สมุนไพรใช้รักษาอาการแพ้อักเสบแมลงกัดต่อย

ตำลึง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Coccinia grandis Voigt

ชื่ออื่น ๆ แคเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน) ผักแคบ (เหนือ)

ชื่ออังกฤษ Ivy gourd

วงศ์ Cucurbitaceae

ลักษณะต้น ไม้ล้มลุกเลื้อย มีมือจับ ใบรูปไข่หยักเว้าลึก มี 3-5 หยัก โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก 1-3 ดอก สีขาวมีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบติดกัน ผลเป็นแบบ berry เมื่อแก่จะมีสีแดง

ส่วนที่ใช้ ใบสด

สารสำคัญ มีเอนไซด์พวก amylase

สรรพคุณ ใช้แก้อาการแพ้ อักเสบ เนื่องจากถูกแมลงกัดหรือต่อย หรือบรรเทาอาการปวด เนื่องจากถูกขนของต้นตะลังตังช้าง, หมามุ่ย ตำแย

วิธีใช้ ใบสด ตำ และนำมาพอกบริเวณที่เป็น หมั่นเปลี่ยนบ่อย ๆ

การขยายพันธุ์และการปลูก

ใช้เมล็ด ปักชำ เถาตำลึงชอบขึ้นในที่มีอินทรีย์วัตถุสูง มีความชื้นสูง เจริญได้งอกงามดีในที่ที่มีแดดรำไร ปลูกและขึ้นง่าย เมื่อต้นโตสักระยะหนึ่งควรทำหลักหรือค้างให้เลื้อยพัน

ผักบุ้งทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea pescaparae Sweet.

ชื่ออื่น ๆ ละบูเลาห์ (นราธิวาส)

ชื่ออังกฤษ Goat’s foot Creeper

วงศ์  Convolvulaceae

ลักษณะต้น ไม้ล้มลุก เลื้อยทอดไปตามดิน ใบรูปค่อนข้างเป็นรูปไข่ ปลายใบเว้าลึก เนื้อใบหนาอวบน้ำ ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกสีชมพูอมม่วง ออกที่ซอกใบ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกติดกัน 5 กลีบ คล้ายดอกผักบุ้ง ผลกลมหรือรูปไข่ เมล็ดมีขน

ส่วนที่ใช้ ใบและเถาสด

สารสำคัญ iso-adenostylone cacalol, cacalone,

5-ß-hydroxy-6∞-methylcacalone, curcumene, ergostamine

สรรพคุณ แก้พิษแมงกะพรุน

วิธีใช้ นำใบและเถามาตำพอกบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน เปลี่ยนทุก 4 ชั่วโมง การขยายพันธุ์และการปลูก

ใช้เมล็ดหรือปักชำลำต้น ชอบขึ้นอยู่แถวริมชายทะเล ที่เป็นดินร่วนปนทราย มีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี