สมุนไพรจากไม้ดอก:เทียน

เทียน

จากโครงการพัฒนาเทคนิคการทำยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2521-2522)

ชื่ออื่น เทียนบ้าน เทียนขาว เทียนไทย เทียนดอก(ไทย ห่งเชียง จึงกะฮวย เซียวถ่ออั๊ง โจ๋ยกะเช่า(จีน) Garden Baisam

ชื่อวิทยาศาสตร์ Impatiens balsamina L. วงศ์  Balsaminaceae

ลักษณะต้น

เป็นพืชปีเดียวตาย สูงประมาณ 60 ซม. ลำต้นแข็งแรงมีเนื้อดูโปร่งแสง ใบออกสลับหมุนเวียนกันไปเป็นวง ลักษณะใบยาว เรียวแหลม ขอบใบมีรอยหยัก เป็นฟันคล้ายฟันเลื่อย ใบยาวประมาณ 10 ซม. กว้าง 2-3 ซม. มีก้านใบสั้น ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว หรืออยู่รวมกันเป็นช่อ 2-3 ดอก มีกลีบทั้ง 3 กลีบ สีเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบล่างกลีบหนึ่งงอเป็นกระเปาะ ก้นกระเปาะมีส่วนยื่นออกมาเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาว ๆ ปลายโค้งงอขึ้นเล็กน้อย มีน้ำหวานขังอยู่เรียกว่า สะเปอร์เป็นลักษณะพิเศษของไม้วงศ์นี้อย่างหนึ่ง  กลีบดอกมีสีตั้งแต่สีขาว ชมพูอ่อน แดง ม่วง หรือมีสีผสมกัน กลีบดอกอาจซ้อนหรือไม่ก็ได้ เกสรตัวผู้มี 5 อับ ติดกันอยู่รอบ ๆ รังไข่ รังไข่แบ่งออกเป็น 5 ห้อง ปลายรังไข่มี 5 รอย แยกผลเป็นกระเปาะมีรอยแยกแบ่งเป็น 5 กลีบ มีก้านยาวเห็นได้ชัดเจน เมื่อผลแก่จะแตกเป็น 5 แฉก ตามรอยแยก ดีดเมล็ดออกมา ในฤดูฝนอาจพบเมล็ดงอกติดอยู่ ในผลที่แตกออกมาแล้วเลยก็ได้ เมล็ดลักษณะกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มม.  สีน้ำตาลดำ มีรอยกระตุ้นไม้นี้หนอนมักไม่ค่อยกินใบ มักปลูกเป็นไม้ประดับกันตามบ้าน หรือสถานที่ราชการต่าง ๆ ทั่วไป  เพราะออกดอกได้ทั้งปี และมีสีสดสวยต้นไม่สูงเกินไปนัก

การเก็บมาใช้

ทั้งต้น ใบ  เก็บในฤดูร้อนหรือฤดูใบไม้ร่วง  เอามาตากแห้งเก็บไว้ใช้ หรือใช้สด ๆ เลย

ดอก  เก็บตอนที่บานเต็มที่แล้ว เอามาตากแห้งเก็บไว้ใช้

เมล็ด  เก็บตอนแก่เต็มที่ ก่อนแตกเอามาตากแห้งเอาสิ่งปนมาออก เก็บเอาไว้ใช้

ลักษณะยาแห้ง

เมล็ดแห้ง จะมีลักษณะกลมรี ยาว 2.5-3 มม. กว้าง 2-3 มม. ผิวเปลือกสีเทาออกน้ำตาลหรือน้ำตาลเข้ม บนเปลือกมีจุดและลายเส้นสั้น ๆ มีติ่งอยู่ที่ปลายด้านแคบ เปลือกเมล็ดแข็ง เมล็ดอ้วนแน่น จะดีที่สุด

ลำต้น  เก็บในฤดูร้อน หรือฤดูใบไม้ร่วง  เมื่อเมล็ดสุกหมดแล้ว เอาก้านเล็ก ๆออกหมด ล้างให้สะอาด หั่นเป็นท่อนตากแดดเอาไว้ใช้ ลักษณะเป็นท่อนกลมยาว 30-60 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 ซม. มีรอยย่น หน้าตัดสีน้ำตาลแก่กิ่งน้ำตาลอ่อน ตรงข้อจะโป่ง มีรอยใบและบริเวณยอดจะมีใบมาก ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขามากนัก มีเนื้อเหนียวแข็ง เปราะหักง่าย ภายในกลวงหรืออาจจะมีเยื่อสีขาวอยู่ มีรสเปรี้ยวเล็กน้อย

สรรพคุณ

ใบ  รสขม ฉุน ร้อนน้อย ๆ (อุ่น) ใช้สลายลม ฟอกเลือด ลดบวม แก้อาการปวดตามข้อที่เกิดจากลมขึ้น (Rheumatic fever) ปวดเจ็บเกิดจากถูกกระทบกระแทกหกล้ม แก้ฝีประคำร้อย แผลมีหนอง บิดมูกเลือดและงูกัด

ดอก  รสชุ่ม ขม ร้อน ใช้สลายลม ฟอกเลือด ลดบวม แก้ปวด ใช้รักษาปวดข้อ ปวดเอว ปวดท้องก่อนมีประจำเดือน

เมล็ด  รสขม ฉุน สุขุม มีพิษใช้กระจายเลือด ขับเสมหะข้น ๆ ขับลูกที่ตายออก ขับประจำเดือน ละลายกระดูก แก้กระดูกหรือก้างปลาติดคอ แก้พิษงูแผลติดเชื้ออักเสบทั้งหลาย แผลไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก แก้บวมและตับแข็งเป็นลิ่มได้

ลำต้น  รสชุ่ม ไม่มีพิษ ใช้ขับลม  ทำให้เอ็นคลายตัว โลหิตหมุนเวียนคล่อง แก้ปวด เหน็บชาจากลมขึ้น และแผลเน่าเปื่อย บวมเป็นพิษ

ราก  รสขมชุ่ม มีพิษเล็กน้อย ใช้ฟอกเลือด เปิดเส้นลมปราณ ลดบวม ใช้รักษาอาการปวดกระดูก บวมกล้ามเนื้อ จากลมขึ้น ปวดบวมจากหกล้ม หรือถูกตี แก้ก้างปลาหรือกระดูกไก่ติดคอ ตกขาว ตกเลือด

วิธีและปริมาณที่ใช้

ใบแห้ง 10-15 กรัม (สด 30-60 กรัม) ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอกตำพอกหรือต้มเอาน้ำชะล้าง

ดอกแห้ง 2.5-8 กรัม ทำเป็นเม็ดหรือผง  ใช้ภายนอกบดเป็นผงเป่าคอ อุดฟัน

ลำต้นแห้ง 10-15 กรัม ทำเป็นเม็ดหรือผง ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำชะล้าง

รากแห้ง  บดเป็นผง หรือแช่เหล้ากิน ใช้ภายนอกตำพอก

ข้อห้ามใช้

1.  หญิงมีครรภ์ห้ามกิน

2.  รากห้ามกินมาก หรือติดต่อกันนาน ๆ หรือบ่อย ๆ จะเป็นอันตรายต่อม้ามและกระเพาะ

ตำรับยา

1.  แก้ปวดข้อ  เกิดจากลมขึ้น (Rheumatic fever) ใช้ใบสด 30 กรัม (แห้ง 15 กรัม) ต้มน้ำผสมเหล้ากิน

2.  แก้ฝีประคำร้อย  ฝีผักบัวบริเวณหลังและฝีต่าง ๆ ใช้ใบสดล้างสะอาดตำพอก หรือตำแล้วต้ม 2 หม้อ รินน้ำมารวมกันเคี่ยวให้ข้นเป็นครีม(แบบกอเอี๋ยะ) ใช้ทาบนกระดาษแก้ว กระดาษว่าว หรือกระดาษฟางปิดที่แผล เปลี่ยนวันละ 1 ครั้ง

3.  แก้ข้อเคล็ด ข้อแพลง ใช้น้ำคั้นจากต้น 1 แก้ว ผสมเหล้าเหลืองกินหรือใช้รากตากแห้งบดเป็นผงกิน ร่วมกับเหล้าหรือน้ำวันละ 10-15 กรัม แก้แผลบวมแดงฟกช้ำเกิดจากการหกล้ม หรือถูกกระทบกระแทก แผลเปื่อยเน่า ใช้รากหรือต้นตำพอก

4.  แก้แผลอักเสบมีหนอง แผลเน่าเปื่อยต่าง ๆ ใช้ใบแห้ง 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน

5.  จมูกเล็บ(ซอกข้างเล็บ) อักเสบบวมหรือถอดเล็บ ใช้ยอดสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ผสมน้ำตาลทรายตำพอกเปลี่ยนวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

6.  แก้แผลเรื้อรัง  ใช้ใบแห้งบดเป็นผงผสมพิมเสนใส่แผล

7.  ลดบวมที่หน้า และขาซึ่งเกิดจากชื้น ใช้รากและใบสดผสมน้ำตาลทรายตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่บวม

8.  แก้แผลงูกัด ใช้ต้นสด 160 กรัม ตำคั้นเอาน้ำกินและเอากากพอกแผล หรือใช้ต้นสดเก็บเอาไว้ครึ่งปี  ใช้ทั้งรากและใบตำพอกบริเวณที่บวม หรือใช้เหล้าหวานผสมกับกากพอกแผล

9.  แก้กระดูกหรือก้างปลาติดคอ ใช้เมล็ดสดตำกลืนลงไปถ้าไม่มีเมล็ดก็ใช้รากสดก็ได้เคี้ยวให้ละเอียด กลืนลงไปช้า ๆ แล้วใช้น้ำอุ่นอมบ้วนปาก เพื่อไม่ให้ฟันเสีย (ยานี้ละลายฟันได้) ยานี้ใช้ได้ผลดีโดยเฉพาะกระดูกไก่

10.  แก้บวมน้ำ ใช้ราก 4-5 รากต้มกับเนื้อหมู กิน 3-4 ครั้ง จะเห็นผล

11.  แก้ประจำเดือนไม่มา ใช้เมล็ดแห้ง 60 กรัม บดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งทำเป็นเม็ดกินวันละ 3 ครั้ง ๆ ละ 3.2 กรัม ผสมตังกุย(โกฏเชียง) แห้ง 10 กรัมด้วย

12.  พวกคลอดลูกยาก ใช้เมล็ดแห้ง 6 กรัม บดเป็นผงกินกับน้ำ (ระวังอย่าให้ถูกฟัน)

13.  แก้รกค้าง(รกไม่ออก) ใช้เมล็ดคั่วให้เหลืองบดเป็นผง 3.2 กรัม กินร่วมกับเหล้าเหลืองอุ่น ๆ

14.  แก้คอเป็นเม็ดเดี่ยวหรือเม็ดคู่ ใช้บดเป็นผงใส่กระดาษม้วนเป่าเข้าไป อมไว้วันละ 2-3 ครั้ง

15.  แก้ไตพิการ  ใช้เมล็ดบดร่วมกับชะเอมผสมน้ำมันเมล็ดปาน หรือน้ำมันพืชอื่นพอกบริเวณที่ไตตั้งอยู่จะทำให้ดีขึ้น

ผลทางเภสัชวิทยา

1.  ผลต่อมดลูก น้ำสกัดจากเมล็ดมีผลกระตุ้นมดลูกของกระต่ายที่ท้องและไม่ท้องต่อมดลูกหนูขาวที่ท้อง ทำให้มดลูกหดตัวเร็วและแรงขึ้น น้ำสกัด หรือส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเมล็ด  มีผลทำให้ลำไส้เล็กที่แยกจากตัวของกระต่ายคลายตัว

2.  การใช้เป็นยาคุมกำเนิด ให้หนูขาวตัวเมียกินน้ำต้มจากเมล็ด 10 วันจะเป็นยาคุมกำเนิดได้อย่างดี ยานี้จะกดความรู้สึกทางเพศ ลดน้ำนมและลดการทำงานของมดลูก

3.  การเป็นพิษให้หนูกินเมล็ด 3 กรัมต่อกิโลกรัม ของน้ำหนักตัวร่วมกับน้ำชั่วโมงละครั้ง รวม 3 ครั้ง หลายวันหนูที่ท้องก็ยังไม่แท้งให้กระต่ายกินก็ไม่มีอาการผิดปกติอะไร

หมายเหตุ

มีการกล่าวว่า เมล็ดเทียนสามารถละลายกระดูกและฟันได้  จึงต้องระวังไม่ให้ถูกฟันเวลาใช้