สมุนไพร:มะขาม

มะขามไทย, ม่องโคล้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), อำเปียล (เขมร), ตะลูบ (ชาวบน-โคราช), ขาม (ใต้)

Tamarind Tamarindus indica Linn. LEGUMINOSAE

มะขามไทยมีหลายพันธุ์ เช่น มะขามเปรี้ยว, มะขามหวาน, มะขามขี้แมว เป็นต้น แต่ถ้าในตำรับยาให้ใช้มะขาม หมายถึงมะขามเปรี้ยว หรือมะขามกระดาน เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ใบประกอบขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขามาก เนื้อไม้แข็งเหนียว ดอกเล็กๆ สีขาวเหลือง ออกเป็นช่อ ฝักกลมแบนเล็กน้อย ปลายแหลมเป็นหนาม เมล็ดกลมแป้นสีน้ำตาลดำ เกิดได้ทั่วไปทั่วทุกภาค

สรรพคุณ

ใบแก่ รสเปรี้ยวฝาด ต้มดื่ม ขับเสมหะในลำไส้ ฟอกโลหิต-ขับเลือด ขับลมในลำไส้ แก้บิด แก้ไอ ต้มเอาน้ำโกรกศีรษะเด็กในตอนเช้า แก้หวัดคัดจมูก

เนื้อในฝัก รสเปรี้ยว รับประทาน กัดเสมหะ แก้ท้องผูก แก้กระหายน้ำ คั้นกับน้ำปูนใสดื่ม ขับโลหิต ขับลมในสตรีที่คลอดใหม่ ๆ แก้สันนิบาตหน้าเพลิง คั้นกับน้ำเกลือรับประทาน ขับรกที่ค้าง

เปลือกเมล็ด (กระเทาะเมล็ดมะขาม) รสฝาด ต้มหรือบดเป็นผง ชงน้าร้อนรับประทาน แก้ท้องร่วง คุมธาตุ แก้อาเจียน พอกรักษาแผลในคนที่เป็นโรคเบาหวาน ดีนัก ไม่ต้องตัดอวัยวะแล

เนื้อในเมล็ด รสมัน คั่วในสุก แช่น้ำเกลือให้พองตัวนิ่มดี รับประทาน ขับพยาธิไส้เดือน

รกมะขาม รสฝาด ต้มดื่มแก้ท้องเสีย

เปลือกต้น รสฝาดเมาร้อน ต้มหรือฝนกับน้ำปูนใสทารักษาแผลเรื้อรัง ฆ่าเชื้อโรคผิวหนัง ต้มอมแก้เหงือกบวม แก้ฟันผุ

แก่น รสฝาดเมา ต้มดื่ม กล่อมเสมหะและโลหิต