สมุนไพรรักษาไมเกรน

ไมเกรน (Migraine)

ทางการแพทย์ถือว่าเป็นอาการของภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ที่มีสาเหตุสรุปไม่ได้แน่นอน มีลักษณะอาการคล้ายกับอาการของโรคที่เราเรียกว่า โรคปวดหัวข้างเดียว  หรือลมตะกัง หรือลมปะกังชาติ เป็นโรคที่แทบจะเป็นปัญหาโลกแตกในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ เพราะการรักษาเท่าที่พบในปัจจุบันสามารถเพียงแต่ระงับ อาการไปได้ชั่วครั้งชั่วคราว บางที่ปวดมากๆ กินยาฉีดยาก็ไม่หาย ถ้ามันอยากจะหายไม่กินยา มันก็หายไปได้เอง แถมยังมีอาการรบกวนแทรกอีก เช่น เวียนศรีษะหน้ามืด ที่สร้างความหนักใจแก่คนข้างเคียงก็คือ เจ้าอารมณ์ หงุดหงิด ขี้บ่น เห็นอะไรเป็นขวางหูขวางตาไปหมด คนป่วยเองไม่เท่าไหร่ แต่คนข้างเคียงนี่หนักกว่า บางที่พลอยประสาทรับประทานไปด้วย

โรคนี้พบได้ทั่วไป เป็นได้ทุกเพศทุกวัยพบมากในระหวางอายุ 10-30 ปี เป็นหญิงมากกว่าชาย มักเป็นๆ หายๆ เรื้อรังนานแรมปี มักเริ่มเป็นเมื่อยางเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ตอนเริ่มมีประจำเดือนบางคนเป็นตั้งแต่เด็ก โดยมากมีอาการปวดท้อง เมารถเมาเรือร่วมด้วย มีน้อยคนที่จะเป็นเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป แต่สตรีที่เคยเป็นมาก่อน เมื่อถึงวัยใกล้หมดประจำเดีอน จะมีอาการปวดศีรษะบอยขึ้น เมื่ออายุเลย 50 ปีมักจะหายไปเอง เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่สร้างความรำคาญทรมาน ทำให้เสียการงาน บางทีมองเห็นหน้าเจ้านายนึกว่ายักษ์มาร มองเห็นงาน แล้วมันหงุดหงิดๆ เวลานอนก็นอนไม่หลับ จะทำไงดี ?

เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับคนทุกระดับทางสังคม ทุกระดับสติปัญญา ผู้ที่มีฐานะดี หรือมีการศึกษาดี คนที่มีนิสัยเจ้าระเบียบจู้จี้จุกจิกมักเป็นโรคนี้เป็นประจำ ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วย มักมีประวัติว่า พ่อแม่เป็นโรคนี้ด้วย

สาเหตุ

อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้ เกิดอาการเนื่องจากมีการหดและขยายตัวผิดปกติของหลอดเลือดแดง ทั้งในและนอกกะโหลกศีรษะเป็นครั้งคราว เมื่อมีเหตุกระตุ้น

อาการปวดศีรษะ เกิดเพราะมีการขยายตัวผิดปกติของหลอดเลือดแดง ที่อยู่ภายนอกกะโหลกศีรษะ

ส่วนอาการนำ เช่น ตาพร่า ตาลาย เป็นผลมาจากการหดตัวผิดปกติของหลอดเลือดแดงที่สมอง หรือที่จอตา จนประสาทส่วนนั้นรับเลือดไม่เพียงพอ

สาเหตุกระตุ้น

ผู้ป่วยมักจะสามารถบอกได้ว่า มีอะไรเป็นสาเหตุมากระตุ้น ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ซึ่งแต่ละคนจะแตกต่างกันไป และมักจะมีได้หลายๆ อย่าง เช่น

1. มีแสงสว่างจ้าเข้าตาเช่นออกกลางแดดจ้า รับแสงระยิบระยับในสถานเริงรมย์หรือ ในโรงมหรสพ เป็นต้น (โบราณกล่าวว่า มักจะปวดหัวตอนเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น)

2. ใช้ลายตาเพ่งดูอะไรนานๆ

3. อยู่ในที่ๆ มีเสียงดังจอแจ หรือเสียงอึกทึก

4. ได้รับกลิ่นฉุน ๆ เช่น กลิ่นน้ำมันรถ น้ำหอม สารเคมี ควันบุหรี่ เป็นต้น

5. ดื่มกาแฟมากๆ

6. ยานอนหลับ เหล้า เบียร์ ตับไก่ นมเปรี้ยว เนยแข็ง ไส้กรอก อาหารทะเล ช็อกโกแลต อาหารทอด น้ำมัน ผงชูรส ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ล้วนกระตุ้นให้เกิดอาการได้

7. อยู่ในที่ร้อนหรือเย็นเกินไป

8. อดนอน หรือนอนไม่เพียงพอ

9. นอนตื่นสาย กินอาหารผิดเวลาหรือความหิว เชื่อว่าเกี่ยวกับภาวะมีน้ำตาลในเลือดต่ำ บางครั้งเมื่อผู้ป่วยไปเป็นโรคเบาหวาน อาการปวดจะหายไป

10. การนั่งรถ นั่งเรือ หรือนั่งเครื่องบิน

11. อาการเจ็บปวดตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

12. การเป็นไข้

13. ถูกกระแทกแรงๆ ที่ศีรษะ

14. จากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศ บางรายมีอาการอย่างมากเมื่อจะมีประจำเดือนและมีไม่น้อยที่หายปวดเมื่ออุ้มท้องได้ 9 เดือน บางรายใช้ยาคุมกำเนิดทำให้ปวดบ่อยขึ้น พอหยุดยาก็หาย

15. ความเครียดทางอารมณ์ คิดมาก อารมณ์ขุ่นมัว ตื่นเต้น ตกใจ ข้อนี้เป็นสาเหตุใหญ่ในปัจจุบัน

อาการ

มักมีอาการเป็นครั้งคราว ด้วยการปวดที่ขมับหรือเบ้าตาซีกใดซีกหนึ่งปวดแบบตุบๆ เข้ากับจังหวะการเต้นของหัวใจ แต่บางครั้งปวดแบบตื้อๆ อาจปวดสลับข้าง หรือปวดพร้อมกันทั้งสองข้าง อาจปวดนานเป็นชั่วโมง หรือปวดนานเป็นวันๆ แต่ไม่เกิน 3 วัน บางคนก่อนปวดหรือขณะปวด อาจมีอาการตาพร่า ตาลาย ตาเห็นแสง วอบแวบหรือตามืดตามัว อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นก่อนปวดศีรษะประมาณ 15-20 นาที ถ้าปวดรุนแรง จะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เมื่ออาเจียนแล้ว อาการอาจทุเลาลง

การกินยาแก้ปวด หรือนอนหลับสักพักตั้งแต่เริ่มมีอาการ อาจช่วยให้หายได้ แต่ถ้าปล่อยให้ปวดเป็นชั่วโมง แล้วจึงกินยามักไม่คอยได้ผล บางคนที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการหน้าขาริมฝีปากชา มือชา วิงเวียนศีรษะตาเห็นภาพซ้อน อ่อนเพลีย หรือแขนขาไม่มีแรงรวมด้วย แต่พบน้อยมาก และมักเป็นขั่วขณะ แล้วหายไปได้เอง

สิ่งที่ตรวจพบ

ปกติจะไม่พบสิ่งผิดปกติ บางครั้งในขณะที่ปวดอาจพบหลอดเลือดโป่งพอง และเต้นตุ้บ ๆที่บริเวณขมับ

การแพทย์ไทยมีวิธีการรักษา พอจะแบ่งออกเป็น ๔ แนวทาง คือ

1. โดยวิธีหัตถเวชกรรม (การนวด)

2. โดยใช้ยาสมุนไพร

3. โดยการอบสมุนไพร

4. โดยการทำสมาธิ

การรักษาโดยหัตถเวชกรรม

รักษาอาการปวดศีรษะ

1. กดคลายอาการเกร็งแข็งของกล้ามเนื้อ และเส้นที่ไหล่ ซึ่งไปกดทับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะนี้กล้ามเนื้อไหล่และต้นคอจะแข็งเกร็ง ไปกดทับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงสมองไหลเวียนไม่สะดวก ผู้ป่วยที่เกิดจากอาการเครียดมาก ๆ อาจมีอาการเส้นเลือดที่ขมับและหลังหูโป่งพองชัดเจน

2. นวดกดจุดสัญญานคอ และหลัง เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง

3. นวดกดจุดสัญญานศีรษะ หน้า และหลังเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง

4. นวดกดจุดพื้นฐานหลัง เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงสมองให้เพียงพอ

การใช้วีธิหัตถบำบัดนี้ เป็นวีธีรักษาที่ได้ผลดี และรวดเร็วที่สุด สามารถรักษาอาการปวดศรีษะให้หายได้ทันทีหลังการรักษา ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่ป่วยมานานก็อาจหายได้

แต่การที่จะให้หายขาดนั้น อาจต้องทำการรักษาหลายครั้งขึ้นอยู่กัระยะเวลาที่เป็น การรักษาในอดีต ความรุนแรงของโรคและการดูแลรักษาตัวเองของผู้ป่วย การรักษาโดยวิธีนี้จะต้องให้หมอที่มีความรู้ทางด้านนี้โดยตรง เพราะจุดที่กดอยู่ใกล้จุดอันตรายเป็นส่วนมากซึ่งแพทย์ที่ได้ศึกษามาทางด้านนี้โดยเฉพาะ คือ แพทย์อายุรเวท ซึ่งเป็นแพทย์แผนโบราณแบบประยุกต์ที่ศึกษาตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่รักษาโดยกรรมวิธีและยาแผนโบราณ มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่อายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) ตรงข้ามวัดบวร ถนนพระสุเมรุ บางลำภู กรุงเทพฯ โทร. 282-6506

แก้ไขต้นเหตุของโรค

1. ค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เช่น อาจเกิดจากการแพ้ต่างๆ จากภาวะจิตใจ จากอาหาร หรือจากสาเหตุอื่นๆ

2. เมื่อพบสาเหตุแล้ว แนะนำผู้ป่วยให้หลีกเลี่ยงสาเหตุนั้นๆ หรือขจัดสาเหตุนั้นๆ เสียอาการของโรคก็จะทุเลาหายไปได้เอง และไม่กลับมาเป็นอีก

การรักษาโดยการใช้ยา

ยาแก้ลมปะกังชาติ

หน่อไม้แห้ง เห็ดตับเต่า ใบฝ้ายแดง ลูกจันทน์เทศ ดอกจันทน์เทศ กานพลู เปลือกทิ้งถ่อน รากกรวยป่า ดอกดีปลี

ยาทั้งนี้เสมอภาค บดเป็นผง นั้นเป็นเม็ดขนาดเท่าลูกมะแว้ง

รับประทาน ครั้งละ 3 – 5 เม็ดก่อนอาหาร วันละ 3 เวลา เช้า-กลางวัน-เย็น

รักษาโรคลมปะกังชาติ ปวดหัวข้างเดียวหรือปวดหัวเนื่องจากโรคเส้นประสาทจากความเครียด

ยาแก้ปวดศีรษะเรื้อรัง

แก่นขี้เหล็ก ผักเสี้ยนผี ต้นแมงลัก

ยาทั้งนี้สิ่งละหนัก 1 บาท นำมาใส่หม้อดิน เติมน้ำ 3 ส่วน ต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน รับประทานครั้งละ 3-4 ช้อนโต้ะ วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น และก่อนนอน

ยาแก้ปวดประสาท แก้หวัดคัดจมูก แก้มึนศีรษะ

ยาฉุน ดอกมะลิ ผิวมะกรูด

หนักสิ่งละ 2 บาท บดละเอียดเป็นจุล ผสมพิมเสน การบูนหรือเมลธอลพอควร ใช้นัตถ์เข้าจมูก

ยาแก้ปวดศีรษะ

เมล็ดพริกไทย ไพร ดินประสิว เทียนคำ หัวกระเทียมแห้ง หนักสิ่งละ 1 บาท ว่านน้ำ หนัก 5 บาท

บดเป็นผง รับประทาน ครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

ก่อนบดยา สวดด้วย บทพุทธคุณ และสักตวา 9 จบ บดยาเสร็จ สวดด้วยพุทธคุณอีก 7 จบ

ยาแก้ปวดศีรษะมาก แก้ไข้หวัด ขับปัสสาวะ ปากคอแห้ง ตัวร้อนจัด

รากมะกรูด รากมะนาว รากมะปรางหวาน เท้ายายหม่อม รากชิงชี่ รากคนทา รากย่านาง จันทน์ขาว ก้านสะเดา กฤษณา กระลำพัก เกสรบัวหลวง ยาทั้งนี้เสมอภาค

ต้มหรือบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 กรัม หรือ ๑ ช้อนชา ละลายน้ำซาวข้าว หรือน้ำต้ม

รับประทานกอนอาหาร วันละ 4 เวลา เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน

ถ้าปวดศีรษะมาก เอาเนื้อไม้สัก หญ้าแพรก ต้มเอาน้ำเป็นกระสายกิน

การรักษาโดยวิธีกดจุดของจีน

การกดจุดมีวิธีการรักษาคล้ายวิธีหัตถบำบัด จุดต่างๆ ที่ใช้ก็เป็นจุดเดียวกันเสียเป็นส่วนใหญ่ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. กดจุดเทียนจู้ เมื่อนั่งตัวตรงก้มคอเล็กน้อยจะเห็นเอ็นที่ด้านหลังต้นคอ 2 เส้นจุดนี้อยู่ติดแนวชายผมด้านนอกของเส้นเอ็นทั้งสองข้างกดจุดนี้ในแนวทิศทางเข้าหาแนวกลางตัวกดให้แรงให้รู้สึกปวดหนักๆ ประมาณ 3 วินาที แล้ววางมือ 2 วินาที ทำเช่นนี้ให้ครบ 5 ครั้ง หลังจากกดแล้วจะรู้สึกตาสว่าง และสบายตัวขึ้น

2. กดจุดเจียนจิ่ง จุดนี้เมื่อเราลากแนวจากหัวนมขึ้นมาดัดกับยอดไหล่ จะพบรอยมุมที่ไหล่ จุดนี้อยู่ตรงรอยบุ๋มนี้ เมื่อกดจะเจ็บมาก วิธีกดให้ทำเหมือนข้อ 1

3. กดจุดป่ายฮุ่ย เมื่อเราลากเส้นจากแนวยอดใบหูทั้งสองข้างมาพบกันเส้นนี้ จะตัดกับแนวเส้นกลางลำตัว จุดนี้จะอยู่ตรงจุดตัดกลางศีรษะพอดี ให้กดเหมือนข้อ 1

4. เมื่อกดจุดทั้ง 3 ครบแล้ว ให้ใช้บุหรี่ หรือธูป รมตรงจุดทั้ง 3 ห่างจากผิวหนังพอเหมาะ จุดละ 10 ครั้ง

5. กดจุดจู๋กู่ เมื่อพลิกใบหูไปข้างหน้า ให้แนบศีรษะลากแนวจากจุดที่ใบหูพับกันเป็นยอดแหลมขึ้นไปอีก 2.5 ซม. จุดนี้จะอยู่ตรงนี้ใช้นิ้วกดไว้ประมาณ 30 วินาที จุดจู๋กู่ นี้ใช้รักษาอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ ตาลายได้ด้วย

6. กดจุดว่ายกวาน อยู่เหนือกึ่งกลาง รอยพับข้อมือขึ้นไป 3 นิ้วมือ ใช้เหรียญ 1 บาทแปะไว้บนจุดนี้

7. จุดหลินชี่ อยู่บนหลังเท้า ระหวางนิ้วนางกับนิ้วก้อย ตรงกึ่งกลางความยาวของตาตุ่ม กับโคนนิ้วก้อย  ใช้เหรียญ 50 สตางค์ แปะไว้บนจุดนี้ แล้วใช้เทปปิดทับไว้ ระหวางจุดว่ายกวาน กับ จุดหลินชี่ นี้ ถ้าใช้สายไฟฟ้าโยงกันได้จะทำให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

รักษาโดยการทำสมาธิ

สาเหตุของไมเกรนและปวดศีรษะจากความเครียดมีสาเหตุ

1. มาจากภูมิแพ้ ซึ่งเรียกกันว่า ประดงเลือดประดงลม เนื่องจากในเลือดของผู้ป่วย มีสารพิษสิ่งสกปรกตกค้างอยู่มากเกินไป จึงทำให้เกิดอาการแพ้สารต่าง ๆขึ้น เช่น แพ้อาหาร แพ้สาร แพ้ยา หรือบางทีแม้นแต่กลั้นปัสสาวะ หรืออุจจาระ ก็อาจเกิดอาการแพ้ได้ เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ มาจากร่างกายเรามีภูมิต้านทานที่ไวเกินไป เป็นเพราะร่างกายของเราสะสมเอาสิ่งสกปรกสารพิษ ยา อะไรที่ผิดแปลก ไว้ในร่างกายมากเกินกว่าที่ร่างกายจะรับไหว ใครมีอะไรมากอยู่ก่อน แล้วพอได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้าไปก็จะแสดงอาการต่อต้านมากจนเกินปกติ

2. สาเหตุมาจากความเครียด เท่าที่พบส่วนมาก โรคปวดศรีษะส่วนใหญ่ มาจากสาเหตุนี้ความเครียด เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมากมาย เช่น โรคกระเพาะอาหารลำไส้ นอนไม่หลับโรคประสาทโรคความดันโลหิตสูง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เครียดมาก ๆ อาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้

พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ใจเป็นนายกายเป็นบ่าวในยุคที่ทุกคนต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อรักษาลมหายใจเอาไว้ให้นานที่สุดนี้ มีสิ่งกดดันเริ่มมาตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเดินทางไปโรงเรียน สถานะภาพทางสังคมและการเงินอะไรต่อมิอะไรมากมายที่เป็นผลพวงจากสังคมปัจจุบัน ถ้าพ่อแม่เป็นคนขี้บ่นจู้จี่จุกจิกเจ้าอารมณ์ (ท่านว่า คนที่เป็นโรคไมเกรนส่วนมาก พ่อแม่มักจะเป็นมาก่อน คิดว่าไม่ต้องรอถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรอก แค่ถ่ายทอดทางอารมณ์ก็สุด ๆแล้ว) บางทีไปทำงาน เจอเจ้านายอีแบบเดียวกันอีก ไม่เครียดตอนนี้ก็ไม่รู้จะไปเครียดตอนไหน จิตใจของคนเรามีอิทธิพลต่อการทำงานของร่างกายเป็นอย่างมาก สังเกตง่ายๆ ถ้าหากจิตใจเราผ่องใส สะอาด มีเมตตากรุณา ผิวหน้าจะนุ่มนวลอิ่มเอิบ เป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็น หากเราปล่อยให้จิตใจมีกังวลมากๆ อาจก่อให้เกิดโรคได้หลายโรค

ความเครียดนั้นมาจากปัจจัยทั้งภายในและปัจจัยภายนอก

ปัจจัยภายใน ก็คือ ภายในจิตใจ ภายในตัวของเราเอง เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น จากกิเลส ตัญหา อุปาทาน จากการทำงานของร่างกาย มีทั้งที่เป็นปกติและไม่ปกติ

ที่ปกติ เช่น ความต้องการทางเพศ ช่วงเปลี่ยนวัย ช่วงจะหมดระดู เป็นต้น

ที่ไม่ปกติ เช่น เกิดโรคภายในร่างกาย อาการเจ็บป่วยบีบคั้นทางกายต่างๆ เป็นต้น

เกิดจากในจิตในใจตน เช่น ความอิจฉาริษยา อาฆาต พยาบาท จองเวร ความรัก(ไม่ใช่เมตตา แต่เป็นความหลงประกอบกับตัญหาและอวิชชา) ความโกรธ ความโลภ ความหลง ที่มีมากเกินไป ไม่รู้จักประมาณตน

ปัจจัยภายนอก ก็คือ ความร้อน ความเย็น แสง เสียงที่ผิดปกติ การถูกบีบคั้นทรมานทางกาย ทางใจ แต่ปัจจัยเหล่านี้ จะสามารถทำให้เกิดความเครียดได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางจิตใจของแต่ละคน พื้นฐานทางจิตใจที่ว่านี้ จะทำให้เกิดความไวต่อการกระตุ้น ในระดับที่ต่างกันไป บางคนอาจทนต่อสิ่งกระตุ้นได้มากกว่าอีกคนหนึ่งในสิ่งกระตุ้นเดียวกัน

จิตใจและร่างกาย จะมีความสุขได้นั้น ท่านว่าจะเกิดได้ต่อเมื่อจิตใจสงบ จิตใจจะสงบได้ต้องมีสมาธิ การสงบด้วยสมาธิอย่างเดียว เป็นความสงบเพียงชั่วขณะ ถ้าจะให้สงบอย่างมั่นคง จะต้องใช้สมาธินั้นเป็นฐาน พิจารณาให้เกิดปัญญา คือ วิปัสสนา ทำให้เป็นธรรม คือ เป็นความเป็นธรรมดาของโลก ว่าทุกสิ่งในโลกรวมถึงร่างกายที่เราอาศัยอยู่ แม้นแต่โลกนี้ก็ตาม มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แลดับไปเป็นธรรมดา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข การเลื่อมลาภ เลื่อมยศ นินทา แลความทุกข์ ก็ไม่เที่ยง เมื่อเกิดมีได้ก็ดับไปได้ ถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว คนอื่นเขาจะว่าเราเลว เราก็ไม่ได้เลวตามที่เขาว่า ถ้าเราทำชั่ว แต่คนเขาชม เราก็ไม่ได้ดีไปตามที่เขาชม เราจะดีหรือชั่ว มันก็อยู่ที่ตัวเราเอง ทุกคนจะต้องปฏิบัติเองทำเอง บรรลุธรรมนั้นๆ เอง ถ้าเราเคยตายหรือจำความตายได้ เราจะทราบว่าตอนที่เราจะตายนี่ ทรัพย์สินลมสมบัติมากน้อยเท่าใด เพื่อนฝูงญาติโยมมากมาย คนที่รักมากที่สุดในโลก หรือที่ว่าตายแทนกันได้ เวลาจะตายจริงๆ จะเรียกหาคนมาช่วยไม่ได้เลย ถ้าเราทำชั่วหรือทำดี เราก็ต้องไปตาม ภพตามภูมิตามกรรมที่เราทำเอง ไม่มีใครมาขึ้นสวรรค์หรือลงนรกแทนเราได้เลย

ดูแต่ ทานที่รวยมากๆ ยศใหญ่ๆ ที่เราเห็นอยู่ทุกวัน เวลาท่านตายไป ร่างกายที่ผู้คนเคยกราบไหว้ แกร่งกล้า แม้นแต่บ้านที่สร้างสรรหามาด้วยความยากลำบากยังไม่ได้เข้าไปเลย เขาเอาไปไว้ว้ด แล้วก็เผาทิ้งไป คนที่เคยรักเคยหวงจะเป็นจะตาย เป็นของเราแต่ผู้เดียว ใครอย่าแตะ บางทีศพยังไม่เผาเลย คนอื่นมาเอาไปซะแล้ว ชีวิตคนเราก็แค่นี้ เกิดมาชาติหนึ่ง ก็ตั้งใจทำให้เกิดประโยชน์สุขแกตนเองและผู้อื่น ตอบแทนคุณ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณ ต่มที่ตนจะามารถทำได้ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น ความสามารถ วาสนา บารมี ของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน เราจะเอาอะไร ทำอะไรให้เหมือนคนอื่น ให้มันเลิศเลอ ถ้าทำไม่ได้มันเป็นทุกข์ มันเป็นตัญหา ความอยากได้ อยากดี อยากเด่น ไม่อยากจน ไม่อยากเสีย ไม่อยากแก่ ไม่อยากตาย อยากไห้ความสวยความงามคงอยู่ อยากให้สมบัติไม่สลายไป ความอยากแบบนี้มันฝืนความเป็นจริง ให้ทำใจยอมรับความจริงของโลก

อย่าคิดวา เราเก่ง เรายอด เราแน่ เราถูก ใครแตะต้องไม่ได้ ขัดใจไม่ได้ ใครที่เห็นต่างไปจากเรา ผิด และเลวไปหมด ให้ทำใจเป็นกลาง การปฏิบัติธรรมปฏิบัติงาน ต้องเดินสายกลาง จึงจะก่อให้เกิดความสงบได้ การเคร่งเกินไป พระพุทธองค์ทรงเคยปฏิบัติ แต่ทรงพบว่าไม่เป็นทางหลุดพ้น จึงทรงเดินสายกลาง การเคร่งเกินไป ทำให้จิตใจร้อนรุ่ม เป็นทุกข์แก่ตน

จงพิจารณาตนเอง กล่าวโทษตนเองก่อน อย่าไปเฝ้าจ้องมองแต่คนอื่น จ้องโทษคนอื่น เราจะไปบังคับจิตใจคนอื่นได้อยางไร ขนาดจิตใจเราเองยังควบคุมไม่ได้ ถ้าหวังดีกับเขา ก็แนะนำไปตามที่รู้ที่เข้าใจ เขาจะทำได้เพียงใด มันเรื่องของเขา ถ้าเราเป็นคนถูกแนะนำ เราก็ควรรับฟัง สิ่งใดที่เห็นว่าถูกว่าควรก็เอาไปทำดูไม่ใช่ค้านตะพืด ใครอย่าสอนข้าฯ หรือไม่ก็คอยนั่งดูแต่ว่าคนที่แนะนำเราทำได้แค่ไหน แตไม่ยอมดูตัวเอง ถ้าเป็นอย่างนี้ จิตมันไม่สงบ มันร้อน ที่ร้อนเพราะอะไร เพราะอิจฉาบ้าง เพราะกลัวจะน้อยหน้าเขาบ้าง เพราะความไม่พึงใจบ้าง มันทำให้เครียด ให้มึนงง ปัญญาไม่เกิด

การทำสมาธินั้นมีมากมายหลายวิธี สุดแต่อัธยาศัยของแต่ละบุคคล แต่มีสมาธิพื้นฐานที่องค์สมเด็จพระทศพล ทรงตรัสว่าเป็นฐานของสมาธิทั้งปวง เป็นสมาธิเริ่มต้น และเป็นกรรมฐานที่สามารถระงับเวทนาของร่างกายได้ ระงับความเจ็บปวดในร่างกายได้ ก็คือ การจับลมหายใจเข้าออก ท่านมีหลักในการเริ่มต้นปฏิบัติ ดังนี้

นั่งตั้งกายให้ตรง (ดูว่าตรงให้หายใจเข้าออกสะดวกที่สุด) ดำรงจิตให้มั่น (อย่าคิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ) กำหนดจิตจับไว้ที่ปลายจมูก เมื่อหายใจเข้าให้รู้อยู่ว่าหายใจเข้า เมื่อหายใจออก ให้รู้อยู่ว่าหายใจออก หายใจเข้าออกสั้นหรือยาวก็รู้อยู่ ทำดังนี้เรื่อยๆ เวลาว่าง หรือตอนนอนก็พิจารณาไป ทำไป ในที่สุดก็จะได้เอง สงบเอง

การทำสมาธิ ทำได้ทุกอริยาบท เมื่อคลองตัวมากขึ้นจะสามารถทำได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะกำลังทำงาน กำลังคุย กำลังหัวเราะ ปวดท้อง จะทำได้โดยไม่ติดในรูปแบบว่า ต้องนั่งอย่างนี้ ต้องนอนอยางนี้ แต่ถ้าต่อหน้าพระพุทธรูป ต่อหน้าครูอาจารย์ ให้การเคารพในสถานที่ ควรอยู่ในท่าที่เหมาะสม เราคิดดูซิว่า เวลาเราป่วย เราเลือกสถานที่ เลือกท่าได้หรือเปล่า เราก็เลือกไม่ได้

การอบสมนไพร

การอบสมุนไพร โดยใช้ความร้อนประมาณ 33-37 องศาเซลเชียล ในระยะเวลาประมาณ 15-30 นาที สามารถลดความเจ็บปวดและความตึงเครียดลงได้มาก ร่างกายจะได้รับการพักผ่อนทำให้นอนหลับได้ดี นอกจากนั้นในตัวยาสมุนไพร ยังมีสารและน้ำมันหอมระเหย ที่มีสรรพคุณรักษาโรคได้หลายประการ ทำให้ระบบทางเดินหายใจ ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ระบบขับเหงื่อสามารถขับของเสียออกได้มากขึ้น ทำให้ระบบไตได้รับการพักผ่อนบ้าง ระบบการหมุนเวียนเลือดและหัวใจ สามารถทำงานได้ดีขึ้น เป็นผลทำให้ระบบการทำงานของร่างกายทุกส่วน ได้รับการผ่อนคลาย และมีการซ่อมแซมรักษาส่วนที่สึกหรอได้อย่างรวดเร็ว ประโยชน์ของการอบสมุนไพรมีมากมาย

การอบสมุนไพร มีสถานที่เปิดบริการให้ความสะดวกอยู่ทั่วไป แต่บางท่านอาจชอบที่จะอบอยู่บ้าน ก็สามารถหาซื้อตู้อบที่ทำด้วยพลาสติก มีจำหน่ายหลายราคา ประมาณ 2-3 พันบาท บางแห่งก็แถมยาสมุนไพรมาด้วย ถ้าหากหาไม่ได้ ก็ ใช้วิธีทำกระโจมแบบโบราณ หาผ้าห่มผืนโตๆ มาผูกจุกแขวนไว้ให้ชายคลุมถึงพื้น หาที่นั่งพอเหมาะ เข้าไปนั่งได้พอดี ใช้กาต้มน้ำชนิดที่ใช้ไฟฟ้าจะสะดวกกว่า เติมน้ำค่อนกา เติมยา ปิดฝา หันพวยกา มาเข้ากลางกระโจม เปิดไฟ พอน้ำเดือดมีไอเต็มกระโจมแล้ว จึงเข้าไปนั่งอบ ระวังโดนน้ำร้อนลวกเอา ก็เข้าไปอบทั้งตัวเลย ก่อนเข้าอบอาบน้ำให้พอชุ่ม เพราะถ้าผิวแห้งเข้าอบ ผิวจะเสีย ใช้เวลา 15 นาที ออกมาพักสักครู่ แล้วเข้าอบใหม่ 15 นาที เสร็จแล้วพักผ่อน ราว 15-30 นาที อาบน้ำธรรมดา ล้างเหงื่อไคลให้เรียบร้อย

ล้าอบ ๆอยู่เกิดหน้ามืดขึ้นมา ก็รีบออกมาพัก ดื่มน้ำที่ไม่เย็นหรือน้ำส้มคั้นไม่เย็น สักแก้ว ถ้าอาการดีขึ้น จะอบใหม่ก็ได้ หรือเอาไว้อบวันหลังก็ได้

การอบอย่าอบถี่เกินไป ควรเว้นสัก 2-3 วัน ต่อไป สัปดาห์ละครั้งก็พอ การอบบ่อยๆ จะทำให้เสียแร่ธาตุมากเกินไป ท่านที่เจ้าเนื้อมากๆ อบแล้วหุ่นจะดีขึ้น ถ้ารู้จักควบคุมอาหารหลังการอบสมุนไพร

อาการปวดหลังปวดเอว เวียนศีรษะไม่ทราบสาเหตุ ระดูมาไม่สะดวก โรคผิวหนัง หายใจไม่สะดวก หายได้ แถมผิวพรรณยังเปลงปลั่งผ่องใสอีกด้วย ตัวยาที่ใช้

เหง้าขิง เหง้าไพร เหง้าข่า ตะไคร้หอม ใบหนาด ใบส้มป่อย ขมิ้นอ้อย ใบมะขามไทย ใบหมากผู้หมากเมีย

สิ่งละเท่าๆ กัน ราวๆ 1-2 กำมือ

พิมเสน การะบูน สิ่งละ 1 ช้อนโต๊ะ

ตัวยาเหล่านี้ มีสดก็ใช้สด ถ้าไม่มีสด จะหาซื้อจากร้านขายยาแผนโบราณ ชนิดแห้งก็ใช้ได้ จะบดเป็นผงหรือไม่บดก็ได้ รวมๆ กันใส่ในหม้อกา เติมน้ำให้พอเหมาะ ต้มเอาไออบ

ข้อห้ามในการอบสมุนไพร

ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ เป็นโรคความดันโลหิตสูง เป็นลมชัก โรคไต ตกเลีอด เสียน้ำมาก หรือออกกำลังกายมาก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่เป็นไข้สูง สตรีหลังการคลอดบุตรใหม่ๆ ห้ามอบสมุนไพร เพราะอาจเกิดอันตรายได้