สมุนไพรเทพธาโร

(True laurel)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum porrectum (Roxb.) Kosterm.
ชื่อวงศ์ LAURACEAE
ชื่ออื่น จวง จวงหอม (ภาคใต้) จะไค้ต้น จะไค้หอม (ภาคเหนือ)
ตะไคร้ต้น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เทพทาโร (ภาคกลาง, จันทบุรี, สุราษฎร์ธานี) พลูต้นขา (เชียงใหม่) มือแดกะมางิง (มาเลเซีย ปัตตานี)
ถิ่นกำเนิด มาเลเซีย แถบทะเลอันดามัน มัทราช และอ่าวเบงกอล
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางไม่ผลัดใบทรงพุ่มกลับทึบ สีเขียวเข้ม ลำต้นเรียบไม่มีพูพอน เปลือกต้นสีเทาอมเขียว หรืออมน้ำตาล ค่อนข้างเรียบ แตกเป็นร่องยาวตามลำต้น เมื่อถากเปลือกออกจะมีกลิ่นหอม กิ่งมีลักษณะอ่อนเรียว เกลี้ยงและมักมีคราบขาว


ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน รูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบเกลี้ยง ผิวใบด้านล่างมีคราบขาว ปลายใบแหลม โคนใบแหลมและกลม ยาวประมาณ 7-20 ซม. ก้านใบเรียวเล็ก 2.5-3.5 ซม.
ดอก สีขาวหรือเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง เป็นกระจุก ยาว 2.5-7.5 ซม. ก้านช่อดอกจะเรียวยาวและเล็กมาก
ผล มีขนาดเล็กและกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7 มม. ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีม่วงดำ ก้านผลเรียวยาวประมาณ 3-5 ซม.
นิเวศวิทยา ไม้กลางแจ้ง ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง พบตามป่าดิบบนเขาทั่วประเทศ พบมากในภาคใต้
การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการแกะสลักบางอย่าง ทำเตียงนอน ทำตู้และหีบใส่เสื้อผ้าที่กันมอดและแมลงอื่นๆ ได้ ทำเครื่องเรือนและไม้บุผนังที่สวยงาม ทำแจวพาย กรรเชียง กระเบื้องไม้ เป็นต้น
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เมล็ด จะให้น้ำมันใช้เป็นยาทาถูนวด แก้ปวด รูมาติซึม เปลือก เป็นยาบำรุงธาตุอย่างดี โดยเฉพาะสำหรับหญิงสาวรุ่น ต้มกินแก้เสียดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดพังงา
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย