สมุนไพร:โด่ไม่รู้ล้ม

หญ้าไก่นกคุ้ม หญ้าปราบ(ใต้) หญ้าสามสิบสองหาบ หนาดผา (เหนือ) คิงไฟนกคุ้ม (ชัยภูมิ) หนาดมีแคลน (สุราษฎร์ธานี) มุ้งกระต่าย (อีสาน) ตะชีโกวะ (กะเหรี่ยง-แม่ธ่องสอน) หญ้าไฟ นกคุ้มหนาดผา (กะเหรี่ยง) โข่วตี่ต้า (แต้จิ๋ว) ขู่ตี่ต่าน (จีนกลาง) Prickly Leaved. Elephant’s Foot

Elephantopus scaber Linn.

COMPOSITAE

ลักษณะ เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นแข็งตั้งตรงสูงประมาณ 2-3 ฟุตใบเดี่ยว เรียงตัวกันรอบโคนต้นและโคนก้านดอก คล้ายใบยาสูบ หนาสาก ปลายกว้างโคนสอบ แผ่เป็นกาบเล็กๆ หุ้มลำต้น ริมใบจักกว้าง ๆ ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกอัดกันแน่นอยู่ที่ปลายก้านดอก กลีบดอก รูปท่อ สีขาวอมม่วง ก้านดอกยกสูง แข็ง ผลทรงกลมเป็นสัน ทั้งต้นมีขนสากๆ สีขาว

นิเวศวิทยา เกิดอยูทั่วไปตามที่รกร้างว่างเปลา ป่า ทุ่งนา ริมทาง พบมากทางภาคเหนือและอีสาน

การขยายพันธุ์ โดยการแยกเหง้า หรือเพาะเมล็ดขึ้นได้ดีในดินปนทราย ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่แห้งแล้งได้ดี

ส่วนที่ใช้ทำยา ใบ,ราก,ทั้งต้น

สรรพคุณ

ใบ รสกร่อยขื่น รักษาบาดแผล แก้โรคผิวหนังใช้ใบสด 2 กำมือ เคี่ยวกับนํ้ามันมะพร้าว ทาแผล แก้โรคผิวหนังผื่นคัน

รากและใบ รสกร่อยขื่น ต้มเอานํ้าดื่ม ขับปัสสาวะ แก้ท้องร่วง แก้โรคแผลในกระเพาะอาหาร แก้บิด แก้กามโรคในสตรี ต้มอาบหลังคลอด

ราก รสกรอยขื่น แก้ปวดฟัน แก้อาเจียน ต้มเอาน้ำอม แก้ปวดฟัน ต้มดื่มแก้อาเจียน

ทั้งต้น รสกรอยขื่น แก้ปัสสาวะพิการ บำรุงความกำหนัด แก้วัณโรค แก้ไอ แก้ไข แก้อักเสบ ขับน้ำเหลืองเสีย แก้ดีซ่าน ขับนิ่ว แก้บิด แก้เหน็บชา บำรุงหัวใจ มีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะ แก้กามโรคในสตรี

1. แก้เลือดกำเดา ใช้ต้นสด 30-60 กรัม (ถ้าแห้ง หนัก 10-15 กรัม) ต้มกับเนื้อหมูพอประมาณ รับประทานติดต่อกัน 4-5 วัน

2. แก้ดีซ่าน ใช้ต้นสด 120-240 กรัม ต้มกับเนื้อหมูรับประทาน ติดต่อกัน 45 วัน

3. แก้ท้องมาน ใช้ต้นสด 60 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม เช้า-เย็น หรือตุ่นกับเนื้อหมูรับประทาน

4. แก้ขัดเบา ใช้ต้นสด ๑๕-๓๐ กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม

5. แก้นิ่วใช้ต้นสด 90 กรัม เนื้อหมู 120 กรัม เติมน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ต้มเคี่ยว กรองเอาแต่น้ำแบ่งไว้ดื่ม 4 ครั้ง

6. แก้ต่อมทอลซิลอักเสบ แก้เจ็บคอ ใช้ต้นแห้ง 6 กรัม แช่ในน้ำร้อน 300 ซีซี. นานครึ่งชั่วโมง รินเอาน้ำดื่มหรือจะบดเป็นผงปั้นเม็ดไว้รับประทานก็ได้

7. แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ใช้ต้นสด 30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม

8. แก้ฝีบวมหรือฝีเป็นหนอง ใช้ต้นสดตำผสมเกลือเล็กน้อยละลายปน้ำส้มสายชูพอข้นพอก

9. แก้ฝีฝักบัว ใช้ต้นสด 25 กรัม ใส่น้ำ 1 ขวดและเหล้า 1 ขวด ต้มดื่ม และใช้ต้นสด ต้มกับน้ำ เอาน้ำล้างหัวฝีที่แตก

รายงานทางคลีนิค

1. ได้มีการทดลองใช้รักษาการอักเสบจากการติดเชื้อ โดยใช้สารสกัดเข้มข้น 3 กรัม/มล. เตรียมเป็นยาฉีด ฉีดเข้ากล้ามครั้งละ 2 มล.วันละ 2-3 ครั้งในคนไข้ 112 ราย ที่มีการอักเสบ จากการติดเชื้อชนิดต่างๆ เช่น ปอดอักเสบหลอดลมอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ลำไส้อักเสบ ฯลฯ พบว่าได้ผลดี 68 ราย ดีขึ้นชั่วคราว 38 ราย ไมได้ผล 6 ราย

2. ได้มีการทดลอง ใช้รักษาแผลเปื่อยในปาก โดยใช้ต้นแห้ง 30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มวันละครั้ง คนไข้ 22 รายหายจากอาการ 18 รายเฉลี่ยแล้วเวลาที่อาการดีขึ้นคือ 3วัน ติดตามผล เป็นเวลา 3 เดือน พบว่าผู้ป่วยที่หายทุกคนไมมีอาการป่วยอีก ผลข้างเคียงจากการใช้ยา บางรายมีอาการรู้สึกไม่สบายในท้องผลทางเภสัชวิทยาส่วนสกัดจากต้นด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus และ Escherichia coli

ความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดจากต้น ปริมาณ 30 กรัม/กก.น.น.ตัว และ 7.5 กรัม/กก. น.น. ตัว เข้าช่องท้องหนูถีบจักรยาน และกระต่ายตามลำดับ ไม่พบพิษ และไม่ทำให้สัตว์ทดลองตาย นอกจากนี้เมื่อทดลองกับกล้ามเนื้อลายและเม็ดเลือดแดงของกระต่าย พบว่าไม่มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อลายไม่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก

สารสำคัญ ทั้งต้น มี epifrledelinol, lupeol, stigmasterol, triacon-l-ol, dotriacontarvl-ol, potassiumchloride, lupeolacetate, deoxyelephantopin และ isodeoxyelephantopin