สมุนไพรรักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ

ที่มา:เสาวณี สุริยาภณานนท์

สมุนไพรรักษาโรค

ปัจจุบันคนไทยกำลังตื่นตัวหันมาใช้ยาสมุนไพร หรือพืชสมุนไพรกันมาก นับเป็นช่วงที่ยาสมุนไพร หรือพืชสมุนไพรเฟื่องฟู คำว่า “ยาสมุนไพร” หมายถึง ยาที่ได้จากส่วนของพืช สัตว์ และแร่ธาตุ ซึ่งยังมิได้ผสมปรุง หรือแปลงสภาพ คนไทยรู้จักนำยาสมุนไพรมาใช้ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ทั้งนี้เพราะสมัยก่อนการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่เจริญ อีกทั้งสภาพภูมิประเทศอำนวยให้ คือมีทรัพยากร ทั้งพืชสัตว์ และสินแร่มากมายหลายชนิด สามารถนำมาใช้ปรุงเป็นยารักษาอาการเจ็บป่วย ซึ่งก็คือยาสมุนไพรนั่นเอง ปัจจุบันทางด้านรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญ และประโยชน์ชองยาสมุนไพรหรือพืชสมุนไพร เพราะประชาชนสามารถนำมาใช้ในการรักษาบำบัดอาการป่วยเบื้องต้น ทั้งนี้เพราะว่าอาการป่วยบางโรคยังไม่จำเป็นถึงขั้นต้องใช้ยาแผนปัจจุบัน และการใช้ยาแผนปัจจุบันอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงได้มากและรุนแรงกว่า เช่น อาการแพ้ต่าง ๆ และยังมีผลเกี่ยวเนื่องถึงเศรษฐกิจชองประเทศ เพราะยาแผนปัจจุบันที่ใช้ในประเทศนั้น ตัวยาต่าง ๆ ยังต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง การใช้ยาสมุนไพรหรือพืชสมุนไพรยังเป็นการช่วยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรที่มีในประเทศ

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพันธุ์ไม้หลายชนิดที่สามารถปลูกและเจริญงอกงามได้ดี พระบรมคุรุแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์ กล่าวว่าพืชทุกชนิดสามารถนำมาใช้รักษาโรคได้ ผลของการรักษาอาจจะมากหรือน้อย แตกต่างกัน ปัจจุบันมีการใช้พืชสมุนไพรทั้งในแง่สาธารณสุขมูลฐาน หรือใช้บำบัดรักษาอาการโรคที่ร้ายแรงที่การรักษาทางแผนปัจจุบันยังได้ผลไม่เต็มที่ เช่น โรคมะเร็ง การใช้อาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ยังไม่มีการพิสูจน์ที่แน่ชัด การใช้ยาสมุนไพรและพืชสมุนไพรนับวันจะทวีการใช้เพิ่มมากขึ้น จึงสมควรที่จะมิการศึกษาวิจัย ค้นคว้า และคัดเลือกชนิดของสมุนไพร เพื่อนำมาใช้บำบัดโรคต่าง ๆ ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ คุณประโยชน์ต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบ เพื่อที่ประชาชนจะได้รู้จักเลือกสมุนไพรใช้ให้ถูกต้อง ถูกส่วน ถูกขนาด ถูกวิธี เพื่อจะได้รักษาอาการเจ็บป่วย ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย และประหยัดของประชาชนคนไทย

สมุนไพรที่ได้คัดเลือกและรวบรวมมากล่าวในที่นี้ ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรที่ได้รับการส่งเสริมอยู่ในโครงการสมุนไพรกับสาธารณสุขมูลฐาน ใช้รักษาอาการโรคเบื้องต้น หรือป้องกันไม่ให้เกิดโรค

สมุนไพรรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุก เสียด

กระชาย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Boesenbergia pandurata Holtt.

ชื่ออื่น ๆ กะแอน ระแอน (เหนือ) จี๊ปู่ ชีพู

(แม่ฮ่องสอน) เป๊าะสี่ ว่านพระอาทิตย์ ขิงทราย (มหาสารคาม)

ชื่ออังกฤษ –

วงศ์ Zingiberaceae

ลักษณะต้น ไม้ล้มลุก สูง 50 ซม. รากทำหน้าที่เก็บสะสมอาหาร รูปร่างยาวกลมตรงปลายป่องเล็กน้อย มีลำต้นใต้ดิน กาบใบแผ่หุ้มซ้อนกัน ใบเป็นรูปกลมรี ปลายใบและโคนใบแหลม ช่อดอกออกที่ปลายยอด สีขาวอมชมพู

ส่วนที่ใช้ รากและเหง้า

สารสำคัญ นํ้ามันหอมระเหย, กรด chavicinic, boesenbergin A, cardamonin, cineol

สรรพคุณ

1. ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด

2. แก้บิด (ปวดเบ่งมีมูกหรือมีเลือด)

วิธีใช้

1. ขับลม ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้เหง้าและรากสดแห้งครึ่งกำมือ (สด 5-10 กรัม, แห้ง 3-5 กรัม) ต้มเอานํ้าดื่ม

2. แก้บิด ใช้เหง้าสดครั้งละ 2 หัว (15 กรัม) ย่างไฟพอสุก ตำกับนํ้าปูนใส คั้นเอานํ้าดื่ม

การขยายพันธุ์และการปลูก

ใช้เหง้าปักชำในดินที่มีความชุ่มชื้นสูง เมื่องอกรากและแตกหน่อแล้ว จึงนำไปปลูก กระชายชอบดินร่วนปนทราย รดนํ้าพอสมควร

กระเทียม

ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium sativum Linn.

ชื่ออื่นๆ กระเทียมจีน กระเทียมขาว หอมขาว

(อุดร) ปะเซ้วา (แม่ฮ่องสอน)

ชื่ออังกฤษ Garlic

วงศ์ Alliaceae

ลักษณะพืช ไม้ล้มลุกสูง 0.3-0.8 เมตร มีกลิ่นเฉพาะ ลำต้นอยู่ใต้ดินมีกาบใบแผ่หุ้ม ใบสีเขียวเข้ม เรียวยาว ปลายใบแหลม ดอกแบบ raceme

ส่วนที่ใช้ หัว (bulb)

สารเคมี alliin, allisin, allyl-disulphide, allyl

propyldisulphide, inulin, choline, myrosinase และแร่ธาตุอื่น ๆ

สรรพคุณ

1. ขับลม ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ

2. ลดความดันโลหิต

3. ลดนํ้าตาลในเลือด

4. ลดไขมันในเลือด

5. ทาแก้โรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน

วิธีใช้

1. ปัจจุบันมีการตื่นตัวรับประทานกระเทียมทั้งสดและที่ทำเป็นรูปของยา ซึ่งจัดเป็นอาหารสมุนไพรชนิดหนึ่ง คนไข้ที่มีความดันโลหิตสูง แนะนำให้รับประทานกระเทียม วันละ 7 กลีบ คนไข้ที่มีไขมันในเส้นเลือดรับประทาน วันละ 1 -2 หัว

2. ขับลม ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้ไข้ รับประทานครั้งละ 5 กลีบ (2 กรัม)

3. ทาแก้โรคผิวหนังเช่น กลาก เกลื้อน ให้นำหัวกระเทียมมาฝานและทา บริเวณที่เป็นบ่อย ๆ

การขยายพันธุ์และการปลูก

ใช้หัว กระเทียมชอบดินร่วนซุย นํ้าไม่ขัง เจริญได้ดีในที่ที่มีอากาศเย็น

กระวาน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Amomum krervanh Pierre

ชื่ออื่น ๆ กระวานขาว กระวานจันทร์ กระวานแดง

ชื่ออังกฤษ Camphor Seed, Siam Cardamon, Best Cardamon

วงศ์ Zingiberaceae

ลักษณะต้น เป็นไม้ล้มลุก ลักษณะคล้ายข่า ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก ดอกสีเหลือง ผลรูปกลมสีเหลืองอ่อนปนนํ้าตาล

ส่วนที่ใช้ ผล

สารสำคัญ นํ้ามันหอมระเหย ประกอบด้วย borneo camphor (พิมเสน) camphor (การบูร) cineol, terpineol

สรรพคุณ ขับลม รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด

วิธีใช้ นำผลแก่มาบดเป็นผงรับประทานครั้งละ 1.5-3 ช้อนชา (1-2 กรัม)

การขยายพันธุ์และการปลูก

แยกหน่อจากต้นเดิม ตัดใบทิ้งเพื่อลดการคายนํ้า นำหน่อไปชำในที่ชุ่มชื้นมีแดดรำไร เมื่อต้นงอกรากดีแล้วจึงนำไปปลูก กระวานชอบดินร่วนซุย มีความ ชุ่มชื้นมาก แต่ไม่ชอบนํ้าขัง

กานพลู

ชื่อวิทยาศาสตร์ Eugenia caryophyllus Bullock& Harrison

ชื่ออื่น ๆ จันจี่ (เหนือ)

ชื่ออังกฤษ Clove

วงศ์ Myrtaceae

ลักษณะต้น ไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 5-15 เมตร ใบเดี่ยวเรียงตัวตรงกันข้าม เนื้อใบหนา เรียบเป็นมัน มีจุดน้ำมันกระจายอยู่ที่แผ่นใบ ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ลักษณะดอกเป็นรูปโคน สีแดงอมชมพู กลีบเลี้ยงติดกันมี 4 กลีบ กลีบดอกติดกัน มี 4-5 กลีบ มีเกสรตัวผู้มาก ผลเป็นรูปไข่สีแดงเข้ม

ส่วนที่ใช้ ดอกตูม

สารสำคัญ นํ้ามันหอมระเหยที่สกัดได้จากดอก มีกลิ่นฉุนและมีรสเผ็ดประกอบด้วยสาร eugenol

สรรพคุณ รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาชาเฉพาะแห่ง เพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน

วิธีใช้ นำดอกแห้งหรือสด 5-8 ดอก ต้มนํ้าหรือบดเป็นผงรับประทาน

การขยายพันธุ์และการปลูก

เพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง ชอบดินร่วนซุย มีระบบการระบายนํ้าดี ในระยะแรกที่ปลูกให้ทำร่มเงา เจริญงอกงามดีในที่ที่มีความชื้นสูง

ขิง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber offcinale Roscoe

ชื่ออื่น ๆ ขิงแกง ขิงแดง (จันทบุรี) ขิงเผือก (เชียงใหม่) สะแอ (แม่ฮ่องสอน)

ชื่ออังกฤษ Zingiber

วงศ์ Zingiberaceae

ลักษณะต้น เป็นไม้ล้มลุกมีเหง้าอยู่ใต้ดิน มีกลิ่นหอม ลำต้นสูง 0.3-1 เมตร ใบเรียงตัวแบบสลับรูปยาวเรียวแหลม ดอกออกเป็นช่อแทงจากเหง้า รูปทรงกระบอก

ส่วนที่ใช้ เหง้าแก่

สารสำคัญ นํ้ามันหอมระเหย, สารสีเหลืองที่มีรสเผ็ด,oleoresin

สรรพคุณ รักษาอาการท้องอืด ขับลม ขับเสมหะ คลื่นไส้อาเจียน

วิธีใช้ นำเหง้าขิง ทุบใส่ลงในนํ้าต้มให้เดือด ดื่มนํ้าขิงอาจจะใส่นํ้าตาลทรายแดงลงไปเล็กน้อย

การขยายพันธุ์และการปลูก

ใช้เหง้า ปลูกในดินร่วนปนทรายที่มีระบบการระบายนํ้าดี ปลูกในช่วงต้นฤดูฝน พอถึงช่วงฤดูแล้งขิงจะลงหัวให้ขุดเหง้าขึ้นมาเก็บไว้ เตรียมปลูกในฤดูต่อไป

ดีปลี

ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper chaba Hunt

ชื่ออื่น ๆ ดีปลีเชือก (ใต้) ประดงข้อ ปานนุ (ภาคกลาง) พิษพญาไฟ

ชื่ออังกฤษ

วงศ์ Piperaceae

ลักษณะต้น ไม้เลื้อยเกาะพันหลัก ลำต้นกลม มีรากออกตามข้อบริเวณโคนกิ่ง ใบเรียงตัวแบบสลับ ใบรูปไข่ค่อนข้างเรียว ปลายใบแหลม ดอกออกเป็นช่อแบบ spike รูปทรงกระบอก ปลายช่อดอกเรียว เมื่อแก่จัดมีสีแดง

ส่วนที่ใช้ ช่อผลแก่

สารสำคัญ piperine, chavicine

สรรพคุณ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้องเนื่องจากธาตุไม่ปกติ แก้ไอ ขับเสมหะ วิธีใช้ ผลแก่ 10-15 ช่อ ต้มกับนํ้าดื่มแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือนำมาฝนกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย รับประทานแก้ไอ ขับเสมหะ

การขยายพันธุ์และการปลูก

ใช้เถาชำจนรากออกดี นำไปปลูกในดินร่วนซุยนํ้าไม่ขัง หาหลักมาปักเพื่อให้เถาพันหลักนั้น

ตะไคร้

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon citrates Stapf.

ชื่ออื่น ๆ คาหอม (แม่ฮ่องสอน) ไคร จะไคร (เหนือ)

เชิดเกรย (สุรินทร์) หัวลังไค (ปราจีน)

ชื่ออังกฤษ Lemon Grass, Lapine

วงศ์ Graminae

ลักษณะต้น พืชล้มลุกมีอายุหลายปี มีข้อปล้องสั้น มีกลิ่นหอม กาบใบเป็นแผ่นโอบซ้อนรอบลำต้น ตัวใบเรียวยาวปลายใบแหลม ยาว 80 ซม. กว้าง 2-3 ซม.

ส่วนที่ใช้ ลำต้นและกาบใบ

สารสำคัญ น้ำมันหอมระเหย (lemon grass oil) มีสารประกอบพวก Citral, IinaIool geraniol citronellol

สรรพคุณ ขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดท้อง และขับปัสสาวะ

วิธีใช้

1. ขับลม แก้อาการขัดเบา ต้นสดประมาณ 1 กำมือ ทุบพอแหลก ต้มเอานํ้ามาดื่ม

2. แก้อาการขัดเบา ลำต้นแก่ ทั้งต้นสดและแห้ง (สดหนัก 40-60 กรัม แห้ง 20-30 กรัม) ต้มนํ้ารับประทานก่อนอาหาร ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มล.)

การขยายพันธุ์และการปลูก

ใช้ต้นปักชำ โดยตัดใบออกเหลือแต่กาบใบ เพื่อลดการคายนํ้า ปักลงในดินที่ร่วนซุย หมั่นรดน้ำ ตะไคร้ชอบแดดจัด