สมุนไพร:ชะเลือด


ชื่อวิทยาศาสตร์ Premna obtusifolia R. Br.
ชื่อวงศ์ VERBENACEAE
ชื่ออื่น มันไก่ (ลำปาง), สามประงาใบ (ประจวบฯ) อัคคีทวารทะเล เค็ดน้ำมัน (ใต้)
ลักษณะทั่วไป เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยสูง 1-4 ม. แตกกิ่งมาก กิ่งอ่อน ในระยะแรกๆ มีขนประปราย และจะหลุดร่วงไปเมื่อขนแก่ขึ้น เมื่อขยี่ใบ จะมีกลิ่นเหม็น


ใบ ใบเดี่ยวเรียงสลับตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ แผ่นใบรูปขอบขนาน แกมรีถึงรีกว้าง กว้าง 4-9 ซม. ยาว 6-13 ซม. ปลายใบทู่ โคนแผ่นใบมน หรือค่อนข้างสอบแคบ และมักเบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบเรียบ เนื้อใบ ค่อนข้างหนาเกลี้ยงทั้งสองด้าน ผิวใบด้านล่างสีจางมีต่อมหลายต่อม มีเส้นใบ 3 เส้นจากจุดโคน เส้นใบ 2-3 คู่ ชัดเจน ก้านใบ ยาว 1.5-4 ซม. มีขนนุ่ม


ดอก สีขาวอมเขียว ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง แบบช่อเชิงหลั่น ด้าน บนดอกเสมอกันยาว 6-15 ซม.มีขนสั้นนุ่มหรือเกือบเกลี้ยงก้านช่อดอก ยาว 3-6 ซม. แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกขนาดเล็ก ยาว 0.2-0.4 ซม. ก้านดอกย่อยสั้นมาก ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วยเล็กๆ ที่ขอบแยกเป็นจักเล็กๆ 4 แฉก มีขนประปรายตามผิวด้านนอกกลีบดอก ติดกันเป็นหลอดปลายผายกว้างออกมีขนตามผิวด้านใน เกสรเพศผู้ 4 อัน แยกเป็น 2 คู่ติดอยู่ใกล้ๆ ปากหลอดด้านใน

ผล เล็กกลม สีดำภายนอกข้างในมีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ดต่อผล
นิเวศวิทยา พบตามที่โล่งและชายฝั่งทะเลทั่วไป
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบสดและกิ่ง ต้มน้ำอาบแก้โรคผิวหนัง ผื่นคันและแก้ไข้ แก้พยาธิ ใบ ใช้ภายนอก ตำพอก ต้มน้ำชะล้างบาดแผลเลือดออก หรือตากแห้งบดเป็นผงทา หรือโรยบริเวณที่เป็น กะลาสีเรือชอบพกเมล็ดชะเลือดและรากสำมะง่าออกทะเลด้วยเพื่อใช้แก้ท้องอืดแน่น
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย