สมุนไพรสายน้ำผึ้ง


ชื่ออื่น กิมงิ่งฮวย, หยิ่มตังติ้ง(แต้จิ๋ว) จินหยิงฮัว, เหยิ่นตงเถิง(จีนกลาง) Chinese Honeysuckle, Japanese Honeysuckle, Lonicera, Woodbine
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lonicera japonica Thunb.
(L. brachypoda DC.)
(L. chinensis Wats.)
(L. confusa Mig.)
(L. ffexuosa Thunb.)
(L. japonica var. chinensis Bak.)
วงศ์ Caprifoliaceae
ลักษณะต้น เป็นไม้เลื้อย ลำต้นกลม กิ่งอ่อนมีขนอ่อนปกคลุม ใบออก
ตรงกันข้าม ก้านใบยาว 4-10 ซม. ใบรูปไข่ยาว 2.5-6 ซม. กว้าง 1-3.5 ซม. ปลายแหลมสั้น ขอบใบเรียบ ใบปกคลุมด้วยขนอ่อน ช่อดอกเป็นคู่เกิดตรงซอกใบ กลีบดอกตัดกันเป็นท่อยาวประมาณ 5 ซม. ปลายกลีบแยกเป็นรูปปาก ปากบนแยกเป็น 4 แฉกตื้นๆ ปากล่างมี 1 แฉก ส่วนนอกจะปกคลุมด้วยขนอ่อน ดอกตูมและดอกที่เริ่มบานจะเป็นสีขาว หลังจากนั้น 2-3 วันจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง เกสรตัวผู้ 5 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน มักขึ้นตามป่าแถบภูเขา หรือปลูกเป็นไม้ประดับ
ส่วนที่ใช้ เถา ใบ และดอกตูม(ดอกตูมมีสรรพคุณดีกว่าดอกบาน)
สรรพคุณ
เถา แก้บิด ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด ตับอักเสบชนิดเอ ฝีฝักบัว แผลเปื่อย ปวดเมื่อยปวดข้อ ขับปัสสาวะ ลดไข้ แก้ไข้หวัด และโรค¬ติดเชื้อบางชนิด
ดอกตูม แก้ลำไส้อักเสบ ท้องเสีย
ตำรับยาและวิธีใช้
1. ไข้หวัด คอแห้ง และมีอาการปวดเมื่อยตามตัวและแขนขา ใช้เถา หรือใบ หรือดอกแห้ง 30 กรัม(สด 90 กรัม) ต้มน้ำกินบ่อยๆ
2. ใช้เถาแห้ง 10-30 กรัม(สด 20-60 กรัม) ต้มน้ำเคี่ยวให้ข้นกิน สำหรับบิดถ่ายเป็นเลือด
3. เมาเห็ด ใช้กิ่งและใบอ่อนจำนวนพอควรล้างให้สะอาด เคี้ยวให้ ละเอียดกิน
4. ลำไส้อักเสบ ท้องเสีย ใช้ดอกตูมแห้ง 10-30 กรัม ทำเป็นยาชง หรือต้มดื่มต่างน้ำชา
5. ฝีฝักบัว และแผลเปื่อย ใช้เถาหรือใบ หรือดอกแห้งจำนวนพอควร ดองเหล้ากิน
รายงานทางคลีนิค
1. ตับอักเสบชนิดเอ (infectious hepatitis type A) ใช้เถาสด 60 กรัม เติมน้ำ 1,000 มล. ต้มให้เหลือ 400 มล. แบ่งดื่มเช้าและเย็น เป็นเวลา 15 วัน ผลจากการรักษาผู้ป่วย 22 รายพบว่าการทำงานของตับ เป็นปกติ 12 ราย การทำงานของตับดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 6 ราย ไม่ดีขึ้น 4 ราย
2. บิดไม่มีตัวและลำไส้อักเสบ ทำการรักษา 2 แบบคือ
