สมุนไพร:กะเม็ง


หญ้าฮ่อมเกี่ยว

ชื่อ
จีนเรียก  แปะฮวยแปขี่เช้า โอวบักเช่า
ไทยภาคเหนือ เรียกหญ้าฮ่อมเกี่ยวดอกขาว Eclipta alba (L.) Hassk.

ลักษณะ
พืชประเภทเบญจมาศชอบขึ้นตามที่ลุ่มริมทาง ข้างสระนํ้า เป็นพืชล้มลุก ลำต้นมีขนขึ้นสีม่วงคลํ้า เมื่อเด็ดลำต้นจะมีนํ้าสีดำไหลซึม ลำต้นกลม สูงประมาณ 1 ฟุต มักขึ้นเอง แตกกิ่งก้านสล้าง ใบคู่ ยาวแคบเกือบจะไม่เห็นก้านใบ ยาวประมาณนิ้วกว่าๆ ปลายแหลม ขอบใบเป็นรูปฟันเลื่อยเป็นหยัก เอ็นใต้ใบขึ้นชัด ออกดอกกลมๆ ในหน้าร้อนถึงหน้าฝน ดอกเป็นรูปจอกสีขาว ออกลูกเป็นเม็ดเล็กๆ

รส
ขมเฝื่อน ธาตุเย็นมาก ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
ทำให้เลือดเย็น แก้พิษ ระงับการไหลของเลือด ใช้ภายนอก แก้บวม ดับร้อน ฤทธิ์เข้าถึงปอดและตับ

รักษา
อาเจียนเป็นโลหิต ไอเป็นเลือด เลือดกำเดา อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะ
เป็นเลือด เป็นบิดเลือด ผื่นร้อน ไอกรน ริดสีดวงทวาร เจ็บตา เจ็บคอ ใช้ภายนอก แก้ผิวหนัง ผื่นคัน ฝีพุพอง เลือดตกเนื่องจากแผล

ตำราชาวบ้าน
1. อาเจียนโลหิต ไอเป็นเลือด เลือดกำเดา อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นบิดเลือด – หญ้าฮ่อมเกี่ยว 2 ตำลึง ตำแหลกเอานํ้ารับประทาน หรือหญ้าฮ่อมเกี่ยวต้มนํ้ากับนํ้าตาลแดง รับประทาน
2. หวัดแดดตัวร้อน – หญ้าฮ่อมเกี่ยว 1 ตำลึง ตำแหลกคั้นเอานํ้ารับประทาน
3. ผื่นร้อน -หญ้าฮ่อมเกี่ยว 2 ตำลึง ต้มกับนํ้าตาลแดง รับประทาน
4. ไอกรน – หญ้าฮ่อมเกี่ยว ครึ่งตำลึง ต้มกวยแชะ รับประทาน
5. ริดสีดวงทวารแรกเป็น – หญ้าฮ่อมเกี่ยว 1 ตำลึง ต้มเต้าหู้ รับประทาน
6. เจ็บตา เจ็บคอ – หญ้าฮ่อมเกี่ยว 1 ตำลึง ต้มเต้าหู้ รับประทาน
7. ผิวหนังเป็นผื่นคัน – หญ้าฮ่อมเกี่ยวต้ม แล้วอาบหรือล้าง
8. เป็นฝีตุ่มพุพอง – หญ้าฮ่อมเกี่ยว ตำกับนํ้าตาลแดง ทาพอก
9. เลือดออกเนื่องจากแผลหรือถูกของแข็ง – หญ้าฮ่อมเกี่ยว ตำแหลก แล้วพอก

ปริมาณใช้
สดใช้ไม่เกิน 2 ตำลึง แห้งใช้ไม่เกินครึ่งตำลึง ใช้ภายนอกกะพอประมาณ

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช