สมุนไพรในครัวเรือนกับโรคในบ้าน

กาสะลอง

บริษัท ส่งเสริมสุขภาพแผนไทย จำกัด

ปัจจุบันนี้โรคภัยไข้เจ็บล้วนเกิดได้ง่ายดายมาก เจ็บป่วยนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ล้วนแต่ต้องไปหาหมอพึ่งพาหมอ คุณหมดก็จะจ่ายแต่ยามาให้ทาน ซึ่งเราเองต้องเสียเงินในการรักษาพยาบาลต่อปีไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว ถ้าเราจะเปลี่ยนระบบคิดจากการต้องไปหาหมอทุกครั้งที่เจ็บป่วยหรือไปซื้อยาตามร้านหมอตี๋มาทานเองมาเป็นการใช้สมุนไพรแทน โดยเฉพาะสมุนไพรที่เราใช้เป็นประจำอยู่แล้วในครัว เพื่อการปรุงอาหารนั้นน่าจะเป็นวิธีการที่สร้างทางเลือกให้คุณกว่าเดิมหรือไม่ น่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของคุณหรือไม่ สมุนไพรเหล่านี้สามารถรักษาและบรรเทาอาการเจ็บป่วยนั้นได้ การใช้สมุนไพรในครัวนอกจากจะช่วยประหวัดค่ารักษาพยาบาลในบ้านแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้สมาชิกในบ้านรู้จักประโยชน์ของพืชสมุนไพรใกล้ตัวอีกด้วย ในคอลัมน์นี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงสมุนไพรที่ช่วยรักษาอาการป่วยโดยทั่วไป

ตะไคร้ : ไล่ลม-แก้จุกเสียด

เริ่มต้นด้วยพระเอก เครื่องต้มยำ ตะไคร้ เป็นพืชล้มลุก หากคุณรู้สึกว่าปวดท้อง เนื่องจากท้องอืด ทานอาหารแล้วไม่ย่อย แน่นจุก เสียดท้อง ลองนำตะไคร้ ต้นสด ๆ ในครัวหรือ สวนหลังบ้านมาประมาณสัก 2 ต้น (ประมาณ 40-60 กรัม) มาล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นท่อน ๆ ทุบตะไคร้พอบุบ ๆ แล้วนำไปต้มกับน้ำเปล่าประมาณ 1 ลิตร กรองเอากากออกด้วยผ้าขาวบางอาจเหยาะน้ำตาลหน่อยใส่น้ำแข็งอีกเล็กน้อย หรือดื่มแบบร้อน ๆ ก็ได้ ใช้ดื่มวันละ 3 ครั้ง หลังอาหารหรือเมื่อมีอาการจะช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เนื่องจากในตะไคร้ มีน้ำมันที่มีฤทธิ์ขับลมลดการบีบตัวของลำไส้

นอกจากนี้น้ำตะไคร้ยังช่วยลดอาการขัดเบา (แต่ไม่มีอาการบวม) วิธีการเตรียมทำน้ำตะไคร้ก็ทำเช่นเดียวกับวิธีแรกหรือใช้เหง้าแก่หั่นเป็นแว่นบาง ๆ คั่วไฟอ่อน ๆ พอเหลือง ครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะชงกับน้ำร้อนดื่มครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟ ดื่มก่อนอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น และการดื่มน้ำตะไคร้เป็นประจำจะช่วยขับเหงื่อและบำรุงธาตุอีกด้วย

กะเพรา : แก้จุกเสียดและรักษากลากเกลื้อน

จากพระเอกของเครื่องต้มยำก็มาที่นางเอกของเรื่องกะเพราะไก่ไข่ดาว กะเพรา เป็นพืชล้มลุกมีกลิ่นฉุน มีรสเผ็ดร้อน มีคุณสมบัติในการช่วยขับลม แก้ปวดท้อง ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยผายลมทำให้เรอ เนื่องจากในกะเพรามีน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ช่วยขับลม วิธีใช้ให้เก็บใบกะเพราสดประมาณสัก 20 กรัม มาล้างน้ำใหสะอาดนำไปต้มกับน้ำเปล่า 1 ถ้วย ดื่มหลังอาหารวันละ 3 ครั้ง ถ้าใช้ใบกะเพรา รักษาโรคกลากเกลื้อนให้นำใบสดสัก 1 กำมือมาโขลกให้ละเอียด แล้วนำไปใช้ทาผิวหนังบริเวณที่เป็นปัญหา นอกจากนี้กะเพรายังช่วยรักษาอาการคลื่นไส้ โดยใช้ใบและยอดสดประมาณ 30 กรัม หรือใบแห้งประมาณ 5 กรัม ต้มกับน้ำประมาณครึ่งลิตรให้เดือดนาน 15 นาที รินเอาน้ำประมาณ 1 ถ้วยกาแฟดื่มเมื่อมีอาการ

ข่า : แก้จุกเสียดรักษากลากเกลื้อนและขับน้ำคาวปลา

มาถึงบทบาทของเครื่องเทศสดที่เป็นตัวชูโรงของต้มข่าไก่เลยทีเดียว นั่นก็คือ ข่า ข่าเป็นพืชล้มลุกจำพวกเหง้าเนื้อในมีสีเหลืองอ่อน ๆ มีกลิ่นหอมเฉพาะ มีรสเผ็ดร้อน ปร่า ใช้เหง้าสดหนัก 30 กรัม หรือแบบแห้ง 25 กรัม ต้มกับน้ำประมาณ ¾ ลิตร ให้เดือดนาน 15 นาที รินเอาแต่น้ำประมาณ 1 ถ้วยกาแฟ ดื่มหลังอาหารทุกมื้อหรือเมื่อมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ถ้าจะใช้ข่ารักษากลากเกลื้อน ก็ให้ใช้เหง้าแก่ล้างให้สะอาด ฝานเป็นแว่นบาง ๆ ให้ได้น้ำหนัก 50 กรัม แช่กับเหล้าขาวพอท่วมข่า ทิ้งไว้ 1 คืน ก่อนจะใช้ทาให้ใช้ไม้ไผ่ขูดบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนนั้นก่อน พอแดง ๆ จึงนำน้ำยาที่แช่ไว้มาทาเช้า-เย็น จนกว่าจะหาย นอกจากนี้คุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ ให้ใช้ข่าตำผสมกับมะขามเปียกและเกลือรับประทานทุกวันจะช่วยขับน้ำคาวปลาได้ไวขึ้น

ขิง : แก้เมารถเมาเรือและแก้ไอ

จากต้มข่าไก่ที่มีข่าเป็นตัวชูโรง แล้วผัดขิงหมูก็ไม่น้อยหน้ามีขิงเป็นเครื่องเทศสดช่วยชูรสชาติของความเผ็ดแบบไทย ๆ ขิงเป็นพืชล้มลุกมีรสหวานและเผ็ดร้อน ใช้เหง้าขิงแก่เป็นยารักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากเมารถเมาเรือ โดยใช้เหง้าแก่สดขนาดเท่า หัวแม่มือ (ประมาณ 5 กรัม) ล้างให้สะอาดทุบพอแตกต้มเอาน้ำดื่มขนาด 1 ถ้วยกาแฟ ดื่มหลังอาหารทั้ง 3 มื้อ

นอกจากนี้ ขิง ยังช่วยรักษาอาการไอ ขับเสมหะ  โดยใช้เหง้าสดประมาณ 30-60 กรัม โขลกให้ละเอียดคั้นเอาใส่เกลือเล็กน้อยใช้กวาดคอหรือจิบบ่อย ๆ ข้อความระวังในการใช้น้ำขิงคือหากว่าน้ำขิงมีปริมาณเข้มข้นเกินไปจะออกฤทธิ์ตรงกันข้าม จึงควรใช้ในปริมาณที่ไม่เข้มข้นเกินไป

มะขาม : รักษาไข้หวัดและอาการเจ็บคอ

กล่าวถึง มะขามรสเปรี้ยวที่คู่ครัวคนไทยมาช้านาน มะขามเป็นไม้ยืนต้น มีรสเปรี้ยวจัด (ยกเว้นมะขามหวาน) ใช้รักษาอาการไอระคายคอจากเสมหะ  โดยใช้เนื้อในของมะขามแก่ หรือมะขามเปียก(รสเปรี้ยว) จิ้มเกลือรับประทาน หรืออาจจะทำเป็นน้ำมะขามเหยาะเกลือสักนิดจิบบ่อย ๆ ก็ได้ ในเนื้อมะขามที่แก่จัด มีกรด TARTRIC ACID และ CITRIC ACID มีฤทธิ์ระบายความร้อนในร่างกาย รสเปรี้ยวของมะขาม ช่วยกัดเสมหะให้ละลายได้ หากบ้านไหนสมาชิกในครอบครัวทำท่าจะไม่สบายเจ็บคอและระคายเคืองก็สามารถใช้มะขามสดหรือมะขามเปียก แทนวิตามินซีได้

ตำลึง : รักษาแมลงสัตว์กัดต่อย

แกงจืดตำลึง ความอร่อยที่มาพร้อมกลิ่นหอมของตำลึงในน้ำแกง ตำลึงเป็นเถาไม้เลื้อยมีอายุหลายปี มีรสเย็นสามารถใช้เป็นยารักษาอาการแก้แพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ยุงกัด ถูกตัวบุ้ง ใบตำแย โดยใช้ใบตำลึงสด 1 กำมือ (ใช้มากน้อยตามบริเวณที่มีอาการ) ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำเล็กน้อย แล้วคั้นเอาน้ำจากใบมาทาบริเวณที่มีอาการพอแห้งก็ให้ทาซ้ำ ๆ จนกว่าจะหายข้อควรระวังในการใช้ตำลึงเป็นยารักษาอาการแก้แพ้ คือขณะที่คั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่เป็นแผล ควรระวังน้ำใบตำลึงเปรอะเปื้อนเสื้อผ้า เพราะสีจะติดอยู่นาน

ขมิ้น : ลดอาการคันและอักเสบ รักษาแผลพุพอง

มาถึงสมุนไพรในครัวตัวปิดท้ายในคอลัมน์นี้ ขมิ้น เป็นพืชจำพวกเหง้า มีรสฝาด สามารถรักษาฝีแผลพุพอง โดยนำเอาเหง้าขมิ้นยาวประมาณ 2 นิ้วฝนกับน้ำต้มสุกทาบริเวณแผลหรืออาจใช้ผงขมิ้นทาบริเวณที่มีอาการผื่นคันจากแมลงสัตว์กัดต่อยใช้วันละ 3 ครั้ง ในขมิ้นจะมีสาร สำคัญที่ช่วย ทำลายแบคทีเรียหรือใช้ขมิ้นแห้งบดเป็นผงละเอียดผสมน้ำให้ได้น้ำ ขมิ้นบาง ๆ ใช้ลูบไล้เนื้อตัวหรือบริเวณที่เกิดผดผื่นคัน จะสามารถช่วยลดอาการคันได้ดีทีเดียว

จากสมุนไพรข้างต้นที่ได้กล่าวถึงประโยชน์นั้น คงเห็นได้ว่าสมุนไพรเหล่านี้สามารถปลูกไว้ในบ้าน สวนหลังบ้าน หรือข้างบ้านได้ ใช้เนื้อที่ในการปลูกไม่มาก แต่ประโยชน์ในการใช้สอยเยอะแยะมากมายนัก ใช้เป็นอาหารก็ได้ใช้เป็นสมุนไพร รักษาโรคก็ดี พอทราบถึงประโยชน์ของสมุนไพรกันอย่างนี้แล้ว คงมีหลายท่านที่อ่านจบแล้วไปจับจอบจับเสียม เพื่อที่จะปลูกพืชสมุนไพรกัน ก็เข้าท่าไม่น้อย