2.1 ใช้เถาสด 100 กรัม สับเป็นท่อนเล็กๆ ใส่ลงในหม้อดินเคลือบ เติมน้ำลงไป 200 มล. แช่ทิ้งไว้ 12 ชม. แล้วต้มด้วยไฟอ่อนๆ 3 ชม. เติมน้ำให้ได้ 100 มล. กรองเอาน้ำกินวันละ 1.6-2.4 มล.ต่อ กก.น้ำหนักตัว ให้เพิ่มหรือลดขนาดของยาตามอาการ โดยทั่วไปเริ่มต้นให้กิน 20 มล. ทุกๆ 4 ชม. เมื่ออาการดีขึ้น ให้กินครั้งละ 20 มล. ทุกๆ 6 ชม. หลังจาก อาการท้องร่วงหายไป ให้กินต่อไปอีก 2 วัน ในการรักษาผู้ป่วย 150 ราย (เป็นบิดไม่มีตัว 60 ราย ลำไส้อักเสบ 90 ราย) พบว่า 146 รายได้ผลดีมาก (4 รายตามผลไม่ได้) โดยเฉลี่ยอาการไข้และท้องร่วงลดลงภายในเวลา 2 วัน อาการปวดมวนและปวดท้องหายไปใน 2.5 และ 3 วัน ตามลำดับ อุจจาระเหลวหายไปภายใน 4.4 วัน ไม่พบอาการข้างเคียง
2.2 ใช้เถาสด 45 กรัม ต้มน้ำกินวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น ขณะเดียวกันก็ใช้เถาสด 15 กรัมต้มน้ำสวนทวารวันละครั้ง แบ่งการรักษา เป็นช่วงๆ ละ 7 วัน ผลการรักษาพบว่า
กลุ่มที่หนึ่ง ในผู้ป่วย 167 ราย เมื่อรักษาเพียงช่วงแรกแล้ว อาการหายไป 131 ราย(78.44%) ไม่ได้ผล 36 ราย โดยเฉลี่ยแล้วไข้ลดลงใน
2 วัน ถ่ายเป็นปกติ อุจจาระหายเหลว และไม่พบเชื้อบิดในอุจจาระภายในเวลา 5.6, 4.5 และ 4.9 วันตามลำดับ
กลุ่มที่สอง คนไข้เป็นบิดไม่มีตัว จำนวน 80 ราย รักษาหาย ในช่วงแรก 73.9% ไข้ลดลงภายใน 1.5 วัน ถ่ายเป็นปกติ อุจจาระหายเหลว และไม่พบเชื้อบิดในอุจจาระ ภายใน 5.5, 4.6 และ 3.7 วันตามลำดับ
ผลทางเภสัชวิทยา
สารลูทีโอลิน (luteolin) ที่ได้จากดอกมีฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ โดยทดลองกับลำไส้เล็กของกระต่ายนอกร่างกาย แต่มี ฤทธิ์อ่อนกว่าปาปาเวอรีน (papaverine) และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะอย่างอ่อนด้วย ลูทีโอลินที่ความเข้มข้น 1 : 2,000 ทำให้ความแรงในการบีบตัว และอัตราการเต้นของหัวใจกบ ซึ่งทดลองนอกร่างกายลดลงเล็กน้อย รวมทั้ง ทำให้ปริมาณของเลือดที่ฉีดออกมาแต่ละครั้งลดลง แต่ถ้าใช้ความเข้มข้น 1 : 5,000 ทำให้ความแรงในการบีบตัวและอัตราการเต้นของหัวใจหนูตะเภา ที่ทดลองนอกร่างกายเพิ่มขึ้น
เมื่อกรอกลูทีโอลิน ให้หนูขาวอายุ 25-28 วัน พบว่าต่อมน้ำนมฝ่อ ผลนี้อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อมใต้สมอง (pituitary gland) และต่อมหมวกไต (adrenal gland)
ลูทีโอลินที่ความเข้มข้น 1 : 350,000 สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Staphylococcus spp. และ Bacillus subtilis
สารเคมีที่พบ
ใบ มี lonicerin และ luteolin-7-rhamnoglucoside
ดอก มี luteolin-7-glucoside, inositol และ saponin
ผล มี cryptosanthin
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล