สมุนไพรจีนแปะตังปุง


ชื่อ
จีนเรียก     แปะตังปุง  เชียตอเอี๊ยะ  งู่ปุ่ยไฉ่  Gynura divaricata (L.) DC.

ลักษณะ
อยู่ในประเภทต้นเบญจมาศ ชอบขึ้นในหุบเขา แต่โดยมากคนมักปลูกเป็นยา เป็นพืชขึ้นอยู่หลายปี สูง 2-3 ฟุต แตกกิ่งก้านสล้าง ลำต้นมีขนสีขาวขึ้นทั่วไป แต่ลำต้นสีเขียว ต้นอ่อนหักง่ายมีนํ้าในลำต้นมาก ใบขึ้น สลับรูปยาวรี ยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ปลายแหลม ชอบใบเป็นหยักรูปคลื่น ไม่เป็นระเบียบ ดอกมีก้านยาวออกในหน้าหนาว ก้านดอกมักขึ้นตรงที่โคนใบ ดอกเป็นช่อกลมสีเชียว แต่กระเปราะดอกสีเหลือง ปลายดอกมีปุยขึ้นสีขาว

รส
รสจืด เย็นมาก ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
สามารถแก้ร้อนใน ประสะเลือดให้เย็น ดับพิษ ใช้ภายนอกแก้อักเสบ แก้บวม ฤทธิ์เข้าถึงปอดและม้าม

รักษา
ตาแดงเจ็บบวม ปอดและหัวใจร้อนใน เด็กตัวร้อน ใช้ภายนอกแก้ผิวหนังอักเสบ บวมพิษ ฝี ของมีคมบาด นํ้าร้อนลวก

ตำราชาวบ้าน
1. ตาแดงเจ็บบวม – แปะตังปุง 2 ตำลึง ตำแหลกเอานํ้าชงนํ้าผึ้งรับประทาน และเอาใบแปะตังปุงตำแหลกผสมนํ้านมคนปิดตา เว้นช่องที่ลูกตา
2. ปอดและหัวใจร้อนใน – เอาแปะตังปุง 2 ตำลึง ต้มนํ้าใส่เกลือนิดหน่อยรับประทาน
3. เด็กตัวร้อน – เอาแปะตังปุง ครึ่งตำลึง ต้มใส่กวยแชะ รับประทาน
4. เป็นฝีบวม ฝีร้อน – เอาแปะตังปุง ตำกับนํ้าตาลแดงพอกหรือใช้ใบ แปะตังปุง 1 ตำลึง ต้มเลือดหมูรับประทาน
5. เป็นฝีที่แก้มก้น – เอาแปะตังปุง ตำแหลกใส่นํ้าตาลแดง พอก
6. บาดแผลถูกของคมบาด – แปะตังปุง ตำแหลก พอก
7. ถูกลูกปืน – มีสองตำรา ตำราหนึ่งเอาแปะตังปุง ตำกับนํ้าผึ้งพอก อีกตำราหนึ่งชาวเมืองทุยไหลใช้กัน คือ เอาใบหญ้าขัดมอนใบ  ฟ้าทะลาย กะปิกุ้งนํ้าจืด ตากแห้งแล้วตำเป็นผง ทาที่บาดแผลลูกปืน ส่วนภายนอกก็ใช้แปะตังปุง ตำแหลกพอกทับอีกที สามารถถอนลูกปืนฝังในได้
8. นํ้าร้อนลวก – ใช้แปะตังปุง ตำแหลกแล้วพอก

ปริมาณใช้
รับประทานสดใช้ไม่เกิน 2 ตำลึง ใช้ภายนอกกะพอประมาณ

ข้อควรรู้
คนไฟธาตุอ่อน ร่างกายอ่อนแอและตัวไม่ร้อนไม่ควรรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช