพพลาสติกยิ่งด้อยลงไปอีก ผู้ผลิตหัวสปริงเกลอร์ในประเทศ่จึงควรใช้เม็ดพลาสติกนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น  จนกระทั่งเทคโนโลยีด้านเม็ดพลาสติกของเราดีขึ้นแล้วค่อยว่ากันอีกที  ขณะนี้ให้เขานำไปผลิต ผลิตภัณฑ์อย่างอื่น ๆ ก่อน

การซื้อหัวสปริงเกลอร์จึงไม่ควรดูเฉพาะราคาถูกอย่างเดียว เพราะซื้อไปใช้แล้วต้องเปลี่ยนกันอยู่ตลอด ท่านจะเสียเงินซ้ำสอง พืชที่ปลูกก็จะเสียหายด้วย

3.  การอุดตันของหัวสปริงเกลอร์ นอกจากปัญห่าจากตะกอนในน้ำ ซึ่งต้องแก้โดยวิธีการกรองแล้ว การอุดตันเนื่องจากมด แมงมุมเข้าไปในรูเพื่อกินน้ำก็เป็นปัญหาหนึ่ง บางบริษัทจึงผลิตรูหัวน้ำออกป้องกันไม่ให้มดหรือแมงมุมเข้าไปได้หลังปิดน้ำแล้ว แน่นอนราคาชุดอุปกรณ์หัวชุดนี้ต้องแพงขึ้น

4.  เนื่องจากหัวมินิสปริงเกลอร์ การหมุนของหัวจะเป็นวงกลม ดังนั้นการใช้งานจะไม่สามารถใช้ในสภาพพื้นที่ต้องการบังคับทิศทางน้ำให้เปียกเพียง 90° หรือ 180° เหมือนกับแบบพ่นฝอยได้  บางครั้งในการออกแบบกำหนดหัวจ่ายน้ำจึงจำเป็นต้องใช้ทั้งแบบพ่นฝอยและสปริงเกลอร์ร่วมกันเช่นในเรือนเพาะชำ ในสนามหรือสวนหย่อม

5.  การใช้มินิสปริงเกลอร์ในสถานที่พื้นที่ลมแรง  ต้องปลูกพืชเป็นแนวกันลมและต้องออกแบบเผื่อทิศทางลมเพื่อให้การกระจายน้ำได้ทั่วถึงรัศมีรากพืชด้วย

6.  หัวมินิสปริงเกลอร์ที่ดีต้องกระจายน้ำได้ทั่วถึงและสม่ำเสมอ  ถ้าหากมีค่าของ Uniformity coefficient บอกไว้ด้วยจะเรียกว่ามาตรฐานที่สุด

จะเห็นได้ว่าเรื่องของมินิสปริงเกลอร์นั้นค่อนข้างละเอียดอ่อนมาก ดูว่าทำได้ง่าย ๆ แต่จริง ๆ แล้วเป็นเทคโนโลยีที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ดังที่เคยได้กล่าวแล้ว

การติดตั้งมินิสปริงเกลอร์ควรใช้ขาตั้ง (stake) เป็นพลาสติกที่มีขายหรือจะใช้ไม้ผูก  ซึ่งสามารถทำเองได้ก็ประหยัดไปอีกหน่อย  แต่คงไม่ทนและเรียบร้อยเท่าพลาสติก

อย่าลืมว่าการให้น้ำด้วยมินิสปริงเกลอร์นี้จำเป้นต้องมีการกรองด้วยอุปกรณ์กรองเช่นเดียวกัน มิเช่นนั้นจะเกิดการอุดตันได้เพราะปัญหาคุณภาพน้ำของบ้านเราในการใช้งานกับการเกษตรนั้นเป็นน้ำดิบที่ยังไม่ได้ทำอะไรให้สะอาด

อิมแพ็ค สปริงเกลอร์

เป็นสปริงเกลอร์ที่มีรูน้ำออกขนาดใหญ่ขึ้นตั้งแต่ 2.5-4.0 มม. ต้องการแรงดันน้ำสูงขึ้น  แต่รัศมีของการกระจายน้ำก็ไกลกว่ามินิสปริงเกลอร์ อิมแพ็คสปริงเกลอร์นี้  เนื่องจากรูน้ำออกมีขนาดใหญ่ จึงไม่จำเป็นต้องมีระบบกรองที่ละเอียดเช่น มินิสปริงเกลอร์หรือระบบหยด

อิมแพ็คสปริงเกลอร์เหมาะสำหรับการใช้งานกับสนามหญ้า สวนหย่อม สวนไม้ประดับที่ใบไม่อ่อนแตกหักง่าย ไม่เหมาะสำหรับสวนผลไม้หรือไม้ประดับที่ใบช้ำง่าย

การเลือกซื้อสปริงเกลอร์ชนิดนี้ต้องเช็ครายละเอียดเกี่ยวกับแรงดันน้ำที่ต้องการ ขนาดของรูน้ำออกและรัศมีน้ำเช่นเดียวกัน

ป็อปอั๊พ สปริงเกลอร์ (Pop-up Sprinkler)

ในสภาพสนามหญ้าหรือสนามกอล์ฟที่ต้องการความสวยงาม ไม่ต้องการให้มีสิ่งกีดขวางโผล่ขึ้นมาให้รกลูกหูลูกตา การใช้หัวให้น้ำแบบป็อบอั๊พสปริงเกลอร์จะมีความเหมาะสมที่สุด เพราะสปริงเกลอร์แบบนี้จะโผล่ขึ้นมาเนื่องจากแรงดัน่น้ำเมื่อเปิดใช้งานเท่านั้น เมื่อปิดปั๊มน้ำหัวสปริงเกลอร์แบบนี้ก็จะหลบลงใต้พื้นดินไม่ให้เป็นที่รำคาญใจและสายตาของผู้ใช้สนามทันที

ข้อดีของป็อบอั๊พสปริงเกลอร์ คือ สามารถจะกำหนดองศาหรือมุมให้น้ำได้ตั้งแต่ 90, 180, 270 และ 360 องศา  ส่วนปริมาณน้ำสามารถเลือกขนาดรูจ่ายน้ำได้ตั้งแต่ 1.50 ลิตรต่อนาทีจนถึง 14 ลิตรต่อนาทีหรือมากกว่านั้น  ส่วนรัศมีน้ำไปได้ไกลตั้งแต่ 2.4 เมตร จนถึง 4.6 เมตร

อย่าลืมว่าการติดตั้งระบบการให้น้ำพืชนั้นมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย การหาน้ำและให้น้ำกระจายไปสู่รากพืชอย่างเหมาะสมโดยวิธีต่าง ๆ เช่น การหยด การพ่นฝอย หรือน้ำเหวี่ยงก็ดี เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้การให้น้ำพืชเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าลืมคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น ลักษณะดิน อุณหภูมิ ความชื้น ลม ชนิดพืช และจังหวะเวลาฤดูกาล รวมไปถึงจังหวะการเจริญเติบโตของพืชด้วย

การติดตั้งระบบการให้น้ำต้องสำรวจวางผังสวนละเอียดก่อนจึงจะดำนินการได้