สมุนไพรจีน:ฮุงติ่งเท้า


ชื่อ
จีนเรียก    ฮุงติ่งเท้า  แปะคังงู้  โป่โป่แช  จิกุกติ๊ง Cissus repens Lamp.

ลักษณะ
เป็นพืชประเภทเถาวัลย์ ชอบขึ้นในป่า แต่โดยมากคนนำมาปลูกทำยา ไม่มีชื่อไทย เป็นพืชล้มลุกหลายปี มีหัวในใต้ดิน ลำต้นและใบสีเขียว ลำต้นกลมและมีข้อ มีรอยด่างขาวติดอยู่กับลำต้นทั่วไป ต้นยาวประมาณ 10 ฟุต ชอบพันขึ้นเกาะไม้อื่น ใบเดี่ยวแต่ขึ้นสลับกัน ใบรูปกลมรูปหัวใจ มีก้านใบยาว 3 นิ้ว แหลมที่ปลาย ขอบเป็นหยักๆ เอ็นหลังใบขึ้นเห็นชัด ออกดอกเล็กเป็นกระจุกสีเขียว ออกลูกกลม ข้างในมีเมล็ดเป็นพันธุ์

รส
ฝาดนิดๆ ธาตุไม่ร้อนไม่เย็น ไม่มีพิษ แต่นํ้าในต้นรสขม ธาตุเย็นมาก

สรรพคุณ
สามารถกัดเสลด แก้พิษ แก้บวม ดับพิษ ฤทธิ์เข้าถึงตับและปอด

รักษา
ฝีมะคำร้อย ไฟธาตุไตอ่อน ใบใช้ภายนอกแก้ผื่นตุ่มคันตามผิวหนัง ฝี
หัวเข่า เท้าถูกของแหลมตำ เลือดคัดเจ็บปวด ทารกเนื้อตัวไม่สะอาด เนื่องจากพิษในครรภ์

ตำราชาวบ้าน
1. ฝีมะคำร้อย – ฮุงติ่งเท้า 1 ตำลึง ต้มกับกวยแชะหรือต้มเนื้อสันหมู รับประทาน หรือฮุงติ่งเท้า ต้มกับเซี่ยติ่งเท้า  เถาผีเสื้อ  อย่างละ 1 ตำลึง รับประทาน หรือเอาฮุงติ่งเท้าตำแหลก เอานํ้าทาที่ฝี
2. ไฟธาตุอ่อน – ฮุงติ่งเท้า ครึ่งตำลึง ต้มน้ำใส่นํ้าตาลทรายขาวรับประทาน
3. โรคคันใต้อัณฑะระยะแรก – ฮุงติ่งเท้าตำกับนํ้าผึ้งทาหรือฮุงติ่งเท้าตำกับเหล้าทา
4. ผิวหนังเป็นตุ่มฝีพุพอง – ใบฮุงติ่งเท้า ตำกับนํ้าตาลแดง พอกทา
5. ฝีหัวเข่า –ใบฮุงติ่งเท้า ตำกับส่าเหล้า แล้วพอก
6. ฝ่าเท้าเจ็บปวดเพราะถูกของแหลม -ใบฮุงติ่งเท้า สับแหลกแช่เกลือ แล้วตำแหลกใช้พอก
7. เด็กเป็นตุ่มเป็นฝีตามคอเพราะพิษในครรภ์ -ใช้ใบฮุงติ่งเท้า ตำแหลก แล้วพอก

ปริมาณใช้
ต้นและรากใช้สดไม่เกิน 1 ตำลึง แห้งไม่เกินครึ่งตำลึง ใบแห้งใช้กะพอ ประมาณ

ข้อควรรู้
ไม่ควรใช้ใบต้มกิน หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช