สมุนไพรหูปลาช่อน


ชื่ออื่น ผักแดง(เลย) ผักบั้ง(ลำปาง) หางปลาช่อน(ภาคกลาง)เฮียะแอ่อั้งเอี่ยโต่ยเช่า(แต้จิ๋ว) เยวียะเสี้ยหง ,หยางถีฉ่าว(จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Emilia sonchifoiia (L.) DC.
(Cacalia sonchifoiia L.)
วงศ์ Compositae
ลักษณะต้น เป็นไม้ล้มลุกอายุปีเดียว สูง 10-40 ซม. ลำต้นตรง บริเวณ ใกล้รากมักมีสีม่วงแดง ปกคลุมด้วยขนห่างๆ ใบยาว 5-10 ซม. ขอบใบ หยักแบบฟันเลื่อยห่างๆ ฐานใบรูปไข่ ห่อหุ้มลำต้น หลังใบสีเขียว ท้องใบมักมีสีม่วงแดง ช่อดอกเกิดตรงกลางต้น ก้านช่อดอกยาว 5-8 ซม. มักแตกเป็น 2 แขนง ดอกเล็กสีแดง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกติดกันเป็นรูปท่อ มีเกสรตัวผู้ 5 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน ผลเดี่ยวเปลือกแข็ง เมอแห้งไม่แตก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เป็นวัชพัช ขึ้นตามสวน ริมถนน หรือดงหญ้า
ส่วนที่ใช้ ทั้งต้น
สรรพคุณ


ลดไข้ แก้ทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ ตาแดง บิด ท้องร่วง อุจจาระเป็นเลือด ลดอาการบวมน้ำ แก้ผื่นคัน และฝีต่างๆ
ตำรับยาและวิธีใช้
1. ตานขโมยในเด็ก ใช้ราก 10 กรัม นึ่งกับเนื้อหมูแดงกิน
2. ทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ ใช้ต้นสด 30-90 กรัม(ต้นแห้ง 15-30 กรัม) ต้มน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง และใช้จำนวนเท่ากัน ต้มน้ำ อมกลั้วคอบ่อยๆ
3. ใช้ต้นสด 30-90 กรัม ต้มกับเนื้อหมูกิน สำหรับบิดและถ่าย อุจจาระเป็นเลือดเรื้อรัง
4. ฝีฝักบัว (บริเวณเตานมระยะเริ่มเป็น) และฝีชนิดต่างๆ ใช้ต้นสด 1 กำมือ ใส่น้ำตาลทรายแดงหรือเกลือจำนวนเล็กน้อยตำพอกบริเวณที่เป็น เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง
5. เริม ใช้ต้นสด ตำพอกบริเวณที่เป็น เปลี่ยนยาวันละครั้ง
6. ช่องคลอดอักเสบหรือคัน ใช้ทั้งต้นต้มน้ำสะอาดชะล้าง
ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ในหญิงท้อง
รายงานทางคลีนิค
โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน และปอดอักเสบในเด็ก ใช้ต้นแห้ง 1 กรัม ทำเป็นยาฉีด 1 มล. (ปริมาณที่ใช้ อายุต่ำกว่า 6 เดือน ใช้วันละ 1-2 มล., 6-12 เดือน ใช้วันละ 2-4 มล., 2-3 ปี ใช้วันละ 4-6 มล., 4-6 ปี ใช้วันละ 6-9 มล., 7-10 ปี ใช้วันละ 9-12 มล., 10 ปีขึ้นไป ใช้วันละ 12 มล.) ทั้งหมดแบ่งฉีดเข้ากล้ามวันละ 2-3 ครั้ง และใช้วิธีอื่นรักษาร่วมด้วย ผลการรักษาพบว่า ผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน 50 ราย หลังจากรักษาแล้ว 2-3 วัน ไข้และอาการไอค่อยๆ ลดลง และหายเป็นปกติภายใน 3-4 วัน สำหรับผู้ป่วยที่ปอดอักเสบ จำนวน 25 ราย ไข้ลดลงหลังจากรักษาแล้ว 3-4 วัน อาการไอ หอบ และเสียงกรึ๊บๆ ในปอดค่อยๆ หายไป และหายเป็นปกติใน 5-6 วัน
สารเคมีที่พบ
ทั้งต้น มีสารพวกอัลคาลอยด์(alkaloid) และฟีนอล(phenol
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล